ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาแก้ไอ

Ambroxol กับ Flemex ตัวไหนแก้ไอละลายเสมหะได้ดีกว่ากันครับ ผมมีอาการไอ และเสมหะเหนียว จึงอยากทราบว่าระหว่างยาเม็ด Ambroxol กับยาเม็ด Flemex ตัวไหนจะเอาเสมหะออกได้ดีกว่ากันครับ ถ้าทานร่วมกันทั้ง 2 ตัวเลย จะดีมั้ยครับ

[รหัสคำถาม : 463] วันที่รับคำถาม : 26 ม.ค. 66 - 22:19:35 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Flemex เป็นยาละลายเสมหะ มีตัวยาสำคัญคือ Carbocysteine มีข้อบ่งใช้ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) คือ ช่วยละลายเมือกและเสมหะในโรคเกี่ยวกับทางเดินลมหายใจที่มีเสมหะมาก[1] ส่วนข้อบ่งใช้ตามเอกสารกำกับยา คือ ใช้ในผู้ที่มีเมือกข้นหนืดหรือมีเสมหะในทางเดินหายใจปริมาณมาก เช่น หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง และใช้เป็นยาเสริมร่วมในการรักษาเกี่ยวกับในโรคเกี่ยวกับหู-คอ-จมูก เช่น หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น และยังใช้ลดจำนวนสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจก่อนผ่าตัด[2] อาการข้างเคียงที่อาจพบได้เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ เป็นต้น[3,4]

ส่วนยา Ambroxol เป็นยาละลายเสมหะเช่นเดียวกัน มีข้อบ่งใช้ในโรคหลอดลมหรือโรคปอดที่มีความผิดปกติของการมีเมือกข้นหรือมีเสมหะมาก อาการข้างเคียงที่อาจพบได้เช่น คลื่นไส้ การรับรสเปลี่ยนไป (Dysgeusia) เป็นต้น[5]

สำหรับประสิทธิภาพของยา Carbocysteine และ Ambroxol ในการละลายเสมหะ จากการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล PubMed และ Cochrane library ไม่พบการศึกษาที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหวัดและมีอาการไอแบบมีเสมหะ การศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคซิสติกไฟโบรซิส เช่น การศึกษาแบบการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาละลายเสมหะ Carbocysteine ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยวัดผลของยาในด้านการลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบของโรค พบว่ายา Carbocysteine สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบของโรคได้มากกว่ากลุ่มยาหลอก (0.44; 95%CI: 0.24 - 0.82, p = 0.00) [6]

อีกหนึ่งการศึกษาแบบการทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน (Systematic reviews and Meta-analysis) เกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา Carbocysteine โดยเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยวัดผลจากการไม่เกิดอาการกำเริบของโรค พบว่า โอกาสที่จะไม่เกิดอาการกำเริบของโรคในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยา Carbocysteine จะมีมากกว่ากลุ่มยาหลอก (OR 1.69, 95%CI 1.53-1.88) ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาแบบการทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานที่เปรียบเทียบยา Carbocysteine กับยา Ambroxol ในผู้ป่วยโรคซิสติกไฟโบรซิส โดยวัดจากลักษณะของเสมหะ พบว่า ทั้งกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยา Carbocysteine และ Ambroxol มีลักษณะความข้นเหนียวของเสมหะไม่ต่างกัน[8]

จากการสืบค้นข้อมูล ไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาละลายเสมหะ 2 ชนิดร่วมกันในการแก้ไอละลายเสมหะ โดยทั่วไป ข้อควรปฏิบัติตัวของผู้ที่มีอาการไอและมีเสมหะเหนียวได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น ควันบุหรี่ หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น หากอากาศแห้ง ให้ใช้เครื่องพ่นไอน้ำหรือเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศในห้องนอนหรือในบ้าน ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ การใช้ยาอมแก้ไอ อาจช่วยลดการกระตุ้นอาการไอได้ เช่น ยาอมมะขามป้อม ยาอมมะแว้ง เป็นต้น[9,10]

เอกสารอ้างอิง
[1]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. FLEMEX [Internet]. 2020 [cited 2022 November 28]. Available from: http://pertento.fda.moph.go.th.
[2]. บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด. Flemex ® [Patient information leaflet].
[3]. MIMs Thailand. Flemex ® [application]. [cited 2022 November 21].
[4]. Medinova AGC, inventor; OLIC (Thailand) Limited, assignee.Flemex. Thailand U1DR1A1022400004311C. 1997 January 9.
[5]. Lexicomp. Ambroxol [application]. [cited 2022 November 20].
[6]. Rogliani P, Gabriella MM, Page C, Puxeddu E, Cazzola M, Calzetta L. Efficacy and safety profile of mucolytic/antioxidant agents in chronic obstructive pulmonary disease: a comparative analysis across erdosteine, carbocysteine, and N-acetylcysteine. Respiratory Research.2019;20:104.
[7]. Poole P, Sathananthan K, Fortescue R. Mucolytic agents versus placebo for chronic bronchitis or chronic obstructive pulmonary disease (Review). Cochrane Database of Systematic Reviews.2019;5:CD001287.
[8]. Tam J, Nash EF, Ratjen F, Tullis E, Stephenson A. Nebulized and oral think derivatives for pulmonary disease in cystic fibrosis. Cochran database of systematic review.2013;7:CD007168.
[9]. Elsevier. Cough, Adult [Internet]. [cited 2022 December 20]. Available at: https://elsevier.health/en-US/preview/cough-adult-pe.
[10]. Up to date. Cough in adults (The Basics)[application]. [cited 2022 December 20].

วันที่ตอบ : 31 ม.ค. 66 - 12:54:57




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110