ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ใช้ยาเหน็บช่องคลอดแล้วเผลอไปมีเพศสัมพันธุ์กับแฟนแล้วมีเม็ดยาติดออกมา เกิดอาการคั

ใช้ยาเหน็บช่องคลอดแล้วเผลอไปมีเพศสัมพันธุ์กับแฟนแล้วมีเม็ดยาติดออกมา เกิดอาการคันเหมือนเดิมต้องเหน็บยาอีกครั้งหรือต้องกินยาคะ

[รหัสคำถาม : 49] วันที่รับคำถาม : 26 ม.ค. 63 - 21:04:41 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผู้ถามมีอาการคันบริเวณช่องคลอด ซึ่งอาการคันช่องคลอดในผู้หญิง มีสาเหตุหลัก [1] ได้แก่
1. ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) ซึ่งผู้ป่วยหญิงมักมีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีตกขาวสีเหลืองเขียว และอาจมีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ โดยการรักษาที่แนะนำตามแนวทางการรักษาของ Centers for Disease Control and Prevention ได้แก่
1.1 Metronidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
1.2 Tinidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว [2]
2. ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา (Vulvovaginal Candidiasis) ผู้ป่วยหญิงมักมีอาการคัน ปวดในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะแสบขัด และตกขาวผิดปกติ โดยการรักษาที่แนะนำตามแนวทางการรักษาของ Centers for Disease Control and Prevention แบ่งออกเป็น
2.1 ยาที่ใช้เฉพาะที่ โดยใช้ตัวใดตัวหนึ่ง ได้แก่
2.1.1 Clotrimazole cream 5 กรัม ทาในช่องคลอด
2.1.2 Miconazole cream 5 กรัม ทาในช่องคลอด
2.1.3 Tioconazole ointment 5 กรัมทาในช่องคลอดครั้งเดียวโดยใช้เครื่องมือช่วยสอด
2.1.4 Butoconazole cream 5 กรัม ทาในช่องคลอดครั้งเดียวโดยใช้เครื่องมือช่วยสอด
2.1.5 Terconazole cream 5 กรัม ทาในช่องคลอด
2.1.6 Terconazole 80 มิลลิกรัม สอดช่องคลอด
2.2 ยารับประทาน ได้แก่ Fluconazole 150 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว [3]
แต่การรักษาตามแนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 ของประเทศไทยระบุว่าให้ใช้ยาเหน็บ Clotrimazole 500 mg สอดช่องคลอดครั้งเดียว หรือ Clotrimazole 100 มิลลิกรัม 2 เม็ด สอดช่องคลอด วันละ 1 ครั้ง นาน 3 วัน หรือยารับประทาน Fluconazole 150 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว หลังอาหาร หรือ Itraconazole 200 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 1 วัน ตัวใดตัวหนึ่ง [7]
3. ช่องคลอดอักเสบในหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งหญิงวัยหมดประจำเดือนอาจเกิดอาการช่องคลอดแห้งได้ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและคัน โดยแนวทางการรักษาที่แนะนำในการรักษาช่องคลอดอักเสบในหญิงวัยหมดประจำเดือน คือ การใช้สารหล่อลื่นและสารให้ความชุ่มชื่น เช่น K-Y Jelly [4]
4. โรคพยาธิเส้นด้าย อาการที่สำคัญคือ คันบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเกา การติดเชื้อแบคทีเรีย ช่องคลอดอักเสบในเพศหญิง อาการอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ปัสสาวะรดที่นอน นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หงุดหงิด ปวดท้อง ไส้ติ่งอักเสบ [5] ยาที่ใช้ในการรักษาพยาธิเส้นด้าย คือ Mebendazole, Pyrantel pamoate, หรือ Albendazole [6]
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคันและใช้ยาเหน็บประกอบกับข้อมูลของผู้ป่วยมีจำกัด จึงขอยกตัวอย่างยาที่ใช้อาจเป็นยาเหน็บ Clotrimazole 500 mg สอดช่องคลอดครั้งเดียว หรือ Clotrimazole 100 mg 2 เม็ด สอดช่องคลอด วันละ 1 ครั้ง นาน 3 วัน แบบใดแบบหนึ่ง
Watson และคณะ (2009) ได้ทำการศึกษาแบบ systematic review เปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาเชื้อราของยารับประทานและยาเหน็บช่องคลอดในกลุ่ม imidazole และ triazole เมื่อทำการรักษาเพียงครั้งเดียวในกลุ่มคนที่เป็นช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา พบว่าการใช้ยา Fluconazole 150 mg รับประทานครั้งเดียว หลังอาหาร มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ยา Clotrimazole 500 mg สอดช่องคลอดครั้งเดียว โดยผลการรักษาในระยะสั้นมี OR 1.00 (95% CI, 0.72 - 1.40) และผลการรักษาในระยะยาวมี OR 1.03 (95% CI, 0.72 - 1.49) [7] การรักษาช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่มักไม่ค่อยพบผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะ แต่จะพบอาการแสบร้อนบริเวณที่ใช้หรือเกิดการระคายเคืองได้ ส่วนยารับประทานอาจจะทำให้เกิดการอาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว และส่งผลให้เอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้นได้ [8]
Emilia และ Katarzyna (2013) ได้ทำการศึกษาระยะเวลาในการละลายของยาเหน็บ Clotrimazole โดยจำลองให้มีสภาวะที่ความเป็นกรด-ด่างใกล้เคียงกับในช่องคลอด (ระดับความเป็นกรด-ด่างในช่องคลอดมีค่า 4.2) พบว่า เมื่อใช้สารตัวกลางเป็น acetate buffer มีระดับความเป็นกรด-ด่าง 5.2 จะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 20 นาที เม็ดยาจึงละลายได้ 80% [9]
จากการศึกษาข้างต้นไม่ว่าผู้ป่วยจะใช้ยาเหน็บหรือยารับประทานล้วนให้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ใกล้เคียงกัน แต่การใช้ยาเหน็บสามารถถูกดูดซึมได้เพียง 3% ส่งผลให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาที่มีความรุนแรงต่ำกว่ายารับประทาน [10] เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของผู้ป่วยที่ระบุว่า เมื่อเหน็บยาไปแล้วมีเพศสัมพันธ์กับแฟน และมีเม็ดยาติดออกมา ซึ่งอาจเกิดจาก
1. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้เว้นช่วงให้ยาเหน็บละลาย เนื่องจากยาเหน็บจะต้องใช้ระยะเวลาในการละลายอย่างน้อย 20 นาที จึงจะละลายได้ 80% [9]
2. ผู้ป่วยมีวิธีการใช้ยาเหน็บที่ไม่ถูกต้อง โดยการใช้ยาเหน็บที่ถูกต้องมีขั้นตอนดังนี้ ลำดับแรกล้างมือให้สะอาด แกะเม็ดยาและจุ่มเม็ดยาในน้ำสะอาด 1-2 วินาที เพื่อให้เม็ดยาลื่นสอดใส่ช่องคลอดได้ง่าย ท่าทางในการสอดยาโดยให้ “นอนหงาย ชันเข่า แยกขา” จากนั้นสอดยาเข้าไปในช่องคลอดโดยนำด้านโค้งมนของเม็ดยาเข้าไปก่อนและใช้นิ้วชี้ดันยาเหน็บให้ลึกที่สุด นอนที่เดิมต่ออย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ยาละลายและปลดปล่อยตัวยาสำคัญออกมา [9],[11] แนะนำใช้กระดาษทิชชู่สะอาดหรือผ้าอนามัยรองกางเกงในไว้เพื่อซับส่วนของยาที่อาจละลายออกมาควรเหน็บยาก่อนนอนจะสะดวกที่สุด [12]
ดังนั้น การที่ผู้ป่วยใช้ยาเหน็บช่องคลอดแล้วมีเพศสัมพันธ์กับแฟนแล้วมีเม็ดยาติดออกมา เกิดอาการคันเหมือนเดิม จึงแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเหน็บอีกครั้ง โดยปฏิบัติตามวิธีการใช้ยาเหน็บที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการรักษาอย่างสูงสุด แต่หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดและหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการคันช่องคลอดของผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง
[1] สุรเกียรติ อาชานุภาพ. (2551). แผนภูมิที่ 57 ตกขาว(leukorrhea)/คันในช่องคลอด : ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป เล่ม 1 , 189-91.
[2] Centers for Disease Control and Prevention. Trichomoniasis [Internet]. 2015 [cited 2020 January 8]. Available from : https://www.cdc.gov/std/tg2015/trichomoniasis.htm.
[3] Centers for Disease Control and Prevention. Vulvovaginal Candidiasis [Internet]. 2015 [cited 2020 January 8]. Available from: https://www.cdc.gov/std/tg2015/candidiasis.htm.
[4] National Institute for Health and Care Excellence (2019) Menopause: diagnosis and management. Available at: https://www.nice.org.uk/guidance/ng23/resources/menopause-diagnosis-and-management-pdf-1837330217413 [Accessed 12 January 2020].
[5] Centers for Disease Control and Prevention. Enterobiasis [Internet]. 2016 [cited 2020 January 12]. Available from: https://www.cdc.gov/dpdx/enterobiasis/.
[6] Centers for Disease Control and Prevention. Parasites - Enterobiasis (also known as Pinworm Infection):treatment [Internet]. 2016 [cited 2020 January 12]. Available from: https://www.cdc.gov/parasites/pinworm/treatment.html.
[7] ภูโมกข์ อัมพวา,วิชญ์ แสงสุวรรณ. 3.14 เชื้อราในช่องคลอด
Vulvovaginal Candidiasis. ใน: นิสิต คงเกริกเกียรติ, รสพร กิตติเยาวมาลย์, เอกชัย แดงสะอาด, บรรณาธิการ. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. พิมพค์รั้งที่1. กรุงเทพฯ:อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2558. หน้า 69-71.
[8] Watson MC, Grimshaw JM, Bond CM, Mollison J, Ludbrook A. Oral versus intra-vaginal imidazole and triazole anti-fungal treatment of uncomplicated vulvovaginal candidiasis (thrush) (Review). Cochrane Database of Systematic Reviews 2007, Issue 4. Art. No.: CD002845.
[9] Szymanska E., Winnicka K. Comparison of Flow-Through Cell and Paddle Methods for Testing Vaginal Tablets Containing a Poorly Water-Soluble Drug. Trop J Pharm Res. [Internet]. 2013 [cited 2020 January 13 ;12 (1):39-44. Available from: https://www.researchgate.net/publication/274446341.
[10] Krinsky DL, Berardi RR, Ferreri SP, Hume AL, Newton GD, Rollins CJ, et al. Handbook of Nonprescription Drugs. 17th. Washington DC.: American Pharmacists Association; 2012.
[11] Villiers MD. Suppository Bases. Aptara Inc. [Internet]. 2009 [cited 2020 January 8]; 24:291-7. Available from: https://www.researchgate.net/publication/318380307.
[12] World Health Organization. CHECKLIST 11. Vaginal tablet without applicator [Internet]. 2019 [cited 2020 January 12]. Available from:https://apps.who.int/medicinedocs/en/d/J
whozip23e/7.3.11.html

วันที่ตอบ : 26 ม.ค. 63 - 21:09:58




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110