ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สอบถามยาอมเชื้อรา

เนื่องจากญาติเป็นเชื้อราในปาก จากการใช้ยาพ่น หมอให้ยาอมฆ่าเชื้อราเม็ดสีขาวมาอมวันละ 5 ครั้ง แต่ยาขมมากๆ ซึ่งทำให้คนไข้ไม่ทาน พอจะมียาตัวอื่นแทนหรือไม่ มาแทนยาตัวนี้ หรือวิธีอื่นๆ หรือจะอมแค่วันละครั้งสองครั้งได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 452] วันที่รับคำถาม : 10 ม.ค. 66 - 10:32:31 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การติดเชื้อราในช่องปาก เกิดจากหลายสาเหตุ รวมทั้งการใช้ยาพ่นที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เนื่องจากการที่มียาตกค้างในปากและลำคอ ข้อควรปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว คือ การกลั้วปากและคอด้วยน้ำเปล่าทุกครั้งหลังพ่นยาเสร็จ ซึ่งสามารถช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดเชื้อราในช่องปากได้ [1]
...

จากแนวทางการรักษาเชื้อราในช่องปากของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา [2] ยาที่ใช้รักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนี้
1) อาการที่มีระดับความรุนแรงน้อย พิจารณารักษาด้วยยาเฉพาะที่ เช่น
- ยาอมโคลไตรมาโซล (clotrimazole troches) 10 มิลลิกรัม อมครั้งละ 1 เม็ด 5 ครั้งต่อวัน
- ยาไมโคนาโซล 50 มิลลิกรัม รูปแบบเม็ดติดเยื่อบุช่องปาก (miconazole mucoadhesive buccal tablets) อมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง
- ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน (nystatin suspension) (400,000 - 600,000 ยูนิต) อมกลั้วปากแล้วกลืน วันละ 4 ครั้ง
2) หากมีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง หรือผู้ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ยาเฉพาะที่ พิจารณารักษาโดยใช้ยารับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (fluconazole) 200 มิลลิกรัม รับประทานในวันแรก หลังจากนั้นรับประทานวันละ 100-200 มิลลิกรัม
...

เนื่องจากยาอมโคลไตรมาโซล (clotrimazole troches) มีความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ในน้ำลายได้ 3 ชั่วโมงหลังจากละลาย จึงแนะนำให้ใช้วันละ 5 ครั้ง [3] จากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ (ฐานข้อมูล PubMed) ไม่พบการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาอม clotrimazole โดยใช้วันละ 5 ครั้ง เปรียบเทียบกับการใช้วันละ 2 ครั้ง รวมทั้งจากแนวทางการรักษาเชื้อราในช่องปาก ไม่ได้แนะนำให้ใช้ยาอมโคลไตรมาโซลวันละ 2 ครั้ง [2]
...

สำหรับประสิทธิภาพของยาอมโคลไตรมาโซลในการรักษาเชื้อราในช่องปากนั้น มีการศึกษาเปรียบเทียบกับยาที่ใช้เฉพาะที่อื่น ๆ หรือเปรียบเทียบกับยารับประทาน เช่น
1) การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาอมโคลไตรมาโซล โดยอมวันละ 5 ครั้ง กับยาต้านเชื้อราชนิดอื่น ๆ ดังนี้ ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่อื่นๆ (ได้แก่ ยาไมโคนาโซล, ไนสแตติน) และยารับประทาน (ได้แก่ ฟลูโคนาโซล) ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างทั้งผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือในผู้ป่วยอื่น ๆ ที่มีอาการเชื้อราในช่องปาก พบว่า ยารับประทานยาฟลูโคนาโซลทำให้มีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นและการกำจัดเชื้อราดีกว่ายาอมโคลไตรมาโซลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อเปรียบเทียบยาอมโคลไตรมาโซลกับยาต้านเชื้อราเฉพาะที่อื่นๆ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านอาการทางคลินิกที่ดีขึ้น และการกำจัดเชื้อรา [4]
2) การศึกษาในผู้ป่วย HIV เปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาเม็ดฟลูโคนาโซล (fluconazole tablet) หรือ รูปแบบแคปซูล (capsule) หรือรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน (oral suspension) กับยาต้านเชื้อราชนิดอื่นๆ ดังนี้ ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่ (ได้แก่ ยาอมโคลไตรมาโซล โดยอมวันละ 5 ครั้ง, ยาไมโคนาโซล รูปแบบเม็ดติดเยื่อบุช่องปาก, ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินใช้อมกลั้วปากแล้วกลืน, และยาเจนเชียนไวโอเลตแบบทา (gentian violet) และยารับประทานชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ยาน้ำแขวนตะกอนโพซาโคนาโซล (posaconazole oral suspension), ยาน้ำไอทราโคนาโซล (itraconazole solution) หรือ รูปแบบแคปซูล (capsule) และ ยาเม็ดคีโตโคนาโซล (ketoconazole tablet) พบว่า ในด้านการทำให้อาการทางคลินิกดีขึ้น ยาฟลูโคนาโซลมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับยาอมโคลไตรมาโซล, ยาไมโคนาโซลรูปแบบเม็ดติดเยื่อบุช่องปาก, ยาน้ำแขวนตะกอนโพซาโคนาโซล, ยาไอทราโคนาโซล รูปแบบยาน้ำหรือแคปซูล และยาเม็ดคีโตโคนาโซล แต่ยาฟลูโคนาโซลทำให้อาการทางคลินิกดีขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน และยาทาเจนเชียนไวโอเลตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนในด้านการกำจัดเชื้อรา พบว่า ยาฟลูโคนาโซลมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับยาไมโคนาโซลรูปแบบเม็ดติดเยื่อบุช่องปาก, ยาน้ำแขวนตะกอนโพซาโคนาโซล, ไอทราโคนาโซลรูปแบบยาน้ำหรือแคปซูล และยาเม็ดคีโตโคนาโซล แต่ยาฟลูโคนาโซลมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อราได้ดีกว่ายาอมโคลไตรมาและยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [5]
...

โดยสรุป ยาสำหรับรักษาเชื้อราในช่องปากมีหลายชนิดและมีทั้งรูปแบบใช้เฉพาะที่และยารับประทาน การเลือกใช้ยาต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของโรค โรคประจำตัว ยาอื่นทีใช้ร่วมด้วย การปรับเปลี่ยนยาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. Hess D, Dhand R. The use of inhaler devices in adults. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. [cited 2022 Nov. 20].
[2]. Pappas PG, Kauffman CA, Andes D, et al. Clinical practice guidelines for the management of candidiasis: 2016 update by the Infections Diseases Society of America. Clin. Infect. Dis. 2016; 62:e1.
[3]. Clotrimazole (oral). In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 12 Mar. 2022; cited 18 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[4]. Almangour TA, Kaye KS, Alessa M, et al. Efficacy of clotrimazole for the management of oral candidiasis: A meta-analysis of randomized clinical trials. Saudi Pharm J. 2021 Apr.;29(4):315-323.
[5]. Rajadurai SG, Maharajan MK, Veettil SK, et al. Comparative Efficacy of Antifungal Agents Used in the Treatment of Oropharyngeal Candidiasis among HIV-Infected Adults: A Systematic Review and Network Meta-Analysis. J. Fungi (Basel). 2021 Aug. 5;7(8):637.

วันที่ตอบ : 17 ม.ค. 66 - 11:41:40




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110