ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สอบถามขนาดยาที่เหมาะสมและวิธีปฏิบัติตัว

ผู้ป่วยมีอาการปวดตามปลายเส้นประสาท แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดปลายเส้นประสาทจากโรค Guillain-Barre syndrome โดยผู้ป่วยยังไม่เคยได้รับยาใดๆ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เบื้องต้นแพทย์ได้แจ้งผู้ป่วยว่าต้องการใช้ยา gabapentin เพื่อลดอาการปวดปลายเส้นประสาทแต่ไม่ทราบว่าต้องใช้ในขนาดเท่าใด จึงอยากขอคำแนะนำในเรื่องขนาดยาที่เหมาะสม และข้อควรระวังพร้อมทั้งการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยในการรักษา

[รหัสคำถาม : 490] วันที่รับคำถาม : 28 มี.ค. 66 - 14:34:53 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Guillain-Barré syndrome (GBS) เป็นโรคที่มีการอักเสบของปลอกหุ้มของเส้นประสาทหลายเส้นอย่างเฉียบพลัน มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือการได้รับวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาการที่พบบ่อยในโรคนี้ ได้แก่ มีอาการอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน อาการปวดปลายประสาท [1,2,3]

หลักการรักษาอาการปวดปลายประสาท (neuropathic pain) จากโรค Guillain-Barre syndrome ให้รักษาตามอาการปวดและพยาธิสรีรวิทยาที่เป็นสาเหตุซึ่งมักไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่มี neuropathic pain จากสาเหตุอื่น [3,5] จาก American Academy of Pain medicine 2019 [4] และคำแนะนำเวชปฏิบัติในภาวะปวดเหตุพยาธิสภาพประสาท พ.ศ. 2563 [5] ยาที่เป็น first-line สําหรับรักษา neuropathic pain คือ ยากลุ่ม Tricyclic antidepressants (Nortriptyline, Amitriptyline) ยากลุ่ม Serotonin norepinephrine reuptake inhibitors (Duloxetine, Venlafaxine) และ Gabapentinoids (Gabapentin, Pregabalin)

จากการศึกษาของคุณ Kancherla, Nagaraju และคณะพบว่ายา pregabalin gabapentin และ Amitriptyline มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการบรรเทาอาการปวดใน Neuropathic pain แต่ pregabalin มีประสิทธิภาพในการลดมาตราส่วนระดับความเจ็บปวดเชิงตัวเลข (NPRS) มากที่สุด [10] และจากการศึกษาของ Lanying Jiang และคณะเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง duloxetine กับ gabapentin พบว่ายาทั้งสองชนิดไม่มีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนในการรักษาอาการปวดประสาทส่วนปลาย แต่ gabapentin มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและความปลอดภัยที่สูงกว่าอย่างมีนัยสําคัญ [11] ดังนั้นยาที่แนะนำในการรักษา neuropathic pain คือ ยากลุ่ม Gabapentinoid ได้แก่ Gabapentin และ Pregabalin โดยขนาดยา Gabapentin ที่แนะนำ คือ 100-3600 mg/day หากเป็นยารูปแบบ Immediate release: เริ่มต้นด้วยขนาด 100-300 mg ให้วันละ 1-3 ครั้ง โดยค่อยๆปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นขึ้นกับ response และ tolerability ของผู้ป่วยโดยปรับเพิ่มครั้งละ 100-300 มิลลิกรัม ทุก 7 วัน [7] จนได้ผลการรักษาที่เหมาะสม ขนาดยาเป้าหมาย คือ 300 mg - 1.2 g วันละ 3 ครั้ง ยารูปแบบ Extended release: เริ่มต้นด้วยขนาด 300 mg ให้วันละครั้งก่อนนอน โดยค่อยๆปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นขึ้นกับ response และ tolerability ของผู้ป่วย โดยขนาดยาเป้าหมาย คือ 900 mg – 3.6 g วันละครั้ง [6] ส่วนยา Pregabalin เริ่มต้นด้วยขนาด 25 mg ให้วันละครั้ง โดยค่อยๆปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นขึ้นกับ response และ tolerability ของผู้ป่วยโดยปรับเพิ่มครั้งละ 25-150 mg/day ทุกสัปดาห์จนได้ผลการรักษาที่เหมาะสม ขนาดยาเป้าหมาย คือ 150 mg - 300 g วันละ 2 ครั้ง [7,12]

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากลุ่ม Gabapentinoid: วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม เหนื่อยล้า อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เพิ่มความเสี่ยงความคิดฆ่าตัวตาย บวมตามแขนขา เป็นไข้ ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย คันผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก ท้องอึด อาหารไม่ย่อย ตาพร่ามัว เยื่อบุตาอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ยาในผู้ที่มีประวัติเคยแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยานี้
ข้อควรระวังในการใช้ยา: Renal impairment: ใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางไต ต้องปรับขนาดยา, Substance abuse: ใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้สารเสพติด รวมถึงแอลกอฮอล์ กัญชา โคเคน และฝิ่น มีโอกาสเกิดการติดยาและเกิดอาการทางจิตได้ [6,8]
การปฏิบัติตัวเมื่อใช้ยา: ระมัดระวังการขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง, ห้ามหยุดยาเอง และให้กินยานี้อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร, พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษาหรืออันตรายจากยาและให้ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อเริ่มมีความรู้สึกซึมเศร้าหรืออยากทำร้ายตัวเอง, ระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรด เพราะอาจลดฤทธิ์ Gabapentin ถ้าจำเป็นควรกินห่างกัน 2 ชั่วโมง [9]
แนวทางการดูแลตัวเองในโรค Guillain Barre Syndrome: ปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาทั้งหมดที่แพทย์แนะนำ, ดูแลสุขภาพตัวเองพักผ่อน 7-9 ชั่วโมง, กินอาหารเพื่อสุขภาพ, หากสูบบุหรี่ให้พยายามเลิก, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด, ออกกำลังกาย, รักษาความสะอาดป้องกันการติดเชื้อ [3]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Michael T Andary. Guillain-Barre Syndrome. Updated: Jan. 14, 2022.
https://emedicine.medscape.com/article/315632-overview#showall. Accessed 20 Nov. 2022.
[2]. Pornchai Sathirapanya. Proper Treatment of Neuropathic Pain with Thais’ Economic Status. Songkla Med. J. 2016;34(2):93-102.
[3]. Peripheral Neuropathies, Including Guillain-Barré Syndrome." Harrison's Manual of Medicine, 20e Eds. J. Larry Jameson, et al. McGraw Hill, 2020, https://accessmedicine.mhmedical.com.
[4]. Bates D, Schultheis BC, Hanes MC, Jolly SM, Chakravarthy KV, Deer TR, Levy RM, Hunter CW. A Comprehensive Algorithm for Management of Neuropathic Pain. Pain Med. 2019 Jun. 1;20(Suppl 1):S2-S12.
[5]. สมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย. คำแนะนำเวชปฏิบัติภาวะปวดเหตุพยาธิสภาพประสาท (Clinical Guidance for Neuropathic Pain) พ.ศ. 2563. ธนาเรส จำกัด, กรุงเทพฯ, ;2563. 15-16.
[6]. Gabapentin. In: Geriatric Lexi-Drugs [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexi-Comp, Inc.; 2020 [cited Nov. 19, 2022]. Available from: https://online.lexi.com.
[7]. Alex Mu, Erica Weinberg, Dwight E. Moulin, Hance Clarke. Pharmacologic management of chronic neuropathic pain Canadian Family Physician Nov. 2017.
[8]. Gabapentin. Gold Standard. [updated 2020 Apr. 9; cited 2022 Nov. 24] In ClinicalKey [Internet]. Elsevier. Available at: https://www.clinicalkey.com.
[9]. สำนักคณะกรรมการอาหารและยา . Gabapentin. Available from: https://www.fda.moph.go.th/sites/oss/Shared%20Documents/PIL%2091%20-%20126/123-Gabapentin.pdf. Accessed 19 Nov. 2022.
[10]. Kancherla, Nagaraju & Babu, G. & Singh, Hukum & Khandelwal, Mayank & Sharma, Nitika & Kuma, Masuram. (2020). Comparative study of safety and efficacy of pregabalin, gabapentin and amitriptyline in management of neuropathic pain. International Journal of Basic & Clinical Pharmacology.
[11]. Lanying Jiang, Yadan Xiong, Jinguo Cui, "Comparison of the Efficacy and Safety of Duloxetine and Gabapentin in Diabetic Peripheral Neuropathic Pain: A Meta-Analysis", Contrast Media & Molecular Imaging, vol. 2022, Article ID 4084420, 9 pages, 2022.
[12]. Pregabalin. In: Geriatric Lexi-Drugs [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexi-Comp, Inc.; 2020 [cited Nov. 28, 2022]. Available from: https://online.lexi.com.


วันที่ตอบ : 28 มี.ค. 66 - 21:24:34




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110