ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กลูต้าไธโอน ใช้ติดต่อกันได้นานที่สุดกี่เดือน

กลูต้าไธโอนแบบรับประทาน ใช้ติดต่อกันได้นานที่สุดกี่เดือน และมีผลข้างเคียงอย่างไรถ้าใช้ไปนานๆ

[รหัสคำถาม : 459] วันที่รับคำถาม : 18 ม.ค. 66 - 21:02:43 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

glutathione เป็นโปรตีนชนิด thiol-tripeptide ที่มีขนาดเล็ก ละลายน้ำได้ มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ ถูกสังเคราะห์จากกรดอะมิโน 3 ชนิด คือ cysteine glycine และ glutamate สามารถผลิตโดยเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะที่ ตับ ปอด ไต ม้าม ตับอ่อน และเลนส์แก้วตา glutathione ในรูปแบบ reduced glutathione (GSH) มีบทบาทสำคัญในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันและกำจัดสารพิษในร่างกาย[1] ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดในปริมาณสาร glutathione ที่ร่างกายควรได้รับต่อวันเนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของแต่ละบุคคลที่มีผลต่อความสามารถในการสังเคราะห์สาร glutathione ในร่างกาย ได้แก่ อายุที่มากขึ้น สภาพร่างกาย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีการใช้พลังงานในแต่ละวัน ปริมาณการได้รับจากแหล่งอาหาร และการบริโภคยาหรือสารเคมีที่มีผลลดการสร้างสาร glutathione[2,3]

ภายหลังการรับประทาน สาร glutathione จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้จากท่อทางเดินอาหารบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น โดยระดับยาในเลือดจะสัมพันธ์กับปริมาณสาร glutathione ที่รับประทาน[4] และระยะเวลายาวนานของการรับประทาน จากข้อมูลการศึกษาที่มีในปัจจุบัน ขนาดยาสูงสุดและระยะเวลานานสุดที่มีการติดตามผล คือ ขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน 6 เดือน ตรวจพบระดับ glutathione ที่เพิ่มขึ้นในพลาสมา เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว หลังจากรับประทาน glutathione 1 เดือน เมื่อหยุดรับประทาน ระดับสาร glutathione จะกลับสู่ระดับปกติภายใน 1 เดือน อาการข้างเคียงที่พบบ่อย คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน อาการทางผิวหนัง ได้แก่ อาการคัน และผื่นแดง นอกจากนี้มีรายงานการเกิดอาการจุกและเหนื่อยล้า รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแพ้หรือภูมิไวเกินได้[4,5] และหากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการ ตาพร่ามัว มึนงง และปวดหัวได้[6] ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ผลิตภัณฑ์สาร glutathione ในรูปแบบรับประทาน

เอกสารอ้างอิง
[1]. Danyelle MT, Kenneth DT, Haim T. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003; 57(3-4):145-55. doi: 10.1016/s0753-3322(03)00043-x.
[2]. Sitohang IBS, Ninditya S. Systemic Glutathione as a Skin-Whitening Agent in Adult. Dermatol Res Pract. 2020:8547960. doi:10.1155/2020/8547960.
[3]. Sonthalia S, Daulatabad D, Sarkar R. Glutathione as a skin whitening agent: Facts, myths, evidence and controversies. Indian J. Dermatol Venereol Leprol. 2016;82(3):262-72. doi:10.4103/0378-6323.179088.
[4]. Richie JP, et al. Randomized controlled trial of oral glutathione supplementation on body stores of glutathione. Eur. J. Nutr. 2015;54(2):251-63. doi:10.1007/s00394-014-0706-z.
[5]. Dilokthornsakul W, Dhippayom T, Dilokthornsakul P. The clinical effect of glutathione on skin color and other related skin conditions: A systematic review. J. Cosmet Dermatol. 2019;18(3):728-37. doi: 10.1111/jocd.12910.
[6]. Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann. Pharmacother. 1995;29(12):1263-73. doi: 10.1177/106002809502901213.


วันที่ตอบ : 24 ม.ค. 66 - 10:46:17




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110