ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สิวหลัง

สวัสดีค่ะ มีสิวหลังขึ้นหลลายจุดเลย ส่วนใหญ่เป็นสิวอุดตัน มีอักเสบเล็กน้อยไม่เยอะ แต่ไม่หายสักที จะหายก็มีขึ้นใหม่ มีการรักษาสิวหลัง และการดูแลอย่างไรบ้างคะ ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 495] วันที่รับคำถาม : 29 มี.ค. 66 - 17:09:20 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สิวมี 2 ประเภท คือ สิวอุดตันและสิวอักเสบ ซึ่งสิวทั้ง 2 ประเภทนี้ เริ่มจากการอุดตันของรูขุมขนจากการสร้างไขมันจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น ร่วมกับเพิ่มการแบ่งเซลล์เคอราตินรูขุมขน ส่วนสิวอักเสบจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Cutibacterium acnes (C. acnes) เจริญมากขึ้นในบริเวณที่เกิดสิวอุดตันและเร่งให้เกิดกระบวนการอักเสบตามมา[1] โดยส่วนมากจะพบสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า ลำคอ หน้าอก และ หลังส่วนบน เป็นต้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการเกิดสิว ได้แก่ การเพิ่มการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ความเครียด โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ การสัมผัสแสงแดดหรือรังสี UV มลภาวะ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคเสตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น[2],[3] สำหรับการรักษาสิวที่เกิดขึ้นทุกบริเวณในร่างกายจะใช้แนวทางการรักษาเช่นเดียวกัน และพิจารณาการใช้ยาตามชนิดและความรุนแรงของการเกิดสิว[2] โดยมียาที่ใช้ในการรักษาสิว ดังนี้
1) ยาที่มีฤทธิ์เร่งการผลัดเซลล์เคอราตินของผิวหนัง ได้แก่ เบนโซอิลเพอออกไซด์ (benzoyl peroxide) ยากลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก ได้แก่ เรตินอยด์ (retinoid) เทรดติโนอิน (tretinoin) อะดาพาลีน (adapalene) ยากลุ่มนี้จะช่วยเร่งการผลัดเซลล์และลดการสร้างเซลล์เคอราตินของผิวหนัง ลดการอุดตันของรูขุมขน และลดการอักเสบของสิว จากการศึกษาพบว่ามีประสิทธิภาพในการลดจำนวนตุ่มสิวทั้งชนิดอักเสบและไม่อักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก[4]
2) ยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอก ได้แก่ คลินดามัยซิน (clindamycin) อิริทโทรมัยซิน (erythromycin) และแดพโซน (dapsone) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. acnes ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบและสามารถลดความรุนแรงของสิวอักเสบได้[5]
3) ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ได้แก่ อิริทโทรมัยซิน (erythromycin) ขนาด 500 มิลลิกรัม ด็อกซีไซคลิน (doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. acnes ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบ ซึ่งจะแนะนำให้ใช้ในผู้ที่ไม่ตอบสนองจากการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอกหรือผู้ที่เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงมาก จากการศึกษาพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานด็อกซีไซคลิน (doxycycline) ร่วมกับยาทาอะดาพาลีน (adapalene) สามารถลดความรุนแรงของการเกิดสิวได้อย่างมีนัยสำคัญ[6]
4) ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิด แนะนำให้ใช้ในผู้หญิงที่ที่มีสาเหตุการเกิดสิวจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง[7] ยากลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอชนิดรับประทาน ได้แก่ ไอโซเทรดติโนอิน (isotretinoin) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวอักเสบชนิดรุนแรงมากได้ดีกว่าการใช้ยาชนิดใช้ภายนอกแต่ยาชนิดนี้จะต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด[8]
...
การเลือกยาสำหรับรักษาสิวควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดและการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของสิวสามารถทำได้โดยการรักษาความสะอาดเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและการอุดตันของไขมันและสิ่งสกปรกบริเวณรูขุมขน แต่ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูผิวหนัง รวมถึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน เพื่อการระคายเคืองและลดการผลิตไขมันใต้ชั้นผิวหนังที่มากเกินไป[3]
...
เอกสารอ้างอิง
[1]. Graber E. Acne vulgaris: Overview of management. In: UpToDate, Post TW, ed. UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on November 20, 2023.)
[2]. Woo YR, Kim HS. Truncal Acne: An Overview. J Clin Med. 2022;11(13).
[3]. Clinical Practice Guideline for Acne แนวทางการดูแลรักษาโรคสิว [Internet]. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. 2554 [cited 12 พฤศจิกายน 2566]. Available from: https://dst.or.th/Physician/Articles/441.29.0.
[4]. Leyden JJ, Shalita A, Thiboutot D, Washenik K, Webster G. Topical retinoids in inflammatory acne: a retrospective, investigator-blinded, vehicle-controlled, photographic assessment. Clin Ther. 2005;27(2):216-24.
[5]. Del Rosso JQ, Kircik L, Tanghetti E. Management of Truncal Acne Vulgaris with Topical Dapsone 7.5% Gel. J Clin Aesthet Dermatol. 2018;11(8):45-50.
[6]. Ullah G, Ali F, Paracha MM, Noor SM, Naeem J. Comparison Of Efficacy Of Topical Adapalene Plus Oral Azithromycin And Topical Adapalene Plus Oral Doxycycline In Treatment Of Acne Vulgaris. J Ayub Med Coll Abbottabad. 2022;34(4):782-5.
[7]. Palli MB, Reyes-Habito CM, Lima XT, Kimball AB. A single-center, randomized double-blind, parallel-group study to examine the safety and efficacy of 3 mg drospirenone/0.02 mg ethinyl estradiol compared with placebo in the treatment of moderate truncal acne vulgaris. J Drugs Dermatol. 2013;12(6):633-7.
[8]. Tan J, Humphrey S, Vender R, Barankin B, Gooderham M, Kerrouche N, et al. A treatment for severe nodular acne: a randomized investigator-blinded, controlled, noninferiority trial comparing fixed-dose adapalene/benzoyl peroxide plus doxycycline vs. oral isotretinoin. Br J Dermatol. 2014;171(6):1508-16.

วันที่ตอบ : 12 ม.ค. 67 - 16:32:09




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110