ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กระดูกพรุนค่ะ

คนที่เป็นโรคกระดูกพรุนไม่ควรดื่มกาแฟจริงมั้ยคะ เพราะบางคนบอกว่าควร บางคนบอกว่าไม่จำเป็น อยากรู้จริงๆค่ะ

[รหัสคำถาม : 451] วันที่รับคำถาม : 07 ม.ค. 66 - 16:21:42 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

องค์การอนามัยโลกให้ความหมายโรคกระดูกพรุนว่า เป็นโรคกระดูกที่เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยมีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยลงร่วมกับการเสื่อมของโครงสร้างระดับจุลภาพของกระดูก ส่งผลให้กระดูกมีความเปราะบางและหักง่าย[1] จากแนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน แนะนำยาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เช่น ยา Alendronate, Risedronate, Zoledronic acid และ Denosumab เป็นต้น[2-5]
.
จากแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคกระดูกพรุน พ.ศ.2553 ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย แนะนำแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น ปรับวิถีชีวิตให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกาย การออกกำลังกายและเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อปรับปรุงการเคลื่อนไหว, ความแข็งแรง, ท่าทาง, และการทรงตัว การได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเสริมอย่างเหมาะสม งดบริโภคกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการหกล้ม[6]
.
สำหรับผลของกาแฟต่อการดูดซึมของยานั้น พบว่า การบริโภคกาแฟในปริมาณมากอาจสัมพันธ์กับการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกในผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รับประทานแคลเซียมในปริมาณต่ำ นอกจากนั้น การบริโภคกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอาจลดการดูดซึมยา Alendronate ซึ่งเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนได้[7]
.
มีการศึกษาแบบย้อนหลังเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนในหญิงที่มีภาวะกระดูกพรุนซึ่งอยู่ในวัยหมดประจำเดือน จำนวน 177 ราย พบความชุกของปัจจัยเสี่ยงเรียงจากมากไปหาน้อย คือ การบริโภคกาแฟ (มากกว่า 2 แก้วต่อวัน) ร้อยละ 25.99, การสูบบุหรี่ ร้อยละ 19.21, มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน ร้อยละ 17.51, มีประจำเดือนครั้งแรกช้า ร้อยละ 15.25, ค่าดัชนีมวลกายต่ำ ร้อยละ 10.71, ไม่เคยมีบุตร ร้อยละ 7.91 และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.56 [8]
.
จากการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูกในอาสาสมัครสุขภาพดี เพศชายอายุ 20-79 ปี จำนวน 592 ราย โดยเปรียบเทียบระหว่าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) จำนวน 52 ราย, กลุ่มผู้ที่มีภาวะกระดูกบาง (osteopenia) จำนวน 313 ราย, และกลุ่มผู้ที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกปกติ จำนวน 227 ราย พบว่า ผู้สูงอายุ, การมีค่าดัชนีมวลกายต่ำ และการบริโภคกาแฟปริมาณสูง (มากกว่า 3 แก้วต่อวัน) มีความสัมพันธ์กับภาวะกระดูกพรุน[9]
.
อีกหนึ่งการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูกและโรคกระดูกพรุน (เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การออกกำลังกาย) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จำนวน 100 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนเทียบกับกลุ่มควบคุม (ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้เป็นโรคกระดูกพรุน) จำนวน 100 ราย พบว่า มีเพียงการสูบบุหรี่เท่านั้นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ไม่พบความสัมพันธ์ของภาวะกระดูกพรุนกับการบริโภคกาแฟ [10]
.
โดยสรุป จากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคกระดูกพรุนกับการดื่มกาแฟ ยังมีความขัดแย้งกันดังกล่าวข้างต้น จึงไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ของโรคกระดูกพรุนหรือการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูกกับการบริโภคกาแฟอย่างชัดเจนได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคกระดูกพรุน พ.ศ.2553 ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย มีการแนะนำแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น งดบริโภคกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน[6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. WHO Scientific Group on the Prevention and Management of Osteoporosis (‎2000 : Geneva, Switzerland)‎. (‎2003)‎. Prevention and management of osteoporosis : report of a WHO scientific group. World Health Organization. https://apps.who.int/iris/handle/10665/42841.
[2]. Elam REW. Osteoporosis. In: Medscape Online Database [database on the Internet]. Medscape, Inc.; Jan. 21, 2021. [cited 20 Nov. 2021]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/330598.
[3]. Qaseem A, Forciea MA, McLean RM, Denberg TD, for the Clinical Guidelines Committee of the American College of Physicians. Treatment of Low Bone Density or Osteoporosis to Prevent Fractures in Men and Women: A Clinical Practice Guideline Update from the American College of Physicians. Ann. Intern Med. 9 May. 2017.
[4]. Camacho PM, Petak SM, Binkley N, Diab DL, Eldeiry LS, Farooki A, et al. American Association of Clinical Endocrinologists/American College of Endocrinology Clinical Pratice Guidelines for The Diagnosis and Treatment of Postmenopausal Osteoporosis-2020 Update. Endocr. Pract. 2020 May. 26 (Suppl 1):1-46.
[5]. Cosman F, de Beur SJ, LeBoff MS, Lewiecki EM, Tanner B, Randall S, et al. Clinician's Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Osteoporos Int. 2014 Oct. 25 (10):2359-81.
[6]. ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคกระดูกพรุน พ.ศ.2553: ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน. เข้าถึงได้จาก แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคกระดูกพรุน พ.ศ.2553.
[7]. Bordeaux B, Lieberman HR. Benefit and risks of caffeine and caffeinated beverages. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; Jun. 22, 2022. (Accessed on Nov. 19, 2021.)
[8]. Bijelic R, Milicevic S, Balaban J. Risk Factors for Osteoporosis in Postmenopausal Women. Med. Arch. 2017 Feb;71(1):25-28. doi: 10.5455/medarh.2017.71.25-28. Epub 2017 Feb. 5. PMID: 28428669; PMCID: PMC5364787.
[9]. El Maghraoui A, Ghazi M, Gassim S, Ghozlani I, Mounach A, Rezqi A, Dehhaoui M. Risk factors of osteoporosis in healthy Moroccan men. BMC Musculoskelet Disord. 2010 Jul. 5;11:148. doi: 10.1186/1471-2474-11-148. PMID: 20602777; PMCID: PMC2909164.
[10]. TöRöK-Oance R. A Study of Risk Factors and T- Score Variability in Romanian Women with Postmenopausal Osteoporosis. Iran J. Public Health. 2013 Dec.;42(12):1387-97. PMID: 26060640; PMCID: PMC4441935.

วันที่ตอบ : 09 ม.ค. 66 - 10:29:57




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110