ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
มีเลือดออกขณะกินยาคุมแบบแผง

คือเรื่องมันมีอยู่ว่าเรามีอะไรกับแฟนแล้วใช้ยาคุมฉุกเฉินค่ะ หลังจากนั้นมีเลือดออกมาเราคิดว่าเป็นประจำเดือนเลยซื้อยาคุมแบบแผงมาใช้ ใช้ไปซักพักเราไปต่างจังหวัดค่ะแล้วลืมเอายาไปด้วยเลยไม่ได้กิน2วัน หลังจากนั้น เราทิ้งยาไป1เม็ดแล้วกินยาที่ลืมล่าสุดควบกับเม็ดปัจจุบัน พอหลังจากกินเราก็มีอะไรกับแฟนค่ะ เราไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยแต่เสร็จข้างนอกเลยกะว่าจะใช้ยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วยค่ะ แต่ยังไม่ได้กินนะคะ มันมีเลือดออกมาก่อน อยากทราบว่าเลือดออกเพราะอะไรคะ แล้วที่เรากินยาคุมฉุกเฉินร่วมสามารถทำได้มั้ย หรือมีอะไรแนะนำเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ


[รหัสคำถาม : 461] วันที่รับคำถาม : 24 ม.ค. 66 - 12:27:15 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด 97%[1] โดยผู้ใช้ยาควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามลำดับที่ระบุไว้ในแผงยา[3] การลืมรับประทานยาคุมกำเนิดจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้[3,5] จึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน[3,6] แต่หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินร่วมด้วย[6] นอกจากนี้การลืมรับประทานยาคุมกำเนิดจะทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือมีประจำเดือนได้[3]
การเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิด 2 วิธี
1. เริ่มรับประทานภายใน 5 วันหลังเริ่มมีประจำเดือน วิธีนี้ไม่ต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย
2. เริ่มรับประทานหลังจากเริ่มมีประจำเดือนนานกว่า 5 วัน หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน[2]
...
วิธีรับประทานยาคุมกำเนิด
รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดครั้งละ 1 เม็ด/วัน ในเวลาเดิม รับประทานตามลำดับเลขหรือลูกศร[3] แล้วรับประทานเม็ดแป้งหรือเว้นการรับประทานยาคุมกำเนิด 7 วัน โดยช่วงนี้จะมีประจำเดือน
...
อาการไม่พึงประสงค์
คลื่นไส้, ปวดศีรษะ, ปวดตึงบริเวณเต้านม, มีเลือดกะปริบกะปรอย, มีสิวและปวดเกร็งหน้าท้อง
...
ข้อห้ามใช้
โรคความดันโลหิตสูง, โรคไมเกรนชนิดมีอาการนำและผู้มีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน[1]
...
ลำดับเหตุการณ์ของผู้ถาม
มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน > กินยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน > มีประจำเดือน > กินยาคุมกำเนิด > ลืมกินยา 2 วัน > มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน>มีประจำเดือน
...
โอกาสการตั้งครรภ์จากการลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
การลืมรับประทานยาคุมกำเนิดจะทำให้มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากขึ้น ตามระยะเวลาที่ลืมรับประทาน[3,5] โดยเฉพาะการลืมรับประทานยาเม็ดที่ 1-7 เนื่องจากอาจทำให้มีการตกไข่จึงมีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าการลืมรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดอื่น[6]
...
การจัดการเมื่อลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
กรณีลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 1 เม็ด
หากลืมรับประทานยาเม็ดที่ 1-7 และ 15-21 ของแผง
1. ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมทันทีและรับประทานยาเม็ดที่เหลือต่อไปตามปกติ
2. คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน เช่น สวมถุงยางอนามัย
3. หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันให้รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
หากลืมรับประทานยาเม็ดที่ 8-14 ของแผง
1. ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมทันทีและรับประทานยาเม็ดที่เหลือต่อไปตามปกติ
...
กรณีลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 2 เม็ดขึ้นไป
หากลืมรับประทานยาเม็ดที่ 1-14 ของแผง
1. รับประทานยาเม็ดที่เพิ่งลืมล่าสุด (ทิ้งเม็ดยาที่ลืมก่อนหน้านั้น)และรับประทานยาเม็ดที่เหลือต่อไปตามปกติ[3]
2. คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน เช่น สวมถุงยางอนามัย[4,6]
3. หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันควรใช้ยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย[6]
...
หากลืมรับประทานยาเม็ดที่ 15-21 ของแผง
1. รับประทานยาเม็ดที่เพิ่งลืมล่าสุด (ทิ้งเม็ดยาที่ลืมก่อนหน้านั้น)และรับประทานยาเม็ดที่เหลือต่อไปตามปกติ เว้นการรับประทานเม็ดแป้งแล้วเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้[3]
2. คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน เช่น สวมถุงยางอนามัย
3. หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันควรใช้ยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย[6]
...
การลืมรับประทานยาคุมกำเนิดทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือประจำเดือนได้[3]
...
เอกสารอ้างอิง
[1]. Britton LE, Alspaugh A, Greene MZ, McLemore MR. An Evidence-Based Update on Contraception. Am J Nurs. 2020;120(2):22-33. doi: 10.1097/01.NAJ.0000654304.29632.a7.
[2]. World Health Organization. Selected recommendation for contraceptive use. Third edition. 2016. Accessed 14 November 2023. Available from: https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/252267/9789241565400-eng.pdf?sequence=1.
[3]. คณะกรรมการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพเภสัชกรรม ( สมรรถนะร่วม ) พ.ศ. 2562 . พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี:บริษัท เอชอาร์พริ้นซ์แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด:2562.
[4]. West Essex CCG. Female contraception guidelines. 2018. Accessed 14 November 2023. Available from: https://westessexccg.nhs.uk/your-health/medicines-optimisation-and-pharmacy/clinical-guidelines-and-prescribing-formularies/07-obstetrics-gynaecology-urinary-tract-disorders/2726-contraceptive-prescribing-guidelines/file.
[5]. Creinin MD, Jensen JT, Chen MJ, Black A, Costescu D, Foidart JM. Combined Oral Contraceptive Adherence and Pregnancy Rates. Obstet Gynecol. 2023;141(5):989-994. doi: 10.1097/AOG.0000000000005155.
[6]. Black A, Dunn S, Guilherme E. Missed Hormonal Contraceptives:New Recommendations. J Obstet Gynaecol Can. 2008;30(11):1050-62. doi: 10.1016/S1701-2163(16)33001-8.

วันที่ตอบ : 15 ม.ค. 67 - 13:31:59




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110