ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
colchicine

ทำไมหมอจ่าย colchicine ในเคสที่เป็นภูมิแพ้หนักมาก ตัวยาออกฤทธิ์อย่างไรเพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และขอทราบการบริหารยาด้วยค่ะ

[รหัสคำถาม : 477] วันที่รับคำถาม : 07 มี.ค. 66 - 23:23:48 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

colchicine เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งกระบวนการอักเสบ โดยมีกลไกยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวรวมถึงยับยั้งการสร้างสารสื่ออักเสบ(1)ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา(1) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย(2) ยังไม่อนุมัติการใช้ colchicine เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการโรคในกลุ่มภูมิแพ้ (allergic disease) อีกทั้งปัจจุบันแนวทางเวชปฏิบัติโรคในกลุ่มภูมิแพ้(3-5) และแนวทางเวชปฏิบัติโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(6) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์(7) ยังไม่มีการแนะนำการใช้ colchicine เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามจากการค้นฐานข้อมูล PubMed พบการศึกแบบ systematic review ในการใช้ colchicine เพื่อเป็นยาทางเลือกในการรักษา (second-line treatment หรือ third-line treatment) โรคผิวหนังหลายชนิด รวมถึงโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยขนาดยาที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนัง ได้แก่ รับประทาน 1-1.5 มิลลิกรัม/วัน(8) และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ colchicine ในระยะยาวอาจพิจารณาใช้ในขนาดที่ต่ำลง ได้แก่ 0.5-1 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 มิลลิกรัม/วัน(8) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อร่างกาย โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่อาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย(8)

สำหรับกลไกในการลดการอักเสบของ colchicine นั้นเกิดจากการขัดขวางการทำงานของ cytoskeleton จากการยับยั้งกระบวนการ beta-tubulin polymerization ใน microtubule จึงส่งผลยับยั้งการกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil อีกทั้งยังยับยั้งกระบวนการ degranulation และการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil รบกวนการรวมตัวของ inflammasome complex ที่เกิดขึ้นใน neutrophil ดังนั้นยา colchicine จึงส่งผลทำให้การหลั่งสารสื่ออักเสบ interleukin-1beta จากเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ลดลงและทำให้เกิดการอักเสบลดลง(9)

จากแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย (ฉบับปรับปรุง 2565)(3) แนวทางการดูแลรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ปี 2562(4) และแนวทางการรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ่ในประเทศไทย ปี 2565(5) ยังไม่พบคำแนะนำการใช้ยา colchicine เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมถึงโรคหืด อีกทั้งยังไม่พบคำแนะนำการใช้ยา colchicine ในแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน พ.ศ. 2555(6)และแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พ.ศ 2557(7) แต่อย่างไรก็ตามจากการค้นฐานข้อมูล PubMed พบการศึกแบบ systematic review ในการใช้ยา colchicine เพื่อเป็นการรักษาทางเลือก (second-line treatment หรือ third-line treatment) โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune disease) ได้แก่ โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โดยจากรายงานผู้ป่วย (Case Reports) ของ Wahba และคณะ(9) ซึ่งรายงานประสิทธิภาพของการใช้ colchicine ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจำนวน 22 ราย โดยให้ colchicine ในรูปแบบรับประทาน ขนาด 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลานาน 2-4 เดือน ผลการศึกษาพบว่าการใช้ colchicine ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินจะให้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินในระดับไม่รุนแรง (mild psoriasis) กล่าวคือมีรอยโรคในลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กและบาง (thin papules) และมีรอยโรคในลักษณะเป็นแผ่นบาง (thin plaques) เด่น โดยพบว่าผู้ป่วย 6 รายจาก 7 รายมีรอยโรคดีขึ้นหรือมีรอยโรคหายสนิทภายหลังจากการใช้ยา อีกทั้งยังพบว่าผู้ป่วย 2 ราย ที่มีรอยโรคชนิดแผ่นบาง (thin plaque-type) บริเวณข้อพับมีผลการตอบสนองต่อ colchicine ในระดับดีมาก กล่าวคือมากกว่าร้อยละ 75 ของรอยโรคหายสนิท และไม่มีผู้ป่วยคนใดที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย colchicine ในระดับเลว แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเรื้อรังที่มีผื่นลักษณะเป็นแผ่นหนา (stable thick plaque-type) โดยพบว่ามีผู้ป่วยเพียงแค่ 1 รายจากผู้ป่วยทั้งหมด 12 ราย ที่ตอบสนองต่อการรักษา ในขณะที่ผู้ป่วย 8 รายจาก 12 ราย ตอบสนองต่อการรักษาในระดับเลว แม้จะพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคันลดลง รวมถึงรอยโรคมีรอยแดงและสะเก็ดลดลง เมื่อพิจารณาผลของการใช้ colchicine ในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินร่วมกับมีภาวะข้ออักเสบ จำนวน 8 ราย ผลพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดข้อลดลง และเมื่อพิจารณาผลลัพธ์ในเรื่องการลดอาการคันในผู้ป่วยที่มีอาการคันจำนวน 3 ราย พบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีอาการคันลดลงอย่างเห็นได้ชัดขณะที่ได้รับ colchicine อีกทั้งยังได้มีการศึกษาผลของ colchicine สำหรับการใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคสะเก็ดเงินกำเริบ (prophylactic schedule) โดยให้ผู้ป่วย 5 รายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเรื้อรังที่มีผื่นลักษณะเป็นแผ่นหรือเป็นสะเก็ดเงินในระยะคงที่ (extensive, chronic, stable plaque-type psoriasis) รับประทาน colchicine ทันทีภายหลังจากรอยโรคหายสนิทโดยให้รับประทาน colchicine ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธี Goeckerman’s method หรือควบคู่กับการรับประทานยา methotrexate พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 4 รายที่ได้มีการรับประทาน colchicine อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 8-9 เดือนและไม่พบการกำเริบของรอยโรคอย่างรุนแรงขณะใช้ยา พบแค่ผื่นลักษณะตุ่มนูนขนาดเล็ก (papules) ไม่กี่ตำแหน่งบริเวณข้อศอกและหลัง ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก (topical steroid) แต่ในขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ป่วย 1 รายที่มีการกำเริบของโรคภายหลังจากการใช้ colchicine มาเป็นระยะเวลานาน 4 เดือน อย่างไรก็ตามรอยโรคที่กำเริบขึ้นมาใหม่มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของรอยโรคเดิมที่ผู้ป่วยเคยเป็น

นอกจากนี้ยังพบการศึกษาประสิทธิภาพของยา colchicine ในผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคกลุ่มภูมิแพ้ จากการศึกษารูปแบบ retrospective study ของ Craido และคณะ(9) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้ colchicine ในรูปแบบรับประทานขนาด 1.0 มิลลิกรัม/วัน ในผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง 12 รายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮิสทามีน รวมถึงไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮิสทามีนควบคู่กับสเตียรอยด์รูปแบบรับประทานในขนาดสูงสุดเป็นระยะเวลาสั้น (prednisone 20-40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3-7 วัน/เดือน) ผลพบว่าภายหลังจากรับประทาน colchicine 1.0 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับ prednisone 20-40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลานาน 3-7 วัน/เดือน ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการโรคลมพิษเรื้อรังได้ดีขึ้น โดยคะแนนของอาการโรคลมพิษเรื้อรังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมก่อนที่จะทำการรักษามีค่าเท่ากับ 5.00 ± 0.81 ลดลงเหลือ 1.09 ± 1.92 ภายหลังจากการรักษา (p < 0.01) และระยะเวลาที่ให้ผลในการรักษา คือ 30 ถึง 90 วัน (mean: 46.84 ± 20.76) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษารูปแบบ retrospective ของ Pho และคณะ(10) ที่ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ colchicine ในผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังทั้งหมด 36 ราย พบว่าผู้ป่วย 15 รายตอบสนองต่อการรักษาแบบสมบูรณ์ (complete response) และอีก 5 ราย ตอบสนองต่อการรักษาบางส่วน (partial response) แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 3 รายต้องหยุดการใช้ colchicine เนื่องจากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการท้องเสีย และพบว่าผู้ป่วย 4 รายเกิดการกำเริบซ้ำของผื่นลมพิษภายหลังจากหยุดยา

ในขณะที่ Nabavizadeh และคณะ(11) ได้ทำการศึกษารูปแบบ double blind randomized controlled เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการใช้ colchicine ร่วมกับยาต้านฮิสทามีน ในการรักษาภาวะผื่นลืมพิษเรื้อรัง (chronic urticaria) โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วย euthyroid ที่มีอายุ 18-70 ปี ที่มีผลการตรวจภูมิคุ้มกันไทรอยด์เป็นบวก (positive anti-TPO) และมีระดับ thyroid stimulating hormone (TSH) อยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 55 ราย และมีการวัดผลโดยใช้ UQL-Q score ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระหว่างการศึกษา ผลพบว่าคะแนนคุณภาพชีวิต (UQL-Q score) ของผู้ป่วยที่ได้รับยา colchicine ร่วมกับยาต้านฮิสทามีน ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาต้านฮิสทามีนเดี่ยว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.291) หลังจากทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม UQL-Q score ของผู้ป่วยของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value < 0.001)

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ได้มีการแนะนำการใช้ colchicine เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการกลุ่มโรคภูมิแพ้ (allergic disease) รวมถึงกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune disease) ดังนั้นการการใช้ colchicine เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง
[1]. Colchicine. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: [updated 11 Nov 2023, cited 15 Nov 2023]. Available from oline.lexi.com.
[2]. สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. (2566). ข้อมูลยาสำหรับบุคลกากรทางการแพทย์ ยาคอลชิซิน ชนิดเม็ด. สืบค้น 10 ธันวาคม 2566, จาก https://ndi.fda.moph.go.th/drug_infopeople/detail.
[3]. สมาคมโรคภูมิแพ้โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบในคนไทย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: 2565:82-91.
[4]. สมาคมโรคภูมิแพ้โรคหืดและวิทยาคุ้มกันแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลผื่นภูมิแพ้โรคผิวหนัง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: 2557:6-17.
[5]. สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ๋ในประเทศไทย ปี 2566. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: 2566:11-13.
[6]. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: 2555:21-23.
[7]. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: 2557:27-37.
[8]. Dastoli S, Nisticò SP, Morrone P, et al. Colchicine in Managing Skin Conditions: A Systematic Review. Pharmaceutics. 2022;14(2):294. Published 2022 Jan 27. doi:10.3390/pharmaceutics14020294.
[9]. Wahba A, Cohen H. Therapeutic trials with oral colchicine in psoriasis. Acta Derm Venereol. 1980;60(6):515-520.
[10]. Pho LN, Eliason MJ, Regruto M, Hull CM, Powell DL. Treatment of chronic urticaria with colchicine. J Drugs Dermatol. 2011 Dec;10(12):1423-8.
[11]. Nabavizadeh SH, Babaeian M, Esmaeilzadeh H, Mortazavifar N, Alyasin S. Efficacy of the colchicine add-on therapy in patients with autoimmune chronic urticaria. Dermatol Ther. 2021 Nov;34(6):e15119. doi: 10.1111/dth.15119.
[12]. Criado RF, Criado PR, Martins JE, Valente NY, Michalany NS, Vasconcellos C. Urticaria unresponsive to antihistaminic treatment: an open study of therapeutic options based on histopathologic features. J Dermatolog Treat. 2008;19(2):92-96. doi:10.1080/09546630701499309.

วันที่ตอบ : 17 ม.ค. 67 - 15:18:04




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110