ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยาในกลุ่ม NSAIDsในหญิงตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ได้รับยา Diclofenac จะส่งผลต่อเด็กในท้องไหม

[รหัสคำถาม : 496] วันที่รับคำถาม : 03 เม.ย. 66 - 21:06:18 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การใช้ยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ ยา aspirin, ibuprofen, diclofenac, naproxen, piroxicam, meloxicam, celecoxib และ etoricoxib อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย น้ำหนักของทารกแรกคลอดน้อย รวมถึงการปิดของหลอดเลือดหัวใจในทารกผิดปกติ (ductus arteriosus)[1,2] โดยจะพบผลกระทบต่อทารกในครรภ์ในระยะของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 มากที่สุด การศึกษาของ Nezvalová-Henriksen และคณะ[3] พบความสัมพันธ์ของการใช้ยา Ibuprofen และ diclofenac ในระหว่างตั้งครรภ์กับการเกิดเลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 รวมถึงเกิดภาวะเลือดออกหลังคลอด ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2500 กรัม และทารกมีอาการหอบหืดในช่วงอายุ 18 เดือนแรก ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Scherneck และคณะ[4] ที่พบความสัมพันธ์ของการใช้ยา diclofenac ในระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย แต่ปริมาณน้ำคร่ำกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยาและไม่พบความผิดปกติใด ๆ ต่อทารก ในขณะที่ Padberg และคณะ[5] ไม่พบความสัมพันธ์ของการใช้ยา diclofenac ขณะตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 กับการแท้งหรือเกิดความผิดปกติของหัวใจในทารกเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา นอกจากนี้ Duc และคณะ[6] พบความสัมพันธ์ของการใช้ยา diclofenac แบบแผ่นแปะผิวหนัง กับการเพิ่มความดันของหลอดเลือดแดงในปอด (pulmonary hypertension) ของทารก และยังพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจหลอดเลือดในทารก ได้แก่ การโป่งพองของผนังหัวใจห้องบน หัวใจห้องล่างขวาโต และหลอดเลือดแดงในปอดขยาย ซึ่งสามารถรักษาหายเป็นปกติเมื่อทารกอายุ 1 ปี ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกันกับผลการศึกษาการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในทารกที่เกิดจากแม่ที่ได้รับยา diclofenac รูปแบบฉีดเพียงครั้งเดียวในระหว่างตั้งครรภ์ของ Santos และคณะ[7]

จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในขณะตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะการใช้ยาในขณะตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยสามารถพบภาวะน้ำคร่ำน้อย และ เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจของทารกได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในการตั้งครรภ์หรือควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เอกสารอ้างอิง :
[1]. Bermas B. Safety of rheumatic disease medication use during pregnancy and lactation. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2023. (Accessed on November 14, 2023.)
[2]. Briggs G, Freeman R, Towers C, Forinash A. Drugs in Pregnancy and Lactation. 11th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer; 2017.
[3]. Nezvalová-Henriksen K, Spigset O, Nordeng H. Effects of ibuprofen, diclofenac, naproxen, and piroxicam on the course of pregnancy and pregnancy outcome: a prospective cohort study. BJOG 2013;120:948–959. DOI: 10.1111/1471-0528.12192
[4]. Scherneck S, Schöpa F, Entezami M, Kayser A, Weber-Schoendorfer C, Schaefer C. Reversible oligohydramnios in the second trimester of pregnancy in two patients with long-term diclofenac exposure. Reprotox. 2015;58(0890-6238):61–4. DOI: 10.1016/j.reprotox.2015.08.002
[5]. Padberg S, Tissen-Diabaté T, Dathe K, Hultzsch S, Meixner K, Linsenmeier V, et al. Safety of diclofenac use during early pregnancy: A prospective observational cohort study. Reprotox. 2018;77(0890-6238):122–9. DOI: 10.1016/j.reprotox.2018.02.007
[6]. Duc K, Gilliot S, Baudelet J, Mur S, Boukhris M, Domanski O, et al. Case Report: Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn and Narrowing of the Ductus Arteriosus After Topical Use of Non-Steroidal Anti-Inflammatory During Pregnancy. Front Pharmacol. 2021;12:756056. doi:10.3389/fphar.2021.756056
[7]. Santos C, Silva P, Castelo R, Tiago J. Premature closure of ductus arteriosus after a single dose of diclofenac during pregnancy. BMJ Case Rep. 2021;14(6):e243485. doi:10.1136/bcr-2021-243485

วันที่ตอบ : 12 ม.ค. 67 - 16:47:14




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110