ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาหอม

ยาหอมเทพจิตรกินบ่อยๆ นานๆ เกิดผลเสียอะไรบ้างไหม

[รหัสคำถาม : 466] วันที่รับคำถาม : 14 ก.พ. 66 - 15:32:29 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาหอม เป็นชื่อกลุ่มยาตำรับที่มีส่วนประกอบหลักมาจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหลายชนิด ไม่ใช่ยาวิเศษรักษาโรคได้ทุกโรค แต่เป็นยาที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อปรับการทำงานของธาตุลม ไฟ และน้ำให้เข้าสู่สมดุล[1] ยาหอมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติมีเพียง 5 ชนิดเท่านั้นคือ ยาหอมทิพย์โอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมแก้ลมวิงเวียนและยาหอมอินทจักร์[2]
...
ยาหอมเทพจิตร เป็นยาหอมชนิดหนึ่งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ในสูตรตำรับผงยา 366 กรัม ประกอบด้วย 1) ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ 4 กรัม ดอกมะลิ หนัก 183 กรัม 2) ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตรังกานูหรือส้มจุก ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ 4 กรัม ผิวส้มซ่า หนัก 28 กรัม 3) โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลาโกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 4 กรัม 4) เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 กรัม 5) ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน ดอกกานพลู แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาวหรือแก่นจันทน์ชะมด กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก เปลือกชะลูด เปลือกอบเชย หัวเปราะหอม รากแฝกหอม หนักสิ่งละ 2 กรัม และ 6) พิมเสน หนัก 4 กรัม การบูร หนัก 1 กรัม มีข้อบ่งใช้ในการแก้ลมกองละเอียดได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น โดยรับประทานครั้งละ 1 ถึง 1.4 กรัม เมื่อมีอาการทุก 3 ถึง 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง[3]
...
ข้อควรระวังของยาหอมเทพจิตรคือ 1) ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ เนื่องจากสูตรตำรับประกอบด้วยเกสรทั้ง 7 (ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน และดอกมะลิ) 2) ระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เนื่องจากมีรายงานการใช้วาร์ฟารินร่วมกับโกฐเชียงหรือตังกุย (Angelica sinensis) พบว่าเพิ่มระดับ INR และทำให้ช้ำได้ง่าย สาเหตุเกิดจากตังกุยมีสารกลุ่ม coumarins เป็นองค์ประกอบ[4,5] นอกจากนี้สูตรตำรับยังประกอบด้วยเปลือกชะลูด ซึ่งมีสารกลุ่ม coumarin เป็นองค์ประกอบเช่นกัน[6] และ 3) ระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้[3] ซึ่งการได้รับการบูรในขนาดสูงกว่าปกติ จะนำไปสู่ภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระลดลง และเกิดการทำลายเนื้อเยื่อตับ และไตได้ มีรายงานว่าการรับประทานการบูรขนาด 3.5 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้ และหากรับประทานเกินครั้งละ 2 กรัม จะทำให้หมดสติและเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ไต และสมอง[7] อย่างไรก็ตามในสูตรตำรับยาหอมเทพจิตร 366 กรัม ประกอบด้วยการบูรเพียง 1 กรัม หากรับประทานสูงสุดครั้งละ 1.4 กรัม ได้รับการบูรเพียง 3.8 มิลลิกรัมต่อครั้ง
...
นอกจากนี้การรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยาหอมที่วางขายในท้องตลาดหลายฉบับ พบว่าผลการทดลองสนับสนุนสรรพคุณของยาหอมที่มีการกล่าวอ้างคือ มีฤทธิ์เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนเลือดในสมอง และมีรายงานผลความปลอดภัยของยาหอมในมนุษย์โดยให้อาสาสมัครรับประทานยาหอม 3 กรัม พบว่าไม่มีผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจและผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น อีกทั้งมีการทดสอบพิษแบบเรื้อรังในหนูทดลองโดยให้ยาขนาด 0.001-1 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีความปลอดภัย[2]
...
จากการที่ไม่มีข้อมูลภูมิหลังของคำถาม รวมทั้งไม่มีข้อมูลรายละเอียดของโรคที่เป็นอยู่ จึงขอแนะนำว่า ควรใช้ยาหอมเทพจิตรในขนาดที่แนะนำ และหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือมีการรับประทานยาอื่น ๆ การรับประทานยาหอมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งเนื่องจากอาจส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ได้ อย่างไรก็ตามรายงานผลความปลอดภัยของยาหอมในมนุษย์ พบว่าไม่มีผลต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจและผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น อีกทั้งมีการทดสอบพิษแบบเรื้อรังในหนูทดลอง พบว่ามีความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง
[1]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ยาหอมคืออะไรกันแน่นะ. 2564. เข้าถึงได้จาก https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2007?ref=search. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566.
[2]. Chootip K, Chaiyakunapruk N, Soonthornchareonnon N, Scholfield CN, Fuangchan A. Efficacy and safety of "Yahom" as a traditional Thai herbal therapy: A systematic review. J. Ethnopharmacol. 2017; 196: 110-23.
[3]. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. คู่มือประกอบการใช้บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564. พิมพ์ครั้งที่ 1. พระนครศรีอยุธยา: บริษัท เกรทเทส จำกัด; 2564: 67.
[4]. Fugh-Berman A. Herb-drug interactions [published correction appears in Lancet 2000 March 18; 355(9208): 1020]. Lancet. 2000; 355(9198): 134-8.
[5]. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย. โกฐเชียง. เข้าถึงได้จาก https://apps.phar.ubu.ac.th/thaicrudedrug/main.php?action=viewpage&pid=30. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566.
[6]. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย. เปลือกชะลูด. เข้าถึงได้จาก https://apps.phar.ubu.ac.th/thaicrudedrug/main.php?action=viewpage&pid=51. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566.
[7]. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย. การบูร. เข้าถึงได้จาก https://apps.phar.ubu.ac.th/thaicrudedrug/. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566.

วันที่ตอบ : 09 มี.ค. 66 - 13:13:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110