ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หากมีประวัติแพ้ยา Norfloxacin สามารถใช้ยาใดแทนสำหรับรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ผู้ป่วยมาด้วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบแพทย์ต้องการสั่งยาฆ่าเชื้อ แต่มีประวัติแพ้ยา Norfloxacin สามารถใช้ยาตัวใดแทนได้บ้างคะ

[รหัสคำถาม : 456] วันที่รับคำถาม : 18 ม.ค. 66 - 16:01:07 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis) เป็นการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เชื้อที่เป็นสาเหตุหลัก คือ เชื้อแบคทีเรียแกรมลบชนิดแท่ง (bacilli) โดยเฉพาะเชื้อ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งพบได้มากถึง 85% รองลงมาคือ เชื้อแกรมบวก Staphylococcus Saprophyticus (S. saprophyticus) 5-15% และเชื้ออื่น ๆ อีก 5-10%
สำหรับประเทศไทยกลุ่มยาปฏิชีวนะที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษา คือ กลุ่ม fluoroquinolones[1] ประกอบด้วย norfloxacin ofloxacin และ ciprofloxacin พิจารณาเลือกใช้ยาตามความรุนแรงและการกลับเป็นซ้ำของโรค (ดูรายละเอียดในคำถามที่ 455) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่ม fluoroquinolones ไม่สามารถใช้ยาอื่นในกลุ่มนี้ได้เพราะสามารถเกิดการแพ้ยาข้ามกันได้[2] สามารถใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นแทนได้ เช่น กลุ่ม beta-lactams ได้แก่ amoxicillin-clavulanate, cefdinir, cefaclor และ cefpodoxime-proxeti เป็นต้น กลุ่ม nitrofurantoin monohydrate/macroparticle, fosfomycin trometamol และ pivmecillinam[1,3]
การรักษาสำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดไม่ซับซ้อนที่ไม่สามารถใช้ยา fluoroquinolones ได้[3,4,5]
1. Amoxicillin-clavulanate ขนาดรับประทาน 500 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 5-7 วัน มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 79-98% โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ผื่นแบบ anaphylaxis ท้องเสีย ติดเชื้อ superinfection และชัก
2. กลุ่ม cephalosporins มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 79-98% และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ผื่นแบบ anaphylaxis ท้องเสีย ติดเชื้อ superinfection และชัก โดยมีขนาดยาที่แนะนำของยาแต่ละชนิดในกลุ่ม ดังนี้
2.1 Cefdinir ขนาดรับประทาน 300 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 5-7 วัน
2.2 Cefaclor ขนาดรับประทาน 250 mg ทุก 8 ชั่วโมง นาน 5-7 วัน
2.3 Cefpodoxime-proxetil ขนาดรับประทาน 200 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 10-14 วัน
3. Nitrofurantoin monohydrate/macroparticle ขนาดรับประทาน 100 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 5-7 วัน มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 84-95% ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบประสาท ทางเดินอาหาร และปอด
4. Fosfomycin trometamol ขนาดรับประทาน 3 g ผสมกับน้ำ 120 ml รับประทานครั้งเดียว มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 91% ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ท้องเสีย ปวดศีรษะ และ angioedema และควรระวังในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง
5. Pivmecillinam ขนาดรับประทาน 400 mg วันละ 2-3 ครั้ง นาน 3-7 วัน มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 55-82% ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

เอกสารอ้างอิง
[1]. คณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แนวทางการวินิจฉัยและรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) ในหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, 24 เมษายน 2555.
[2]. McGee EU, Samuel E, Boronea B, Dillard N, Milby MN, Lewis SJ. Quinolone Allergy. Pharmacy (Basel). 2019 Jul. 19;7(3):97. doi: 10.3390/pharmacy7030097. PMID: 31330937; PMCID: PMC6789783.
[3]. Gupta K, Hooton TM, Naber KG, Wullt B, Colgan R, Miller LG, Moran GJ, Nicolle LE, Raz R, Schaeffer AJ, Soper DE; Infectious Diseases Society of America; European Society for Microbiology and Infectious Diseases. International clinical practice guidelines for the treatment of acute uncomplicated cystitis and pyelonephritis in women: A 2010 update by the Infectious Diseases Society of America and the European Society for Microbiology and Infectious Diseases. Clin. Infect. Dis. 2011 Mar 1;52(5):e103-20. doi: 10.1093/cid/ciq257. PMID: 21292654.
[4]. Hooton TM. Clinical practice. Uncomplicated urinary tract infection. The New England Journal of Medicine. 2012;366(11):1028-37.
[5]. Coyle EA and Prince RA. Chapter 116: urinary tract infections and prostatitis: In Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, editors. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, 10th edition. New York, NY: McGraw-Hill; 2017.

วันที่ตอบ : 20 ม.ค. 66 - 11:39:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110