ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Glycerine borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีหรือไม่

Glycerine borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีหรือไม่ แล้วมียาตัวไหนที่สามารถใช้ทดแทนได้บ้าง และอยากทราบว่าโรคนี้ต่างจากโรคซางอย่างไร

[รหัสคำถาม : 487] วันที่รับคำถาม : 28 มี.ค. 66 - 14:10:59 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กลีเซอรีน บอแรกซ์ (glycerine borax) เป็นยาที่ใช้รักษาแผลในปาก (oral ulcer)[1] แก้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย[2] แผลร้อนใน (aphthous ulcers) และเยื่อบุช่องปากอักเสบ (stomatitis)[3] วิธีใช้ ให้ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง[2] ตัวยาจะอยู่ในรูปแบบยาน้ำใส (solution) ชนิดทาป้ายปาก โดยตัวยามีส่วนผสมของสารสำคัญ 2 ชนิด คือ บอแรกซ์ (borax) และ กลีเซอรีน (glycerin) ความเข้มข้นของยาจะขึ้นอยู่กับบริษัทที่ผลิตส่วนใหญ่มีความแรง 12 g/100 ml[1] บอแรกซ์ หรือโซเดียมบอเรต (sodium borate) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญการเติบโตของแบคทีเรียอย่างอ่อน
...
จากการศึกษากลไกและการออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อราของกรดบอริก (boric acid) ต่อการรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด พบว่า กรดบอริกมีผลยับยั้งเชื้อรา (fungistatic) โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้ง oxidative metabolism ทำให้ลดการสร้าง cellular ergosterol และยับยั้ง cytoskeleton ของเชื้อราได้[4] ทั้งนี้จากการแนวทางการรักษาโรคเชื้อราในช่องปากในปัจจุบัน ไม่พบการนำกลีเซอรีน บอแรกซ์มาใช้ในกรณีการรักษาการติดเชื้อราในช่องปาก อีกทั้งยังแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบเฉพาะที่เป็นทางเลือกแรกในการรักษา เช่น ยาอม clotrimazole[5]
...
โรคเชื้อราในช่องปาก (Oral candidiasis หรือ thrush) เกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans หรือมีการติดเชื้อราชนิดอื่น เช่น C. glabrata, C. dubliniensis และ C. krusei ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องปาก ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อHIV ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) และในผู้ป่วยผู้ใหญ่ หรือเด็กโตที่ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (inhaler corticosteroid) ใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ใช้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี[5-7] อีกทั้งยังพบการติดเชื้อราในช่องปากได้บ่อยในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[8-9] ผู้ที่ติดเชื้อราในช่องปากอาจไม่มีอาการ หรืออาจรู้สึกเหมือนมีฝ้าขาวที่เยื่อบุกระพุ้งแก้ม รู้สึกเป็นขุยสีขาวในปาก (cottony feeling) เพดานปาก หรือลิ้น ร่วมกับมีอาการเจ็บปาก แสบลิ้น สูญเสียการรับรส ปวดขณะกินอาหารหรือกลืน และมีเลือดออกได้เมื่อขูด ในเด็กเล็กอาจมีพฤติกรรมไม่ยอมกินหรือกลืนเนื่องจากมีอาการเจ็บ[5-7]
...
การรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก
1. Nystatin (100,000 units/mL) รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน: ป้ายบริเวณข้างในปากแต่ละข้าง หรือหากเด็กสามารถอมได้ให้อมกลั้วในปากโดยให้ตัวยาอยู่ในปากนานที่สุดก่อนกลืน วันละ 4 ครั้ง นาน 7 ถึง 14 วัน
1.1 เด็กเล็กน้อยกว่า 1 เดือน ใช้ยาขนาด 50,000 units นาน 5 ถึง 10 วัน[8]
1.2 เด็กทารก 1 -11 เดือน ใช้ยาขนาด 200,000 units (100,000 units ในแก้มแต่ละข้าง)[9]
1.3 เด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่ ใช้ยาขนาด 400,000 ถึง 600,000 units[7,9]
2. Clotrimazole* ขนาด 10 mg รูปแบบยาอม: อมครั้งละ 1 เม็ดให้ละลายช้า ๆ วันละ 5 ครั้ง นาน 7-14 วัน[7,9]
*หมายเหตุ Clotrimazole รูปแบบยาอม ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เนื่องจากอาจเกิดการสำลักระหว่างใช้ยาได้[9]
3. Fluconazole ชนิดรับประทาน วันละครั้ง นาน 7-14 วัน (ใช้ในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องกรณีไม่ตอบสนองต่อยาเฉพาะที่ และกรณีมีอาการปานกลางถึงรุนแรง)
3.1 ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 เดือน ใช้ขนาด 3 mg/kg[8]
3.2 ในเด็กทารก 1 -12 เดือน ใช้ขนาด 3 ถึง 6 mg/kg (ขนาดยาสูงสุด 200 mg)[9]
3.3 ในเด็กอายุมากกว่า 12 เดือนขึ้นไป ใช้ยาขนาด 6 mg/kg วันละครั้ง ในวันแรก ((ขนาดยาสูงสุด 200-400 mg (เด็กที่สัมผัสหรือติดเชื้อ HIV)) ตามด้วยขนาดยา (3 mg/kg) วันละครั้งในวันถัดไป[9]
3.4 ในผู้ใหญ่ ใช้ยาขนาด 200 mg ครั้งละ 1 เม็ด ในวันแรก ตามด้วยขนาด 100-200 mg วันละครั้งในวันถัดไป[7]
...
แนะนำการใช้ยา Clotrimazole รูปแบบยาอม หรือ Miconazole เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่ายา Nystatin รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน[7] ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของแบบ meta-analysis ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาต้านเชื้อราชนิดต่าง ๆ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อราภายในช่องปาก โดยรวบรวมการศึกษาแบบ randomized controlled trials(RCTs) จำนวน 31 การศึกษา ผลการวิเคราะห์ที่ศึกษาเปรียบเทียบยารูปแบบเฉพาะที่ พบว่า กลุ่มที่ได้ยา miconazole รูปแบบเจล และยาอม clotrimazole (troche) มีอัตราการรักษาให้ปราศจากเชื้อ (mycological cure rates) ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยา nystatin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ OR = 3.90 (95% Cl:1.40, 8.00) และ OR = 2.60 (0.39, 11.00) ตามลำดับ และมีอันดับของการมีประสิทธิภาพ (SUCRA values) ของ miconazole oral gel (76.9%) clotrimazole (64.8%) ซึ่งดีกว่าของ nystatin (15.7%) และ placebo (6.80%)[10]
...
ในส่วนของ “โรคซาง” หรือตานซาง จะมีอาการคือ เป็นฝ้า แผล ผื่น ซึ่งขึ้นในปากในคอมักจะเกิดในเด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ขึ้นไป มีลักษณะตัวร้อน เป็นแผลในปาก เพดาน ลิ้น เด็กจะกินนมไม่ได้ หรือเป็นเม็ดเป็นตามร่างกาย[11] ซึ่งรอยโรคดังกล่าวมีลักษณะเข้ากันได้กับโรคแผลร้อนใน (aphthous ulcer) ซึ่งเป็นแผลในปากที่มีลักษณะตื้นกลมหรือรี มีปกคลุมด้วยเยื่อสีขาวเหลือง ตรงรอยแผลจะเป็นสีเหลืองมักจะมีอาการปวดร่วมด้วย[12]
การรักษาโรคแผลร้อนใน (aphthous ulcer) การดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก โดยพยายามหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปาก เช่น ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม หรือใช้ยา Triamcinolone รูปแบบเฉพาะที่ ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็น
...
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า โรคซาง หรือโรคแผลร้อนใน มีความแตกต่างจากโรคการติดเชื้อราในช่องปากทั้งในลักษณะอาการ และการรักษา ซึ่งการใช้ยารักษาเชื้อราในช่องปากควรพิจารณายาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโดยมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้อย่างชัดเจนตามแนวทางการติดเชื้อราในช่องปาก

เอกสารอ้างอิง
[1]. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2565 [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก:http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national_detail/index/12463.
[2]. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1: แนวทางการตรวจรักษาโรคและการใช้ยาเล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2551.
[3]. National Center for Biotechnology Information. PubChem Compound Summary for CID 16211214, Borax. Retrieved November 27, 2022 from https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Borax.
[4]. De Seta F, Schmidt M, Vu B, Essmann M, Larsen B. Antifungal mechanisms supporting boric acid therapy of Candida vaginitis. J. Antimicrob Chemother. 2009;63(2):325-36.
[5]. Pappas PG, Kauffman CA, Andes DR, Clancy CJ, Marr KA, Ostrosky-Zeichner L, et al. Clinical Practice Guideline for the Management of Candidiasis: 2016 Update by the Infectious Diseases Society of America. Clin. Infect. Dis. 2016;62(4):e1-50.
[6]. Brown TER, Dresser L. Superficial Fungal Infections. In: DiPiro JT, Yee GC, Posey LM, Haines ST, Nolin TD, Ellingrod V, editors. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, 10e NY: McGraw-Hill Education; 2014.
[7]. Kauffman, CA. Oropharyngeal candidiasis in adults. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA, 2022.
[8]. Pammi, M. Treatment of Candida infection in neonates. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA, 2022.
[9]. Campbel, JR Palazzi, DL. Candida infections in children. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA, 2022.
[10]. Fang J, Huang B, Ding Z. Efficacy of antifungal drugs in the treatment of oral candidiasis: A Bayesian network meta-analysis. J. Prosthet Dent. 2021;125(2):257-265.
[11]. เกษรินทร์ เจริญสุข, สรรใจ แสงวิเชียร, ศุภะลักษณ์ ฟักคำ. การศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านในการรักษาโรค หละ ละอองซางในเด็ก. ว.วิชาการมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2565];17(2):185-93.
[12]. Lodi G. Oral lesions. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA, 2022.

วันที่ตอบ : 28 มี.ค. 66 - 16:19:41




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110