ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
แผ่นแปะแก้ปวด

แผ่นแปะแก้ปวด เช่น แผ่นแปะตราเสือ หรือ ซาลอนพลาส สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตรหรือไม่

[รหัสคำถาม : 488] วันที่รับคำถาม : 28 มี.ค. 66 - 14:22:58 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากยาบางชนิดสามารถผ่านรกได้และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ จึงควรใช้ยาในกรณีที่พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น เกิดประโยชน์จากการใช้ยามากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ โดยใช้ในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลการรักษาและใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น [1]
...
การระงับปวดในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยทั่วไปอาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดรูปแบบรับประทาน ได้แก่ Paracetamol, Aspirin, NSAIDs (เช่น Ibuprofen, Diclofenac) โดยยาในกลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในไตรมาสที่ 1 และ 3 เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ และยาในกลุ่ม Opioids (เช่น Morphine, Meperidine, Fentanyl) [1-3] หรืออาจจะใช้ Topical NSAIDs เป็นการรักษาทางเลือก เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่า [4] นอกจากนี้ยาบรรเทาอาการปวดที่ใช้ทาภายนอกที่พบได้บ่อย ยังมีตัวยาสำคัญอื่น ๆ เช่น Methyl salicylate, Menthol, Camphor, Capsaicin เป็นต้น [5] มีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ครีม, ขี้ผึ้ง รวมถึงแผ่นแปะแก้ปวด [4] ซึ่งในแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีอัตราส่วนตัวยาสำคัญที่แตกต่างกันไป ชื่อการค้าของแผ่นแปะแก้ปวดที่มีตัวยาสำคัญดังกล่าวที่พบบ่อยมีดังนี้ Counterpain [5,6], Mentopas, Neobun, Chilli Brand, Salonpas และ Tiger Balm [5] โดยตัวยาสำคัญ Methyl salicylate และ Camphor มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่งผลให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม Menthol มีฤทธิ์เย็น ดังนั้นการรวมกันของ Methyl salicylate และ Menthol ช่วยต้านการระคายเคืองได้ [7] และ Capsaicin ออกฤทธิ์ลด/ป้องกันการสะสมของ substance P ทำให้ไม่สามารถส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองได้ [8] ตัวยาสำคัญเหล่านี้มักนำมาผสมกันเพื่อให้ได้ยาแก้ปวดออกฤทธิ์เฉพาะที่ มีข้อบ่งใช้สำหรับการบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ [7,8] โดยจากการศึกษารูปแบบ Randomized, double-blind ของคุณ Higashi และคณะ พบว่าการใช้แผ่นแปะที่มี Methyl salicylate และ Menthol เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแผ่นแปะยาหลอก [9] ตัวยาสำคัญเหล่านี้มีอัตราการดูดซึมทางผิวหนังค่อนข้างต่ำ และไม่มีรายงานการเกิดอันตรายของทารกในครรภ์หรือทำให้เกิดความบกพร่องแต่กำเนิดเมื่อให้ยาทางผิวหนัง สามารถใช้ได้ด้วยความระมัดระวังในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร [8,10] แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาต่อเด็กในครรภ์หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดได้ [7]
...
ดังนั้น แผ่นแปะแก้ปวด เช่น แผ่นแปะตราเสือ (Tiger balm), Salonpas, Counterpain, Neobun หรือยี่ห้ออื่น ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาต่อเด็กในครรภ์หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดได้ บริหารยาโดยใช้แผ่นแปะ 1 แผ่นกับบริเวณที่ปวด ใช้ได้สูงสุด 3-4 ครั้ง/วัน ตามต้องการ นำแผ่นแปะออกหลังจากใช้ไปแล้ว 8 ชั่วโมง หากเกิดการระคายเคือง ให้ดึงแผ่นแปะออกและอย่าแปะซ้ำจนกว่าอาการระคายเคืองจะทุเลาลง หยุดใช้หากอาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ผื่นแดง ระคายเคืองผิวหนัง ชา แสบร้อน บริเวณที่ใช้แผ่นแปะ โดยทั่วไปความไวต่ออาการเหล่านี้จะลดลงเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง [7,8]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Nagpal G, Peralta FM, Rathmell JP. Practical Management of Pain Sixth Edition; Management Pain During Pregnancy and Lactation. Chapter 45, P.647-662 (Accessed on Nov. 22, 2022).
[2]. Babb M, Koren G, Einarson A. Treating pain during pregnancy. Can Fam Physician. 2010 Jan;56(1):25, 27. (Accessed on Nov. 19, 2022).
[3]. Briggs GG, Freeman RK. Drugs in Pregnancy and Lactation, tenth Edition. Wolters Kluwer. P.92, 233, 395, 682, 707, 854, 859, 955, 1127, 1299.
[4]. Rutter P. Community Pharmacy; Musculoskeletal conditions. Chapter 9, P.299-319 (Accessed on Nov. 22, 2022).
[5]. National Drug Information. ข้อมูลยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพร. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. สืบค้นจาก: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565.
[6]. MIMs Thailand. Counterpain. Available at: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Counterpain&mtype=brand. (Accessed on Nov. 22, 2022).
[7]. Gold standard. Drug Monograph: Camphor; Menthol; Methyl Salicylate. In: ClinicalKey. Elsevier; 2022. Available at: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-2307. (Accessed on Nov. 20, 2022).
[8]. Gold standard. Drug Monograph: Capsaicin; Menthol. In: ClinicalKey. Elsevier; 2022. Available at: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-2309scrollTo=%23Contraindications-and-Precautions_section-3. (Accessed on Nov 19, 2022).
[9]. Higashi Y, Kiuchi T, Furuta K. Efficacy and safety profile of a topical methyl salicylate and menthol patch in adult patients with mild to moderate muscle strain: a randomized, double-blind, parallel-group, placebo-controlled, multicenter study. Clin Ther. 2010 Jan;32(1):34-43. (Accessed on Nov. 20, 2022).
[10]. Teratogenic Alsaad AM, Fox C, Koren G. Toxicology and teratology of the active ingredients of professional therapy MuscleCare products during pregnancy and lactation: a systematic review. BMC Complement Altern Med. 2015 Mar. 5;15:40.


วันที่ตอบ : 28 มี.ค. 66 - 20:35:37




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110