ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
NSAIDs ตัวใดที่ปลอดภัยสุดสำหรับคนสูงอายุ

NSAIDs ตัวใดที่สามารถให้ในผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างปลอดภัยที่สุด เมื่อใช้บรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน

[รหัสคำถาม : 462] วันที่รับคำถาม : 26 ม.ค. 66 - 15:01:50 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1


โดยทั่วไป ยาบรรเทาอาการปวดที่ใช้ทางทันตกรรม เช่น paracetamol, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ibuprofen, tramadol เป็นต้น[1, 2] จากคู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ (Thai National Formulary 2016) แนะนำการรักษาอาการปวดอย่างเฉียบพลันบริเวณช่องปาก-ใบหน้า ยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกคือ paracetamol ส่วนยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับรองคือ Ibuprofen โดยไม่ควรใช้ร่วมกับ aspirin หรือ NSAIDs ตัวอื่น ๆ[1]

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ 1) กลุ่มที่ไม่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX (non-selective NSAIDs) เช่น ibuprofen, naproxen และ aspirin และ 2) กลุ่มที่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX-2 (selective COX-2 inhibitors) เช่น celecoxib, etoricoxib เป็นต้น[3] ยา NSAIDs ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenases (COXs) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์สาร prostaglandins และ thromboxanes เป็นต้น โดยเอนไซม์ COX มีอย่างน้อย 2 ไอโซฟอร์ม ได้แก่ COX-1 และ COX-2 ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน เอนไซม์ COX-1 ทำหน้าที่ในสภาวะปกติเพื่อรักษาสมดุลร่างกาย เช่น การสร้างเมือกปกป้องผนังทางเดินอาหาร การไหลเวียนของเลือดผ่านไต และการสร้าง thromboxanes A2 ในเกล็ดเลือด ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ในขณะที่เอนไซม์ COX-2 จะเกี่ยวข้องกับการสร้าง prostacyclin (PGI2) ที่ผนังหลอดเลือด ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือด และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด โดยขัดขวางการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดจากฤทธิ์ของ thromboxanes A2 ดังนั้น การใช้ยา NSAIDs กลุ่มที่ออกฤทธิ์ไม่จำเพาะต่อเอนไซม์ COX จึงทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อเยื่อบุทางเดินอาหารได้มากกว่ากลุ่มที่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX-2[4]  ในทางกลับกัน ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-2 เป็นหลัก  อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ด้านความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้จากกลไกที่ทำให้มีสาร prostacyclin (PGI2) ลดลง[3]

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือนฉบับที่ 55 ประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 การใช้ยากลุ่ม NSAIDS มีข้อควรระวังหลายประการ[5] เช่น ห้ามใช้ในผู้ที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือมีแผลทะลุ, ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไตรุนแรง, ยานี้มีผลต่อการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก หรือเกล็ดเลือดผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ, ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการตีบตันของหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในขนาดสูงเป็นเวลานาน, ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือผู้สูงอายุ, ยานี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ของภาวะบวมน้ำ จึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ไตทำงานผิดปกติ, เมื่อใช้ยานี้หากมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไข้ผื่นแดง ตุ่มน้ำพอง มีการหลุด ลอกของผิวหนังและบริเวณเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก ลำคอ จมูก อวัยวะสืบพันธุ์ และเยื่อบุตาอักเสบ ให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็น Stevens-Johnson syndrome

สำหรับผลข้างเคียงของยากลุ่ม NSAIDs ต่อระบบทางเดินอาหาร มีการศึกษาแบบทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) และการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เปรียบเทียบระหว่างยา celecoxib กับ ยากลุ่ม NSAIDs ที่ไม่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX (เช่น naproxen, diclofenac,  ibuprofen  และ  loxoprofen เป็นต้น) [6] พบว่า
1) อาการคลื่นไส้ เกิดในผู้ที่ใช้กลุ่มที่ไม่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX มากกว่า celecoxib (RR = 0.80, 95%CI: 0.72–0.89)
2) อาการอาเจียน เกิดในผู้ที่ใช้กลุ่มที่ไม่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX มากกว่า celecoxib (RR = 0.75, 95%CI: 0.62–0.90)
3) แผลและเลือดออกในทางเดินอาหาร พบในกลุ่มยาที่ไม่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX มากกว่า celecoxib (RR: 0.61, 95%CI: 0.46–0.81)
 
ส่วนผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการศึกษาแบบสุ่ม (randomized controlled trial) เปรียบเทียบระหว่างยา celecoxib กับ กลุ่มที่ไม่มีความจำเพาะในการยับยั้งเอนไซม์ COX (naproxen หรือ  ibuprofen)[7] เช่น 
1) ด้านความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ถึงแก่ชีวิต พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่าง celecoxib เทียบกับ naproxen (HR = 0.93, 95%CI: 0.76-1.13) หรือ celecoxib เทียบกับ ibuprofen (HR: 0.85, 95%CI: 0.70-1.04)
2) การวัดผลด้านอื่น ๆ (เช่น การเสียชีวิตจากภาวะเลือดออก, การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (nonfatal myocardial infarction), การเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (nonfatal stroke), ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการเจ็บหน้าอกชนิด unstable angina หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (transient ischemic attack) เป็นต้น) พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันระหว่าง  celecoxib เทียบกับ naproxen (HR: 0.97, 95% CI: 0.83-1.12) และ celecoxib เทียบกับ ibuprofen (HR: 0.87, 95% CI: 0.75-1.01)
      
ส่วนการศึกษาแบบ network meta-analysis ที่รวบรวมการงานวิจัยการทดลองแบบสุ่ม (randomized controlled trials) เพื่อศึกษาความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเปรียบเทียบยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ naproxen, ibuprofen, diclofenac, celecoxib, etoricoxib, rofecoxib, lumiracoxib กับยาหลอก (placebo)[8] พบว่า
1) ในด้านความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น  ibuprofen มีค่า RR = 1.61 (95%CI: 0.50-5.77), celecoxib มีค่า RR = 1.35 (95%CI: 0.71-2.72), rofecoxib มีค่า RR = 2.12, (95%CI: 1.26-3.56) และ lumiracoxib มีค่า RR = 2.00 (95%CI: 0.71-6.21),  naproxen มีค่า RR = 0.82 (95%CI: 0.37-1.67), diclofenac มีค่า RR = 0.82, (95%CI: 0.29-2.20)  และ etoricoxib มีค่า RR = 0.75, (95%CI: 0.23-2.39)
2) ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ใช้ NSAIDs ได้แก่ ibuprofen (RR = 3.36, 95%CI: 1.00-11.60), diclofenac (RR = 2.86, 95%CI: 1.09-8.36) และ lumiracoxib (RR = 2.81, 95%CI: 1.05-7.48) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่ไม่มีความแตกต่างกับยาหลอก คือ naproxen (RR = 1.76, 95%CI: 0.91-3.33, etoricoxib (RR = 2.67, 95%CI: 0.82-8.72) และ rofecoxib (RR = 1.07, 95%CI: 0.60-1.82)
3) การตายที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ใช้ยา NSAIDs ได้แก่ diclofenac (RR = 3.98, 95%CI: 1.48-12.70) และ etoricoxib (RR = 4.07, 95%CI: 1.23-15.70) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่ไม่มีความแตกต่างจากยาหลอก ได้แก่ ibuprofen (RR = 2.39, 95%CI: 0.69-8.64), celecoxib (RR = 2.07, 95%CI: 0.98-4.55) , rofecoxib (RR = 1.58, 95%CI: 0.88-2.84), lumiracoxib (RR = 1.89, 95%CI: 0.64-7.09) และ naproxen (RR = 0.98, 95%CI: 0.41-2.37)
 
จาก BEERS Criteria[9] แนะนำการใช้ยากลุ่ม NSAIDs และ COX-2 inhibitors อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ควรเลี่ยงการใช้ในระยะยาว ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 75 ปี, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์แบบรับประทานหรือแบบฉีด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ผู้ที่เคยมีแผลในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออก เกิดแผลใหม่ หรือเกิดการกำเริบของแผลในระบบทางเดินอาหารได้, ควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic heart failure) และเลี่ยงการใช้ในโรคหัวใจล้มเหลวที่แสดงอาการ (symptomatic heart failure) เพราะสามารถทำให้เกิดการคั่งของของเหลวและอาจส่งผลให้โรคหัวใจล้มเหลวกำเริบได้ และเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 เป็นต้นไป หรือค่า creatinine clearance น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและลดการทำงานของไต

เอกสารอ้างอิง
[1]. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดเลือกยา สาขาทันตกรรม. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม (Thai National Formulary 2016 Drugs used in Dentistry). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักยาคณะกรรมการอาหารและยา; 2559: 79-81, 85-86. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ย. 2565.
[2]. วีระชาติ ยุทธชาวิทย์. ยาที่ใช้ทางทันตกรรมสำหรับเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข. วารสารทันตาภิบาล. 2554.(1 มกราคม-มิถุนายน); 22(1): 11-12. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ย. 2565.
[3]. Smollin, Craig. "NONSTEROIDAL ANTI-INFLAMMATORY DRUGS." Poisoning & Drug Overdose, 8e Eds. Kent R. Olson, et al. McGraw Hill, 2022. Available at: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3195§ionid=266329955. สืบค้นเมื่อ 24 พ.ย. 2565.
[4]. สิรินุช พละภิญโญ, หทัยทิพย์ หอมแสงประดิษฐ์, วาทินี ลิ้มเลิศมงคล, ปานชีวัน อินอ่อน. การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในผู้สูงอายุ. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์. 2562(4 กันยายน); 2. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ย. 2565.
[5]. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข. ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือนฉบับที่ 55. ประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 3 ม.ค. 2566.
[6]. Moore RA, Derry S, Makinson GT, McQuay HJ. Tolerability and adverse events in clinical trials of celecoxib in osteoarthritis and rheumatoid arthritis: systematic review and meta-analysis of information from company clinical trial reports. Arthritis Research & Therapy. 2005;[22]. doi: 10.1186/ar1704. สืบค้นเมื่อ 22 พ.ย. 2565.
[7]. Nissen, Steven E.; Yeomans, Neville D.; Solomon, Daniel H.; Lüscher, Thomas F.; Libby, Peter; Husni, M. Elaine; Graham, David Y.; Borer, Jeffrey S.; Wisniewski, Lisa M.; Wolski, Katherine E.; Wang, Qiuqing; Menon, Venu; Ruschitzka, Frank; Gaffney, Michael; Beckerman, Bruce; Berger, Manuela F.; Bao, Weihang; Lincoff, A. Michael. Cardiovascular Safety of Celecoxib, Naproxen, or Ibuprofen for Arthritis. New England Journal of Medicine, 2016 Dec 29;375(26):2519-2529. doi:10.1056/NEJMoa1611593. สืบค้นเมื่อ 24 พ.ย. 2565.

วันที่ตอบ : 26 ม.ค. 66 - 16:25:25




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110