ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
1. ประสิทธิภาพของ Collagen hydrolysate ในการลดอาการปวดข้อเข่าเสื่อม

สอบถามเรื่องอาหารเสริม Kal-G (collagen hydrolysate) ผมอ่านในเน็ต เขาบอกว่าอาหารเสริมยี่ห้อนี้สามารถช่วยลดอาการปวดข้อเข่าเสื่อมได้ พอดีผมมีอาการปวดข้อเข่าเสื่อมครับ ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว อยากทราบว่า อาหารเสริมนี้สามารถช่วยได้จริงๆ หรือไม่ครับ ในเรื่องของการรักษาโรคปวดข้อเข่าเสื่อม อยากทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้หน่อยครับ เนื่องจากเวลาหาเองในเน็ตก็จะเจอแต่โฆษณาจากร้านขายอาหารเสริมทางเน็ตซึ่งไม่รู้ว่าเชื่อได้ไหมครับ

[รหัสคำถาม : 454] วันที่รับคำถาม : 18 ม.ค. 66 - 01:01:03 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

คอลลาเจน (collagen) เป็นโปรตีนสำคัญที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่สร้างจากกรดอะมิโนไกลซีน โพรลีนและไฮดรอกซีโพรลีน[1] คอลลาเจนมีทั้งหมด 28 ชนิดแตกต่างกันตามชนิดและรูปแบบของกรดอะมิโน คอลลาเจนชนิดที่พบบ่อยที่สุดในอาหารเสริมเป็นคอลลาเจนชนิดที่ 1 (collagen type I) คอลลาเจนชนิดที่ 2 (collagen type II) และคอลลาเจนชนิดที่ 3 (collagen type III) โดยคอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อกระดูก กระดูกอ่อน และข้อต่อ พบได้ในกระดูกอ่อนประมาณร้อยละ 60[2] ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนชนิดที่ 2 ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดมักพบ 2 รูปแบบ ได้แก่ คอลลาเจนที่ยังไม่ถูกแปรสภาพ (undenatured collagen type II) เป็นคอลลาเจนที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับคอลลาเจนในกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า มีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่ และคอลลาเจนที่ถูกแปรสภาพ (denatured collagen type II หรือ hydrolyzed collagen type II) เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเดินอาหารได้ง่าย ได้แก่ collagen hydrolysate และ collagen peptide[1]

Hydrolyzed collagen พบได้มากที่สุดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบริเวณผิวหนังและกระดูก นอกจากนี้ยังพบได้จากปลา แมงกะพรุน หรือฟองน้ำ และเกล็ดปลานิล เป็นต้น[1] การศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองระบุว่ามีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างเสริมคอลลาเจนในเนื้อเยื่อใหม่[3] รวมทั้งกระตุ้นการสร้างสาร glycosaminoglycans และ hyaluronic acid ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่พบมากในกระดูกอ่อนบริเวณส่วนปลายของกระดูกโดยเฉพาะบริเวณข้อต่อ[3,4] รายงานการคึกษาประสิทธิภาพทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trials) ของ collagen hydrolysate พบผลการศึกษาที่ขัดแย้งกัน ตัวอย่างเช่น รายงานการศึกษาประสิทธิภาพเทียบกับยาหลอกในอาสาสมัครคนผิวขาวที่มีอาการปวดข้อบริเวณไหล่ ข้อศอก มือ กระดูกสันหลังส่วนเอว สะโพกและเข่า โดยให้รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มี collagen hydrolysate ปริมาณ 1.2 กรัม วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 6 เดือน พบว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดข้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[5] แต่จากรายงานการคึกษาประสิทธิภาพทางคลินิกเทียบกับยาหลอก (ไม่มี collagen hydrolysate) ในอาสาสมัครที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมและได้รับ collagen peptide หรือ collagen hydrolysate ที่สกัดจากหนังหมูและกระดูกวัว ในขนาดรับประทานครั้งละ 5 กรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 13 สัปดาห์ พบว่า มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดและอาการฝืดตึง เข่าติดเคลื่อนไหวลำบาก รวมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาหลอกไม่พบการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด ไม่มีรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงในปริมาณคอลลาเจนที่ใช้ตลอดระยะเวลาการศึกษา[6]

ประสิทธิภาพของ hydrolyzed collagen ในการรักษาอาการปวดข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ คุณภาพของ hydrolyzed collagen ซึ่งขึ้นกับกรรมวิธีการผลิตรวมถึงชนิดหรือเนื้อเยื่อที่ใช้สกัด การดูดซึมและการสะสมของคอลลาเจนบริเวณกระดูกอ่อนรวมทั้งการทำลายและการขับออกจากร่างกายของแต่ละบุคคล[3] การมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจนในร่างก่าย เช่น การสูบบุหรี่ พิษสุราเรื้อรัง การขาดสารอาหาร การได้รับสารอนุมูลอิสระ เป็นต้น[1] การมีระดับของโปรตีนและวิตามินซีในร่างกายอย่างเพียงพอ[7] และความคงตัวของคอลลาเจนในผลิตภัณฑ์[1] ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Kal-G มีส่วนประกอบสำคัญเป็น collagen hydrolysate ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วจะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนและถูกดูดซึมที่ลำไส้ ระบุข้อบ่งใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวดข้อในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม การที่จะตอบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่าเสื่อมได้จริงหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกของผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีการศึกษาแบบสุ่มและเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษากับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับประทานผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ หรือปลาควรหลีกเลี่ยงแหล่งสกัดที่แพ้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์คอลลาเจนจัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไม่ได้จดทะเบียนเป็นยาสำหรับรักษาโรค จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองการตรวจสอบคุณภาพจากองค์การอาหารและยาและคอยติดตามข้อมูลการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์

เอกสารอ้างอิง
[1]. León-López A, et al. Hydrolyzed Collagen-Sources and Applications. Molecules. 2019 Nov. 7;24(22):4031. doi: 10.3390/molecules24224031.
[2]. Mescher AL. Connective Tissue. [internet]. 2018;[37 หน้า]. Accessed January,3, 2023. Available at:
https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2430§ionid=190277032.
[3]. Daneault A, et al. Biological effect of hydrolyzed collagen on bone metabolism. Crit. Rev. Food Sci. Nutr. 2017 Jun. 13;57(9):1922-1937. doi: 10.1080/10408398.2015.1038377.
[4]. Bello AE, Oesser S. Collagen hydrolysate for the treatment of osteoarthritis and other joint disorders: a review of the literature. Curr. Med. Res. Opin. 2006 Nov.;22(11):2221-32. doi: 10.1185/030079906X148373.
[5]. Bruyère O, et al. Effect of collagen hydrolysate in articular pain: a 6-month randomized, double-blind, placebo controlled study. Complement. Ther. Med. 2012 Jun.;20(3):124-30. doi: 10.1016/j.ctim.2011.12.007.
[6]. Kumar S, et al. A double-blind, placebo-controlled, randomised, clinical study on the effectiveness of collagen peptide on osteoarthritis. J. Sci. Food Agric. 2015 Mar. 15;95(4):702-7. doi: 10.1002/jsfa.6752.
[7]. Lis DM, Baar K. Effects of Different Vitamin C-Enriched Collagen Derivatives on Collagen Synthesis. Int. J. Sport Nutr. Exerc. Metab. 2019 Sep. 1;29(5):526-531. doi: 10.1123/ijsnem.2018-0385.

วันที่ตอบ : 18 ม.ค. 66 - 16:05:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110