ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สามารถหยุดกินยา prednisolone ได้เลยหรือไม่

เคยป่วยเป็นโรคไตอักเสบ แพทย์ให้การรักษาโดยให้ยาเพรดนิโซโลน 5 mg โดยเริ่มกินวันละ 6 เม็ด และลดยาลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือวันละ 1 เม็ด แต่ตอนนี้มีความต้องการหยุดกินยานี้ อยากทราบว่าจะต้องทำอย่างไร สามารถหยุดกินยาได้เลยหรือไม่

[รหัสคำถาม : 492] วันที่รับคำถาม : 28 มี.ค. 66 - 15:01:20 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Glomerulonephritis (GN) หรือไตอักเสบเกิดจากการบาดเจ็บของไตและใช้กับกลุ่มของโรคที่มักมีลักษณะเฉพาะคือการเปลี่ยนแปลงการอักเสบในเส้นเลือดฝอยของไต สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดไตอักเสบมีหลากหลาย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โรคที่มีการอักเสบทั่วร่างกาย ยา หรือพันธุกรรม สำหรับแนวทางการรักษาไตอักเสบสามารถทำได้หลายวิธีมักขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดโรค เช่น การรักษาตามอาการ (Supportive care) หรือการรักษาด้วยยากลุ่ม ACEIs/ARBs, Immunosuppressants หรือ Corticosteroids เป็นต้น [1]
.
โดยทั่วไปแล้วการใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ในระยะสั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ สามารถหยุดยาได้โดยไม่ต้องค่อยๆ ลดขนาดยาลง แต่ในผู้ป่วยโรคไตอักเสบที่จำเป็นต้องใช้เป็นระยะเวลานานเกิน 2 สัปดาห์จำเป็นต้องค่อยๆ ลดขนาดยาลงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะต่อมหมวกไตทำงานลดลง (Adrenal insufficiency) จากการหยุดยาอย่างกะทันหัน [2] เนื่องจากการได้รับกลูโคคอร์ติคอยด์จากภายนอกจะไปกดการหลั่ง Corticotropin Releasing Hormone (CRH) จากไฮโปทาลามัสและ Adrenocorticotrophic Hormone (ACTH) จากต่อมใต้สมอง [3] ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น [3,4] นอกจากอาการดังกล่าวแล้วยังมีการรายงานเคสผู้ป่วยชายอายุ 43 ปีที่หยุดใช้ยา
กลุ่ม Corticosteroids กะทันหันทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะด้วยลักษณะของไมเกรนรุนแรงคือปวดศีรษะฝั่งเดียว เป็นจังหวะ อาเจียน กลัวเสียง/แสง และหัวใจเต้นเร็วและเมื่อได้รับยากลุ่ม Corticosteroids อีกครั้งพบว่าอาการปวดหายได้ภายในหนึ่งวัน [5]
.
แนวทางการปรับลดขนาดยากลุ่ม Corticosteroids จะแตกต่างกันไปขึ้นกับ ขนาดยาตอนเริ่มต้น อายุ โรคประจำตัวร่วม ซึ่งโดยทั่วไปจะค่อยๆ ลดขนาดยาครั้งละประมาณ 10-20 % ดังนี้
• หากขนาดยาในตอนเริ่มต้นมากกว่า 40 mg/day ของ prednisone หรือเทียบเท่า (เช่น หากใช้ prednisone 60 mg/day จะเทียบเท่ากับการใช้ prednisolone 60 mg/day หรือ hydrocortisone 240 mg/day เป็นต้น) ให้ลดขนาดยา 5 - 10 mg/day ทุก 1-2 สัปดาห์
• ขนาดยา 20 – 40 mg/day ของ prednisone ให้ลดขนาดยา 5 mg/day ทุก 1-2 สัปดาห์
• ขนาดยา 10-20 mg/day ของ prednisone ให้ลดขนาดยา 2.5 mg/day ทุก 2-3 สัปดาห์
• ขนาดยา 5 – 10 mg/day ของ prednisone ให้ลดขนาดยา 1 mg/day ทุก 2-4 สัปดาห์
• ขนาดยาน้อยกว่า 5 mg/day ของ prednisone ให้ลดขนาดยา 0.5 mg/day ทุก 2-4 สัปดาห์ [2]
.
ในกรณีนี้ผู้ป่วยเคยรับประทานยา prednisolone 30 mg/day แล้วลดขนาดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ 5 mg/day แนะนำให้ปรับลดขนาดยา คือ เมื่อขนาดยาเทียบเท่ากับการใช้ prednisolone 5-10 mg/day ให้ปรับลดขนาดยา 1 mg/day ทุก 2-4 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อขนาดยาน้อยกว่า 5 mg/day ให้ปรับลด 0.5 mg/day ทุก 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการพิจารณาลดหรือหยุดยาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และควรติดตามอาการที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะต่อมหมวกไตทำงานลดลงอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งมาพบแพทย์และติดตามระดับคอร์ติซอลในตอนเช้าตามนัดทุกครั้งจึงจะถือว่าการปรับลดหรือหยุดยาเสร็จสมบูรณ์
.
เอกสารอ้างอิง
[1]. Levy J, Glomerulonephritis. In: BMJ Best Practice [Internet]. London: BMJ Best Practice; 2022 [updated 2022 August; cited 2022 November 19]. Available from: BMJ Best Practice.
[2]. Furst DE, Saag KG. Glucocorticoid withdrawal. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on November 19, 2022.).
[3]. Sandeep L. Steroid therapy in adrenal insufficiency. J. Anal. Pharm. Res. [Internet]. 2017 [cited 2022 November 30];6(1):62–5. Available from: https://medcraveonline.com/JAPLR/steroid-therapy-in-adrenal-insufficiency.html.
[4]. Pelewicz K, Miskiewicz P. Glucocorticoid withdrawal-an overview on when and how to diagnose adrenal insufficiency in clinical practice. Diagnostics (Basel) [Internet]. 2021;11(4):728. Available from: http://dx.doi.org/10.3390/diagnostics11040728.
[5]. Chirchiglia D, Chirchiglia P, Mizio GD, Gallelli L, et al. Severe migraine-like headache as unique symptom of steroid withdrawal syndrome betamethasone-induced in lumbar disc herniation. Rom. J. Neurol. 2019;18(2):82–5.

วันที่ตอบ : 28 มี.ค. 66 - 15:58:45




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110