ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ลูกเป็น G6PD แม่สามารถใช้ Dicloxacillin ได้หรือไม่

ลูกเป็น G6PD แม่ให้นมบุตรมีอาการเต้านมอักเสบ แม่สามารถทานยา Dicloxacillin 500 mg ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 476] วันที่รับคำถาม : 02 มี.ค. 66 - 21:10:26 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะเต้านมอักเสบ (mastitis) เกิดขึ้นในประมาณร้อยละ 10 ของมารดาที่ให้นมบุตร และอาจนำไปสู่การหยุดให้นมบุตรได้ โดยสามารถลดความเสี่ยงของเต้านมอักเสบได้โดยการล้างเต้านมบ่อย ๆ และปรับวิธีการให้นมลูกที่เหมาะสม เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะควรใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลกับเชื้อก่อโรคที่พบบ่อย คือ Staphylococcus aureus และ Staphylococcus epidermidis เนื่องจากเชื้อ methicillin-resistant S. aureus พบมากขึ้นในปัจจุบัน[1],[2] จึงควรเลือกใช้ยาในกลุ่ม Penicillinase-resistant penicillins ได้แก่ dicloxacillin หรือ flucloxacillin เป็นยาหลักในการรักษาภาวะเต้านมอักเสบในหญิงให้นมบุตร หรือสามารถใช้ First-generation cephalosporins ได้แก่ cephalexin ในกรณีที่ทนต่อผลข้างเคียงจากยากลุ่ม penicillin ไม่ได้ และสามารถใช้ยา clindamycin ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่ม penicillin โดยระยะในการใช้ยารักษาภาวะเต้านมอักเสบคือ 7–14 วัน[2]
.
ยา dicloxacillin ผ่านน้ำนมได้เพียงเล็กน้อย ไม่พบว่าเป็นอันตรายต่อทารก[1,3,4] โดยจากรายงานหญิงที่ให้นมบุตรที่มีภาวะเต้านมอักเสบจำนวน 3 ราย หลังจากได้รับยา dicloxacillin 500 mg ทุก 6 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นการบริหารยาในรูปแบบปกติที่ใช้ในคนไข้ทั่วไป พบว่าระดับยาสูงสุดในน้ำนม ที่ 4 ชั่วโมง เท่ากับ 67.6 mcg/L และมีระดับยาเฉลี่ยอยู่ที่ 57.7 mcg/L ซึ่งเมื่อคำนวณค่าขนาดยาของทารกสัมพัทธ์ (RID) ได้เท่ากับร้อยละ 0.03 (relative infant dose; RID คือ สัดส่วนร้อยละของขนาดยาที่ทารกได้รับต่อวันเทียบกับขนาดยาที่มารดาได้รับต่อวัน ค่า RID ที่ยอมรับให้ใช้ได้ในสตรีที่ให้นมบุตรคือต้องต่ำกว่าร้อยละ 10) จึงสามารถใช้ยา dicloxacillin ได้ในหญิงให้นมบุตร[4],[5] นอกจากนี้ยานี้ไม่พบข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD (glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency)[3] จึงคาดว่าไม่เกิดผลเสียต่อทารกที่มีภาวะดังกล่าวหากได้รับยาจากการดื่มนมมารดา

เอกสารอ้างอิง
[1]. Spencer JP. Management of mastitis in breastfeeding women. Am. Fam. Physician. 2008 Sep. 15;78(6):727-31.
[2]. Angelopoulou A, Field D, Ryan CA, Stanton C, Hill C, Ross RP. The microbiology and treatment of human mastitis. Med Microbiol Immunol. 2018 Apr.;207(2):83-94.
[3]. Lexicomp, Inc. dicloxacillin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2023 (Accessed on Jan 17, 2023).
[4]. Drugs and Lactation Database (LactMed®) [Internet]. Bethesda (MD): National Institute of Child Health and Human Development; 2006–. Dicloxacillin. 2021 Jan. 18.
[5]. Muysson M, Datta P, Rewers-Felkins K, Baker T, Hale TW. Transfer of Dicloxacillin into Human Milk. Breastfeed Med. 2020 Nov.;15(11):715-717.

วันที่ตอบ : 07 มี.ค. 66 - 13:48:33




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110