ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
baclofen

baclofen ใช้เมื่อมีปวดเมื่อยจากการทำงาน หรือออกกำลังกายได้ไหม

[รหัสคำถาม : 472] วันที่รับคำถาม : 26 ก.พ. 66 - 21:32:45 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการปวดกล้ามเนื้อ (myalgia หรือ muscle pain) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป สามารถแบ่งตามบริเวณที่ปวดได้เป็น 2 ประเภท คือ อาการปวดกล้ามเนื้อแบบไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจน และอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเฉพาะที่ ในที่นี้จะกล่าวถึงอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานและการออกกำลังกายซึ่งจัดเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะที่[1]
...
1. อาการปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน เป็นอาการในกลุ่มโรคที่เรียกว่า Myofascial Pain Syndrome (MPS) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการปวดร้าว (referred pain) และ/หรืออาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic symptoms) เช่น มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก อ่อนเพลีย เป็นต้น ร่วมกับมีจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อ (trigger point) โดยปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ สมรรถภาพร่างกายไม่แข็งแรง ท่าทางที่ไม่เหมาะสม การบาดเจ็บซ้ำ ๆ ที่ตำแหน่งเดิม ใช้งานกล้ามเนื้อเกินไป (overload) หรือความเครียดจากการทำงาน[2]
2. อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย หรือ Delayed-onset muscle soreness (DOMS) คืออาการที่กล้ามเนื้อเกิดการเสียหาย สาเหตุจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังกายที่มากกว่าปกติ[3]
...
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อควรหาสาเหตุและจัดการสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด รวมทั้งการรักษาตามอาการ[1] อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานอาจรักษาด้วยการนวด การฝังเข็ม การแทงเข็มหรือฉีดยาที่บริเวณจุดกดเจ็บ การทำกายภาพบำบัด การรักษาด้วยยาบรรเทาปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ หรือการปรับพฤติกรรมโดยการปรับสมดุลท่าทาง การเลือกอุปกรณ์ทำงานที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพ[2] ส่วนอาการปวดเมื่อยจากการออกกำลังกายสามารถรักษาได้โดยการใช้ความเย็นบำบัด การประคบร้อน การทำกายภาพบำบัด ฝังเข็ม การรักษาด้วยยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drug หรือ NSAIDs) การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายแบบเบาๆ เป็นต้น[3]
...
ยา baclofen เป็นยาคลายกล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle relaxants) ออกฤทธิ์เป็น gamma-aminobutyric acid (GABA-ergic) agonist มีฤทธิ์ไปยับยั้งการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทของสมอง หรือไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ลดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง[4-6]
...
baclofen มีข้อบ่งใช้ที่ระบุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย พ.ศ.2565 และบริษัทผู้ผลิต คือ ใช้สำหรับการรักษาอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) บรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกิดร่วมกับอาการปวด การกระตุกของกล้ามเนื้อเป็นจังหวะจากการยืดกล้ามเนื้อทันที (clonus) และอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (muscular rigidity) และอาจมีผลช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่บาดเจ็บบริเวณไขสันหลังและโรคเกี่ยวกับไขสันหลัง[5,6] และจากบัญชียาหลักแห่งชาติประเทศไทยมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่าไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้กับอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อจากการเล่นกีฬาหรือการบาดเจ็บ[6] ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อย ได้แก่ มีอาการสับสน วิงเวียน ง่วงซึม อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน[4]
...
การใช้ยา baclofen ในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อนั้นจัดเป็นการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ (Off-label use) โดยใช้เป็นการรักษาเสริมร่วมกับการใช้ NSAIDs และ/หรือ paracetamol ขนาดยาเริ่มต้นของ baclofen คือ 5-10 mg 3 ครั้งต่อวัน ขนาดยาสูงสุด คือ 80 mg ต่อวัน และควรใช้ในระยะเวลาสั้นเฉพาะเมื่อมีอาการ[4]
...
สำหรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา baclofen ในการรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานและการออกกำลังกายนั้นไม่พบการศึกษาโดยตรง แต่พบงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial หรือ RCT) ที่ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อด้านหลังส่วนล่าง (low back pain) ดังนี้
1) ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ baclofen รักษาภาวะปวดกล้ามเนื้อด้านหลังส่วนล่างเฉียบพลัน พบว่า baclofen มีประสิทธิภาพดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) แต่การใช้ยา baclofen พบผลข้างเคียงมากกว่า คือ ผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบประสาท (เช่น ง่วงซึม ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย) และผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน)[7]
2) ศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ยา NSAIDs คือ ibuprofen ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อลาย ได้แก่ baclofen, metaxalone และ tizanidine เปรียบเทียบกับการใช้ ibuprofen เดี่ยว ในผู้ป่วยปวดกล้ามเนื้อด้านหลังส่วนล่าง ในด้านการใช้งานกล้ามเนื้อและอาการปวด พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน โดยประเมินคะแนนจากแบบสอบถาม กลุ่มที่ได้รับยาหลอกหรือได้รับ ibuprofen เดี่ยวดีขึ้นเฉลี่ย 11.1 คะแนน baclofen 10.6 คะแนน metaxalone 10.1 คะแนน และ tizanidine 11.2 คะแนน[8]
...
จากข้อมูลที่สืบค้นได้ baclofen ไม่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการปวดเมื่อยจากการทำงานและการออกกำลังกาย การศึกษาด้านประสิทธิภาพของยา baclofen ในการรักษาอาการดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่ชัด จึงไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานและออกกำลังกาย เมื่อมีอาการปวดเมื่อย ควรหาสาเหตุและจัดการที่สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ เช่น หากอาการปวดเกิดจากการมีท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง แนะนำให้ปรับท่าทางหรือเลือกใช้โต๊ะเก้าอี้ทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น และหากต้องการใช้ยาเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการดังกล่าว แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, naproxen โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง
[1]. Shmerling R. Approach to the patient with myalgia [internet]. Waltham (MA): UpToDate;2022 [cite 2023 Nov 12]. Available from: http://www.uptodate.com
[2]. สมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย และชมรมผู้สนใจปัญหาปวดกล้ามเนื้อแห่งประเทศไทย. Recommendations for the treatment of myofascial pain syndrome 2020. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพนตากอน แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง; 2563.
[3]. Heiss R, Lutter C, Freiwald J, et al. Advances in delayed-onset muscle soreness (DOMS) - part ii: treatment and prevention. delayed onset muscle soreness – teil ii: therapie und prävention. Sportverletz Sportschaden. 2019;33:21-9.
[4]. Baclofen. In: Lexi-drugs online [Internet]. Hudson (OH): LexiComp;2022. [cite 2023 Nov 13]. Available from: http://online.lexi.com
[5]. US FDA. LYVISPAH (baclofen) label [Internet]. 2021 [cited 2023 Nov 14]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/215422lbl.pdf
[6]. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา.ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และบัญชีแนบท้ายประกาศ [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566] เข้าถึงได้จาก: https://ndi.fda.moph.go.th/uploads/file_news/20220808893215585.PDF
[7]. Dapas F, Hartman SF, Martinez L, et al. Baclofen for the treatment of acute low-back syndrome. a double-blind comparison with placebo. Spine. 1985;10:345-9.
[8]. Friedman BW, Irizarry E, Solorzano C, et al. A randomized, placebo-controlled trial of ibuprofen plus metaxalone, tizanidine, or baclofen for acute low back pain. Ann Emerg Med. 2019;74:512-20.

วันที่ตอบ : 07 ธ.ค. 66 - 23:43:13




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110