ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ERIG สามารถฉีดโดยไม่ต้องคำนวณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้หรือไม่

ผู้ป่วยชาย อายุ 49 ปี น้ำหนัก 65 kg ไม่มีโรคประจําตัว มีประวัติแพ้ยา tetracycline โดย 1 วันก่อนมา ร.พ. ผู้ป่วย ถูกหมากัดที่แขน โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับการฉีด ERIG เพียง 300 IU จึงอยากทราบว่าเราสามารถฉีดโดยไม่คํานวณตามน้ำหนักตัว ของผู้ป่วยได้หรือไม่ และการฉีด ERIG เพียง 300 IU มีความเหมาะสมหรือไม่

[รหัสคำถาม : 493] วันที่รับคำถาม : 28 มี.ค. 66 - 15:31:32 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Equine Rabies Immunoglobulin (ERIG) เป็นอิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มม้า ใช้ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ที่สัมผัสเชื้อกรณีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนและเกิดบาดแผลที่มีเลือดออกชัดเจน โดยเฉพาะบาดแผลบริเวณ ศีรษะ คอ และมือ[1], [2], [3] แต่การฉีดอิมมูโนโกลบูลินเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับวัคซีนนั้นไม่แนะนำ เพราะไม่ใช่การรักษาหลัก เป็นเพียงภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแค่ชั่วคราวเท่านั้น หากมีการกำจัดเชื้อไม่หมดหรือมีการสัมผัสเชื้อซ้ำในอนาคต ก็อาจทำให้เกิดเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ [1], [2] โดยขนาดสูงสุดของการฉีด ERIG คือ 40 IU/kg [4] การฉีดไม่จำเป็นต้องฉีดตามน้ำหนัก สามารถการฉีดในขนาดที่ต่ำกว่านั้นได้โดยไม่ได้มีการระบุขนาดต่ำสุดของการฉีดไว้อย่างชัดเจน จึงควรฉีดบริเวณรอบบาดแผลทุกแผลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ [1], [[3] แต่ก็ไม่ควรฉีดเกินจากขนาดที่แนะนำ เพราะจะไปกดการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน หากมียาเหลือไม่จำเป็นต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก [1], [2], [3] ส่วนกรณีที่บาดแผลกว้าง และมีปริมาณยาไม่เพียงพอที่จะฉีดได้ครบทุกบาดแผล ให้เพิ่มปริมาณด้วยการผสมกับ น้ำเกลือ (NSS) ประมาณ 2-3 เท่า จนพอที่จะฉีดได้ครบทุกแผล [1], [2]

มีการศึกษาจากประเทศอินเดียที่ทำในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ผลที่ได้คือ การลดขนาด ERIG สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ในหลอดทดลองได้และในสัตว์ทดลองก็มีเปอร์เซนต์ของการรอดชีวิตที่สูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะลดขนาดอิมมูโนโกลบูลินต่อโรคพิษสุนัขบ้าลงจากขนาดที่แนะนำในปัจจุบัน [5] หลังจากนั้นได้มีการศึกษาที่ทำในประเทศอินเดียเช่นเดียวกันเกี่ยวกับการลดปริมาณการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน เพื่อดูการรอดชีวิตในผู้สัมผัสเชื้อที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าสุนัขที่กัดมีเชื้อพิษสุนัขบ้า จำนวน 26 ราย ซึ่งผลที่ได้คือผู้สัมผัสเชื้อพิษสุนัขบ้าทั้ง 26 รายนั้นรอดชีวิตมาได้หนึ่งปีหรือมากกว่านั้น และไม่มีผู้ป่วยรายใดที่เป็นอัมพาตจากโรคพิษสุนัขบ้า แสดงให้เห็นว่าการฉีด ERIG ที่ไม่ได้ฉีดตามขนาดที่แนะนำและฉีดเฉพาะบริเวณที่มีบาดแผลอย่างเดียวอาจป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนอิมมูโนโกลบูลิน [6] แต่การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ทำในสัตว์ทดลองขนาดใหญ่และไม่ได้มีการศึกษาเชิงทดลองในมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นคำแนะนำในการลดขนาดอิมมูโนโกลบูลินในมนุษย์ได้ [5], [6]

ดังนั้นในการพิจารณาว่าการที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับ ERIG ไปเพียง 300 IU ซึ่งเป็นขนาดที่ต่ำกว่าแนวทางการรักษาแนะนำ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ควรพิจารณาจากความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าของสุนัขที่กัด, จำนวนบาดแผล, ขนาดของบาดแผล และปริมาณ ERIG ที่มีอยู่ขณะนั้นว่าเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดขนาดต่ำสุดในการฉีดและยังมีไม่การศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการลดขนาด ERIG เทียบกับขนาดที่ใช้ทั่วไปในมนุษย์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยรายนี้ควรได้รับการฉีดวัคซีนร่วมด้วย เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง
[1]. คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2561 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก http://202.28.95.4/pharmacy/myfile/Rabies%20book%202018%204-09-2018%20ok.pdf.
[2]. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า และคำถามที่พบบ่อย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER28/DRAWER068/GENERAL/DATA0000/00000698.pdf.
[3]. World Health Organizations. Rabies vaccines and immunoglobulins [internet]. [cited 2022 November 20]. Available from: https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/259855/WHO-CDS-NTD-NZD-2018.04-eng.pdf.
[4]. Catherine MB, Alfred D. Jr. Rabies immune globulin and vaccine [Internet]. UpToDate; 2022 [cited 2022 November 20]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/rabies-immune-globulin-and-vaccine?search=rabies%20immunoglobulin&source=search_result&selectedTitle=2~36&usage_type=default&display_rank=3.
[5]. Madhusudana, S. N., Ashwin, B. Y., & Sudarshan, S. (2013). Feasibility of reducing rabies immunoglobulin dosage for passive immunization against rabies: results of In vitro and In vivo studies. Human vaccines & Immunotherapeutics, 9(9), 1914–1917. https://doi.org/10.4161/hv.25431.
[6]. Bharti, O. K., Madhusudana, S. N., & Wilde, H. (2017). Injecting rabies immunoglobulin (RIG) into wounds only: A significant saving of lives and costly RIG. Human vaccines & Immunotherapeutics, 13(4), 762–765. https://doi.org/10.1080/21645515.2016.1255834.
วันที่ตอบ : 28 มี.ค. 66 - 21:26:59




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110