ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กินแอลกลูต้าทำให้ขาว มีอันตรายหรือไม่

กินแอลกลูต้าทำให้ขาว มีอันตรายหรือไม่ มีผลข้างเอียหรือไม่ รบกวนตอบด้วยค่ะ

[รหัสคำถาม : 457] วันที่รับคำถาม : 18 ม.ค. 66 - 19:50:18 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กลูตาไธโอน (glutathione) เป็นสารโปรตีนที่เซลล์ในร่างกายสามารถสร้างได้เองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ ตับ ปอด ไต ม้าม ตับอ่อน และเลนส์แก้วตา มีสองรูปแบบคือ reduced glutathione (GSH) และ oxidized glutathione (GSSH) โดย reduced glutathione (GSH) มีบทบาทสำคัญในการต่อต้าน สารอนุมูลอิสระกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและการกำจัดสารพิษในร่างกาย[1,2] นอกจากนี้พบว่า สารกลูตาไธโอน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย มีผลต่อการสร้างเม็ดสีผิว (melanin) ของผิวหนังซึ่งถูกผลิตขึ้นจาก กรดอะมิโน tyrosine ได้ โดยสารกลูตาไธโอนออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ในระหว่างกระบวนการสร้าง melanin (melanogenesis) ทำให้ลดการสังเคราะห์เม็ดสีผิวสีน้ำตาลหรือสีดำ eumelanin และเปลี่ยน eumelanin เป็นเม็ดสีผิวสีแดงหรือสีเหลือง pheomelanin ในปริมาณที่มากขึ้นและเก็บไว้ใน melanosome ในเซลล์ใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อมีการผลัดเซลล์ผิวประมาณ 28-39 วัน ผิวใหม่จะขึ้นมาแทนที่ผิวเดิมและทำให้ผิวหนังมีสีผิวที่สว่างขึ้นได้[3,4]

จากรายงานการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systemic review) ต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สารกลูตาไธโอนชนิดรับประทาน ในการลดการสร้างเม็ดสีของผิวหนังทำให้ผิวขาวขึ้น พบการศึกษาทางคลินิกในรูปแบบการศึกษามาตรฐานที่มีการสุ่มตัวอย่างและมีกลุ่มควบคุมเพียง 3 การศึกษา และยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า สารกลูตาไธโอน มีประสิทธิผลเฉพาะต่อกระบวนการสร้างเม็ดสีใหม่บริเวณที่ถูกแสงแดดเท่านั้นโดยไม่มีบทบาทต่อเม็ดสีที่มีการสร้างเดิมอยู่เดิมแล้วหรือไม่ รวมทั้งมีประสิทธิผลเฉพาะในบางช่วงอายุหรือไม่ [4] ขนาดที่มีการแนะนำให้รับประทาน คือ 500 – 2,000 มก./วัน [4,5] โดยแบ่งให้ 2 ครั้งต่อวัน ระยะเวลาที่ทำให้ผิวขาวขึ้นกับสีผิวเดิม อาจเห็นผลภายใน 4 สัปดาห์ 1-3 เดือน 3-6 เดือน 6-12 เดือน หรือ >2 ปี ในผู้ที่มีผิวสีน้ำตาลปานกลาง น้ำตาลเข้ม ผิวสีคล้ำมาก และผิวสีดำ ตามลำดับ และหลังจากได้สีผิวที่ต้องการ แล้วมีคำแนะนำให้รับประทานสารกลูตาไธโอน ต่อในขนาด 500 มก./วัน [4] โดยระยะเวลายาวนานสุดที่มีการติดตามผลคือ 6 เดือน [6] อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน อาการทางผิวหนัง ได้แก่ อาการคัน และผื่นแดง นอกจากนี้มีรายงานการเกิดอาการจุกและเหนื่อยล้า รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแพ้หรือภูมิไวเกินได้ [5,7] เนื่องจากสารกลูตาไธโอนโดยธรรมชาติมีโมเลกุลขนาดใหญ่จึงมีข้อจำกัดในการถูกดูดซึมจากท่อทางเดินอาหารรวมทั้งถูกย่อยสลายได้ง่ายในท่อทางเดินอาหาร ดังนั้นจึงมีการสกัดและสังเคราะห์สารตั้งต้นของกลูตาไธโอนให้มีการละลายน้ำได้มากขึ้นและถูกดูดซึมได้ง่ายกว่า เช่น แอล-กลูตาไธโอน (L-glutathione) ซึ่งเป็น reduced glutathione หรือการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มการดูดซึมสารกลูตาไธโอน เช่น ในรูปแบบ liposomal glutathione หรือในรูปกรดอะมิโนย่อยของสารกลูตาไธโอน ทั้งนี้เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งอาจมีการเพิ่มส่วนผสมอื่นๆที่อาจจะส่งเสริมให้ร่างกายสามารถผลิตสารกลูตาไธโอนได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วยวิธีการศึกษาแบบสุ่มและเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

มีรายงานประสิทธิภาพของการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนผสมของสารกลูตาไธโอนในการทำให้มีสีผิวขาวขึ้น โดยการศึกษาของ Watanabe และคณะ ในปี 2014 พบว่า การทาโลชั่นสารกลูตาไธโอนในรูปแบบ GSSG (oxidized glutathione) ความเข้มข้น 2% w/w วันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 10 สัปดาห์ สามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวในบริเวณที่โดนแดดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p<0.001) ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ โดยสามารถสังเกตผลได้หลังจากทาโลชั่น 1 สัปดาห์ และไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรา [8] ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับการศึกษาของ Kristiana และคณะ ในปี 2019 ที่ทำการศึกษาประสิทธิภาพของโลชั่น สารกลูตาไธโอนในรูปแบบ GSH (reduced glutathione) โดยวิธีการศึกษาแบบสุ่ม (randomization) ปกปิดลำดับสุ่มทั้งผู้วิจัยและอาสาสมัคร ในสตรี 81 คน อายุ 33.3±5.9 ปี ที่สีผิวสองสีและสีผิวสีน้ำตาล (Fitzpatrick skin phototype IV, V) แบ่งกลุ่มศึกษาเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับโลชั่น GSH 0.1% โลชั่น GSH 0.5% และโลชั้นที่ไม่มี GSH โดยทาวันละ 2 ครั้ง ในเวลากลางวันคู่กับสารกันแดดและก่อนนอน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ในผู้ที่มีผิวสองสีที่ทาโลชั่นที่มี GSH มีสีผิวสว่างขึ้นโดยมีค่า ΔL* (lightness) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทาโลชั่นที่ไม่มี GSH แต่ไม่มีความแตกต่างของ ระดับความสว่างของสีผิวระหว่างโลชั่นที่มี GSH ทั้งสองความเข้มข้น ในผู้ที่มีผิวสีน้ำตาล พบว่า กลุ่มที่ทาโลชั่น GSH 0.5% มีผิวสว่างขึ้นมากที่สุดและแตกต่างจากกลุ่มศึกษาอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผลที่ไม่พึงประสงค์ที่มีรายงาน คือ ความรู้สึกแสบผิวเล็กน้อย และมีการกำเริบของสิวเพิ่มขึ้นในผู้ที่เป็นสิว อยู่แล้ว [9] อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีเพียง 2 รายงานข้อมูลการศึกษาเท่านั้น ควรมีการติดตามข้อมูลรายงาน การศึกษาในด้านปริมาณที่เหมาะสมของสารกลูตาไธโอนในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสารกลูตาไธโอนมีโมเลกุล ค่อนข้างใหญ่ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการซึมผ่านชั้นผิวหนัง ดังนั้นรูปแบบของสารกลูตาไธโอนและนวัตกรรม ที่ใช้ในการเพิ่มการซึมผ่านชั้นผิว หนังของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งข้อมูลการเกิดผลข้างเคียงเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกันในการพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ glutathione โดยการฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ เนื่องจากพบว่า มีประสิทธิภาพต่ำในการทำให้สีผิวจางลงเนื่องจากสารกลูต้าไธโอนไม่คงตัว สลายตัวได้ง่ายและรวดเร็ว ในกระแสเลือด และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ได้แก่ มีความดันโลหิตต่ำ เกิดหอบหืดเฉียบพลัน มีการทำงานของตับผิดปกติผิวหนังแดง ผิวหนังมีสีอ่อนลง (hypopigmented patches) โดยเฉพาะบริเวณที่ โดนแดดหลังฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 10–12 ครั้ง และมีเม็ดสีที่จอตาลดลงทำให้รับแสงได้น้อยลง รวมทั้งอาจก่อให้ เกิดภาวะแพ้สาร glutathione เอง สารประกอบอื่นๆในตำรับ หรือสารที่ปนเปื้อน อย่างรวดเร็วและรุนแรงจน ทำให้เกิดอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และถึงแก่ชีวิตได้ [3,10]

ข้อที่ควรตระหนักถึงในการใช้ผลิตภัณฑ์สารกลูตาไธโอน คือ สารกลูตาไธโอนไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางพันธุกรรมของเซลล์สร้างเม็ดสีได้ ดังนั้นผลที่ทำให้สีผิวที่ขาวขึ้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดการใช้สารกลูตาไธโอน เซลล์สร้างเม็ดสีก็จะกลับไปสร้างเม็ดสี eumelanin กระจายตัวอยู่ในผิวหนังมากหรือน้อยตามลักษณะทางพันธุกรรมตามปกติเหมือนเดิม และที่สำคัญคือ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์สารกลูตาไธโอนยังไม่การผ่านการรับรองข้อบ่งใช้สำหรับทำให้มีผิวขาวจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา [2]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Danyelle M, et al. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003; 57(3-4):145-55. doi:10.1016/s0753-3322(03)00043-x.
[2]. Glutathione. In: Lexi-drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 25 Jul. 2022; cited 10 Jan. 2021].
[3]. Sitohang IBS, Ninditya S. Systemic glutathione as a skin-whitening agent in adult. Dermatol Res Pract. 2020; 2020:1-6. doi:10.1155/2020/8547960.
[4]. Dilokthornsakul W, Dhippayom T, Dilokthornsakul P. The clinical effect of glutathione on skin color and other related skin conditions: A systematic review. J. Cosmet Dermatol. 2019;18(3):728-37. doi:10.1111/jocd.12910.
[5]. Sonthalia S, Daulatabad D, Sarkar R. Glutathione as a skin whitening agent: Facts, myths, evidence and controversies. Indian J. Dermatol Venereol Leprol. 2016;82(3):262-72. doi:10.4103/0378-6323.179088.
[6]. Kristiana E, et al. The efficacy of skin care products containing glutathione in delivering skin lightening in Indonesian women. Dermatology Reports. 2019;11(1s):8013. doi:10.4081/dr.2019.8013.
[7]. Richie JP, et al. Randomized controlled trial of oral glutathione supplementation on body stores of glutathione. Eur. J. Nutr. 2015;54(2):251-63. doi:10.1007/s00394-014-0706-z.
[8]. Watanabe F, et al. Skin-whitening and skin-condition-improving effects of topical oxidized glutathione: a double-blind and placebo-controlled clinical trial in healthy women Clin Cosmet Investig Dermatol. 2014 Oct. 17;7:267-74. doi:10.2147/CCID.S68424.
[9]. Kristiana E, et al. The efficacy of skin care products containing glutathione in delivering skin lightening in Indonesian women. Dermatol. Rep. 2019;11(1s):8013. doi:10.4081/dr.2019.8013.
[10]. Shazia ZSH, Ghulam M. Efficacy of intravenous glutathione vs. placebo for skin tone lightening. J. Pak. Assoc. Dermatol. 2016;26:177-81.

วันที่ตอบ : 24 ม.ค. 66 - 10:42:38




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110