ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
norfloxacin รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบได้หรือไม่ อย่างไร

เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบค่ะ เภสัชกรแนะนำให้ให้ทาน norfloxacin หลังอาหารค่ะ ทานมาได้ 3 วันแล้ว แต่เหมือนยังมีอาการแสบ ๆ ด้านในท่อปัสสาวะและเหมือนมีน้ำปัสสาวะค้างในกระเพาะค่ะ ตอนนี้ยายังเหลือทานอีก 2 วัน ถ้าทานจนหมดแล้วยังไม่ดีขึ้นต้องทานต่อหรือเปลี่ยนเป็นตัวอื่นคะ

[รหัสคำถาม : 455] วันที่รับคำถาม : 18 ม.ค. 66 - 15:56:31 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis) เป็นการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เชื้อที่เป็นสาเหตุหลัก คือ เชื้อแบคทีเรียแกรมลบชนิดแท่ง (bacilli) โดยเฉพาะเชื้อ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งพบได้มากถึง 85% รองลงมา คือ เชื้อแกรมบวก Staphylococcus saprophyticus (S. saprophyticus) 5-15% และเชื้ออื่น ๆ อีก 5-10%
การติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่พบได้บ่อยในชุมชนเป็นชนิดไม่ซับซ้อน (uncomplicated cystitis) จะมีอาการผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะเนื่องจากการระคายเคืองของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปวดเบ่ง ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะแต่จะไม่มีอาการไข้
การติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะอักเสบซับซ้อน (complicated cystitis) มักจะมีอาการดังนี้ มีไข้ ปวดหลัง ปวดสีข้างร่วมด้วย
สำหรับประเทศไทยกลุ่มยาปฏิชีวนะที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบที่พบได้บ่อยในชุมชน คือ ยากลุ่ม fluoroquinolones[1,2] ประกอบด้วย norfloxacin ofloxacin และ ciprofloxacin โดยยาทั้ง 3 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันดังนี้
• Norfloxacin ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบเป็นหลัก ยามีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 40% ยาถูกขับออกในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงทางปัสสาวะ 26-32% และทางอุจจาระ 30%[3]
• Ciprofloxacin ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมทั้งแกรมลบรวมถึง Pseudomonas aeruginosa (P. aeruginosa) และแกรมบวก ยามีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี 70% และสามารถกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้สูง ยาส่วนใหญ่ถูกขับออกในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงทางปัสสาวะ 35-70% และทางอุจจาระ 15-35%[3]
• Ofloxacin ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมทั้งแกรมลบและแกรมบวก ยามีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี 98% และสามารถกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้สูง ยาส่วนใหญ่ถูกขับออกทางปัสสาวะในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลง 65-80%[3]
โดยคำแนะนำจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ของไทยกรณีที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ซ้ำซ้อนแนะนำให้ใช้ norfloxacin 400 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน[2] หากอาการไม่ดีขึ้นจะต้องส่งตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะและให้ยาเดิมต่อระหว่างที่รอผลเพาะเชื้อ หลังจากทราบผลเพาะเชื้อแล้วให้ยาตามผลเพาะเชื้อจนครบ 7 วัน จากนั้นนัดมาติดตามอาการและตรวจปัสสาวะซ้ำ กรณีที่ได้รับยาต้านจุลชีพอื่นมาก่อนในช่วง 1 เดือนและมีการกลับเป็นซ้ำของโรค แนะนำให้ใช้ ofloxacin 200 mg วันละ 2 ครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน เนื่องจาก ofloxacin มีการดูดซึมที่ดีกว่าและมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมลบและแกรมบวก[4] หรือ ciprofloxacin 250 mg วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน อย่างไรก็ตามมักสงวนยา ciprofloxacin สำหรับการรักษาเบื้องต้นกรณีที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบซับซ้อน เนื่องจากยา ciprofloxacin มีประสิทธิภาพต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบสูงกว่า norfloxacin และ ofloxacin และเชื้อก่อโรคในทางเดินปัสสาวะมักเกิดการดื้อต่อยากลุ่ม quinolones โดยเฉพาะยา ciprofloxacin[1,5,6,7]
ดังนั้นหากรับประทานยา norfloxacin จนหมดแล้วแต่ยังคงมีอาการอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในท่อทางเดินปัสสาวะและใช้ยาต้านแบคทีเรียตามผลเพาะเชื้อหรือเปลี่ยนใช้ยาอื่นในกลุ่ม quinolones ที่เหมาะสมในช่วงระหว่างที่รอผลเพาะเชื้อ

เอกสารอ้างอิง
[1]. คณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แนวทางการวินิจฉัยและรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) ในหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, 24 เมษายน 2555.
[2]. แนวทางการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ 2554.
[3]. Norfloxacin, ofloxacin and ciprofloxacin. Lexi-Drugs. Lexicomp. Wollers Kluwer Health, Inc. Riverwoods, IL. Available at: http://online.lexi.com. Accessed Jan. 5, 2023.
[4]. Sharma PC, Jain A, Jain S. Fluoroquinolone antibacterials: a review on chemistry, microbiology and therapeutic prospects. Acta. Pol. Pharm. 2009 Nov.-Dec.;66(6):587-604. PMID: 20050522.
[5]. Naber KG. Which fluoroquinolones are suitable for the treatment of urinary tract infections? Int. J. Antimicrob Agents. 2001 Apr.;17(4):331-41. doi: 10.1016/s0924-8579(00)00362-9. PMID: 11295418.
[6]. Lee MG, Lee SH, Chang SS, Lee SH, Lee M, Fang CC, Chen SC, Lee CC. Comparative effectiveness of different oral antibiotics regimens for treatment of urinary tract infection in outpatients: an analysis of national representative claims database. Medicine (Baltimore). 2014 Dec;93(28):e304. doi: 10.1097/MD.0000000000000304. Erratum in: Medicine (Baltimore). 2015 Jan.;94(2):1. PMID: 25526477; PMCID: PMC4603088.
[7]. Gupta K, Hooton TM, Naber KG, Wullt B, Colgan R, Miller LG, Moran GJ, Nicolle LE, Raz R, Schaeffer AJ, Soper DE; Infectious Diseases Society of America; European Society for Microbiology and Infectious Diseases. International clinical practice guidelines for the treatment of acute uncomplicated cystitis and pyelonephritis in women: A 2010 update by the Infectious Diseases Society of America and the European Society for Microbiology and Infectious Diseases. Clin. Infect. Dis. 2011 Mar. 1;52(5):e103-20. doi: 10.1093/cid/ciq257. PMID: 21292654.

วันที่ตอบ : 20 ม.ค. 66 - 11:38:17




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110