ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
รับประทานยา warfarin

แม่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะค่ะ ได้รับยาที่ชื่อว่า warfarin อยู่ สงสัยว่าทำไมหมอแนะนำว่าไม่ควรดื่มนมถั่วเหลืองคะ

[รหัสคำถาม : 470] วันที่รับคำถาม : 25 ก.พ. 66 - 10:06:09 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วาร์ฟาริน (warfarin) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่ม vitamin K antagonist และมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ[1] ออกฤทธิ์โดยรบกวนการทำงานของวิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง[2,3] เป็นยาที่มีชีวประสิทธิภาพ (bioavailability) สูง แต่มีช่วงการรักษาแคบ ขนาดของยาที่ออกฤทธิ์ให้ผลการรักษาในผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน ปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อการตอบสนองต่อยาวาร์ฟารินคือ เภสัชพันธุศาสตร์เฉพาะหรือยีนที่ควบคุมการทำงานของเอ็นไซม์ CYP2C9 ที่ทำหน้าที่ขจัดยาวาร์ฟาริน และยีนที่เป็นตำแหน่งออกฤทธิ์ (receptor) ของยาวอร์ฟาริน คือ Vitamin K2,3-epoxide reductase complex subunit 1 (VKORC1) อย่างไรก็ตามในประชากรไทยอัตราการเกิด CYP2C9 polymorphism มีเพียงร้อยละ 3 แสดงถึง CYP2C9 polymorphism มีผลกระทบต่อการใช้ยาวอร์ฟารินไม่มากนัก นอกจากนี้ผู้ป่วยคนเดียวกันการได้ขนาดยาเท่ากันยังให้ผลการรักษาที่ไม่สม่ำเสมอขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น การรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป (อาหารที่มีวิตามินเคมีผลลดฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน) การออกกำลังกาย  การดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ใช้ยาตามแพทย์สั่ง (noncompliance) การใช้ยาอื่นร่วม หรือสภาวะที่ผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วยเช่น โรคตับ ภาวะการขาดสารอาหาร และภาวะไข้ เป็นต้น ในการติดตามผลและความปลอดภัยของยาวาร์ฟารินเพื่อการควบคุมขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยนั้น ใช้วิธีการรายงานผลเป็นค่า INR (International Normalized Ratio) [3]
...
นมถั่วเหลือง (soy milk) มีประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล บางยี่ห้อมีวิตามินเคเป็นองค์ประกอบ[4] ทำให้ฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินลดลงในระดับมีความน่าเป็นไปได้ (Probable)[2] หรือระดับปานกลาง ส่งผลทำให้ระดับ INR ลดลงหรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้[1] สอดคล้องกับรายงานกรณีศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ป่วยมีค่า INR ลดลงเหลือ 1.6 หลังจากได้รับนมถั่วเหลืองในการรักษาโรคไขมันในเลือดสูงเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยา warfarin ซึ่งจากการซักประวัติไม่พบปัญหาเรื่องความไม่ร่วมมือในการรับประทานยา การรับประทานยาอื่น หรือโรคร่วมอื่น ๆ และไม่ได้รับประทานผักใบเขียวหรืออาหารที่มีวิตามินเคสูงเพิ่มขึ้น แต่หลังจากหยุดการดื่มนมถั่วเหลืองเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ผลปรากฏว่าระดับ INR อยู่ในช่วงเป้าหมาย ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่านมถั่วเหลืองทำอันตรกิริยากับยาวาร์ฟาริน ส่งผลให้ระดับ INR ต่ำลง กลไกการเกิดอันตรกิริยาระหว่างนมถั่วเหลืองกับยาวาร์ฟารินอาจเกิดจากนมถั่วเหลืองไปมีผลลดการดูดซึมยา (absorption) และการกระจายตัวยาจากเลือดผ่านเนื้อเยื่อ (permeability across barrier, P-glycoprotein) จึงทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ลดลง[5]
...
จากข้อมูลภูมิหลังของผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่กำลังใช้ยาวาร์ฟาริน จึงขอแนะนำว่าการรับประทานนมถั่วเหลืองไม่ถือเป็นข้อห้าม อย่างไรก็ตามนมถั่วเหลืองบางยี่ห้ออาจมีวิตามินเคเป็นส่วนประกอบ มีผลทำให้ยาวาร์ฟารินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ควรได้รับการติดตามการรักษา เช่น ระดับ INR ที่ลดลง หรือการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หากใช้ยาวาร์ฟารินร่วมกับนมถั่วเหลือง นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิมและสม่ำเสมอในแต่ละวัน และปรึกษาแพทย์ก่อนปรับเปลี่ยนอาหาร

เอกสารอ้างอิง
[1]. Warfarin. In: Zand JM, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2023. (Accessed on February 27, 2023.)
[2]. Holbrook AM, Pereira JA, Labiris R, et al. Systematic overview of warfarin and its drug and food interactions. Arch. Intern. Med. 2005; 165(10): 1095-106.
[3]. สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน. 9-24.
[4]. LND KM, Walle GVD. What’s in Soy Milk? A Closer Look at Ingredients and More. Available at: https://www.healthline.com/nutrition/soy-milk-ingredients. Accessed March 2, 2023.
[5]. Cambria-Kiely JA. Effect of soy milk on warfarin efficacy. Ann. Pharmacother. 2002; 36(12): 1893-96.

วันที่ตอบ : 21 มี.ค. 66 - 12:03:12




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110