ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา Amlodipine

แม่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงและความดันสูงเล็กน้อย ก่อนหน้านี้้ได้รับยารักษาไขมัน simvastatin 40 mg อยู่ครับ แต่ไปตามนัดครั้งล่าสุดความดันสูงขึ้น หมอให้ยาความดันเม็ดสีขาวๆ ที่ชื่อว่า amlodipine เพิ่มมา ทานไปแล้วแม่บ่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากที่ไม่เคยมีอาการแบบนี้ ไม่ทราบว่าอาการนี้เป็นผลข้างเคียงจากยาหรือไม่ครับ

[รหัสคำถาม : 471] วันที่รับคำถาม : 26 ก.พ. 66 - 13:37:33 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Simvastatin จัดเป็นยาในกลุ่ม statin[1] หรือ HMG-CoA reductase inhibitor มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไขมันในเลือดสูง และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง มีรายงานการปวดกล้ามเนื้อ (myalgia) ประมาณร้อยละ 4[2] ขณะที่ amlodipine จัดเป็นยาในกลุ่ม calcium channel blockers มีข้อบ่งใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง และควบคุมอาการปวดเค้นหัวใจเรื้อรัง มีรายงานการเกิดตะคริว (muscle cramps) ประมาณร้อยละ 2[3]
...
ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม statin ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อหลายรูปแบบเช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตึง หรือเป็นตะคริว คล้ายกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกล้ามเนื้ออักเสบ[2,4] ผ่านกลไกที่ยังไม่แน่ชัด มีการศึกษาสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการดังกล่าวเช่น gene ที่มีบทบาทในการเกิดผ่านกระบวนการ metabolism ซึ่ง gene จะมีผลต่อความแปรปรวนในการทำงานของ cytochrome P450 gene ประกอบด้วย CYP3A4, CYP3A5, CYP2D6 และ vitamin D receptor ความสัมพันธ์กับ genome ได้แก่ SLCO1B1 rs4149056 ซึ่งมีผลต่อการทำลายยา ทำให้ระดับยาในเลือดสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตามอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อที่เกิดจากยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม statin นั้น ส่วนใหญ่มักพบเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและ/หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่สมมาตรกัน หรือมีระดับ creatine kinase (CK) สูงขึ้นผิดปกติ ช่วงเวลาที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อมักจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ถึงเดือนหลังเริ่มการรักษา ระยะเวลาเฉลี่ยของการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้นเป็น 6.3 เดือน (ช่วงเวลา 0.25-48.0 เดือน) ผู้ป่วยประมาณ 2 ใน 3 มีอาการปวดกล้ามเนื้อภายใน 6 เดือนหลังเริ่มการรักษา การปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักกลับมาหายดีในช่วงวันถึงสัปดาห์หลังจากหยุดยา[4]
...
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อจากยากลุ่ม statin ได้แก่ คุณสมบัติของยา statins บางตัว (ยากลุ่ม statin ที่ถูกเปลี่ยนแปลงผ่าน CYP3A4 เช่น simvastatin ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวทำหน้าที่เปลี่ยนรูปยาหลายชนิด รวมถึงมียาจำนวนมากที่สามารถยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 ทำให้ยาในรูปที่ออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายนานขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ) ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อมาก่อน มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (hypothyroidism) หรือภาวะที่ระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่าค่าปกติ (hypovitaminosis D) ลักษณะของผู้ป่วย (เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้สูงอายุ ผู้หญิง มีโรคตับเฉียบพลันและโรคไตรุนแรง) และการใช้ยาอื่นร่วมกันในการรักษา (เช่น cyclosporine หรือ amlodipine เป็นต้น)[2,4]
...
การใช้ยา simvastatin ร่วมกับ amlodipine อาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความเข้มข้นของยา simvastatin ในเลือด[5,6] เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อได้[7,8,9] เนื่องจากยา simvastatin ในปกติเมื่อออกฤทธิ์แล้วร่างกายจะกำจัดยาโดยเปลี่ยนรูปยาผ่านเอนไซม์ CYP3A4 แต่ในขณะเดียวกัน amlodipine มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ ทำให้การกำจัดยา simvastatin ลดลง[7,9] ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้จำกัดขนาดของยา simvastatin เมื่อต้องใช้ร่วมกัน โดยแนะนำให้ simvastatin ขนาดร้อยละ 60 ของขนาดยาปกติเมื่อให้ร่วมกับ amlodipine 10 มิลลิกรัม[6] หรือไม่ใช้ simvastatin เกิน 20 มิลลิกรัม เมื่อใช้ร่วมกับยา amlodipine[1,7,8,9,10,11] และควรติดตามผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น ระดับ creatine kinase (CK) อาการและอาการแสดงทางคลิกนิกของภาวะกล้ามเนื้อสลายอย่างใกล้ชิด[10]
...
อาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อที่พบในผู้ป่วย อาจเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยา simvastatin กับ amlodipine ที่ใชร่วมกัน ซึ่งแนะนำให้พบแพทย์ที่รักษา อาจจำเป็นต้องลดขนาดยา simvastatin และติดตามระดับ creatine kinase (CK) อย่างไรก็ตามอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยนั้นอาจไม่ได้เกิดจากยา simvastatin เนื่องจากไม่มีประวัติการเจ็บป่วยอื่น ๆ ของผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมโรคหลอดแดงแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติเพื่อป้องกันโรคหัวใจแลหลอดเลือด พ.ศ. 2559. พิมพ์ครั้งที่ 1. ปทุมธานี: เอ-พลัน พริ้น; 2560: 6-18.
[2]. Simvastatin. In: Zand JM, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2023. (Accessed on February 27, 2023.)
[3]. Amlodipine. In: Zand JM, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2023. (Accessed on February 27, 2023.)
[4]. Rosenso RS, Baker SK. Statin muscle-related adverse events. In: UpToDate, Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. (Accessed on March 1, 2023.)
[5]. Nishio S, Watanabe H, Kosuge K, Uchida S, Hayashi H, Ohashi K. Interaction between amlodipine and simvastatin in patients with hypercholesterolemia and hypertension. Hypertens. Res. 2005 March; 28(3): 223-7.
[6]. Son H, Lee D, Lim LA, Jang SB, Roh H, Park K. Development of a pharmacokinetic interaction model for co-administration of simvastatin and amlodipine. Drug Metab Pharmacokinet. 2014; 29(2): 120-8.
[7]. Christine Randall. MHRA recommendations on simvastatin interactions: What are the implications for patients taking amlodipine. 2012; [2 screens]. Available at: https://mm.wirral.nhs.uk/document_uploads/alerts/NWMICsummarysimvaamlodipineinteractionSep12.pdf. Accessed February 27, 2023.
[8]. U.S. Food & Drug Administration. FDA Drug Safety Communication: New restrictions, contraindications, and dose limitations for Zocor (simvastatin) to reduce the risk of muscle injury. 2017. Available at: https://www.fda.gov/drugs/drug-safety-and-availabi lity/fda-drug-safety-communication-new-restrictions-contraindications-and-dose-limita tions-zocor. Accessed February 27, 2023.
[9]. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. การใช้ simvastatin dose เกินกว่า 20 mg per day ควบคู่กับ amlodipine. สืบค้นจาก http://www.thaihypertension.org/hypertensiondetail. php?n_id=342. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566.
[10]. Drug interaction (Simvastatin and amlodipine). In: Zand JM, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2023. (Accessed on February 27, 2023.)
[11]. National Drug Information. Simvastatin. สืบค้นจาก http://ndi.fda.moph.go.th/drug_ national_detail/index/11859. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566.

วันที่ตอบ : 13 มี.ค. 66 - 13:33:42




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110