ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สามารถใช้ manidipine ร่วมกับ verapamil ได้หรือไม่

สามารถใช้ manidipine ร่วมกับ verapamil ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 499] วันที่รับคำถาม : 08 เม.ย. 66 - 20:34:27 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Manidipine และ verapamil เป็นยาในกลุ่ม calcium channel blockers (CCBs) ออกฤทธิ์ปิดกั้นการผ่านเข้าสู่เซลล์ของแคลเซียม โดย
- Manidipine เป็นยากลุ่ม dihydropyridine (DHP-CCBs) ออกฤทธิ์ที่บริเวณเซลล์กล้ามเนื้อเรียบทำให้เกิดคลายตัวของหลอดเลือดและทำให้ความดันโลหิตลดลงโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ จึงไม่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ[1]
- Verapamil เป็นยากลุ่ม non-dihydropyridine (non DHP-CCBs) ออกฤทธิ์ที่บริเวณเซลล์กล้ามเนื้อเรียบและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดคลายตัวของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลง และเลือดไปเลี้ยงหัวใจดีขึ้น รวมถึงมีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ[2]

มีรายงานการศึกษาในปี 1996 ที่ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการใช้ยากลุ่ม DHP-CCBs (nifedipine) ร่วมกับกลุ่ม non DHP-CCBs (diltiazem หรือ verapamil) ในการลดความดันโลหิต ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง พบว่าการใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกันสามารถลดความดันโลหิตทั้งขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) และหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) ได้ดีกว่าการใช้ยากลุ่ม DHP-CCBs (nifedipine) เพียงชนิดเดียว[3] อย่างไรก็ตามจากแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562 กำหนดหลักการใช้ยาลดระดับความดันโลหิตโดยแนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม renin angiotensin system blockers (ACEIs หรือ ARBs) ร่วมกับยากลุ่ม CCBs หรือ ยาขับปัสสาวะ หากไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมายให้เพิ่มยาเป็น 3 ชนิด โดยหนึ่งในยา 3 ชนิดควรจะเป็นยาขับปัสสาวะ (thiazides และยาขับปัสสาวะที่ใกล้เคียงกับ thiazides) โดยไม่ควรใช้ยากลุ่ม ACEIs ร่วมกับยากลุ่ม ARBs[4]

จากแนวทางการรักษาโรคหัวใจสั่นพริ้ว (atrial fibrillation, AF) ของ European Society of Cardiology ปี 2020 แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม beta-blockers หรือยาในกลุ่ม non DHP-CCBs (verapamil หรือ diltiazem) เป็นยาทางเลือกแรกในผู้ป่วย AF ที่มี LVEF (Left ventricular ejection fraction) ≥40%[5] สำหรับโรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (acute myocardial infarction, MI) สามารถใช้ยากลุ่ม CCBs เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค (secondary prevention) ได้ โดยทั่วไปจะเลือกใช้ยากลุ่ม CCBs เป็นยาป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (anti-ischemic) และลดความดันโลหิตในผู้ป่วย MI เฉพาะเมื่อใช้ยากลุ่ม beta-blockers ไม่ได้ผลหรือมีข้อห้ามใช้เท่านั้น[2] และไม่มีคำแนะนำให้ยากลุ่ม CCBs สองชนิดร่วมกันรักษาโรค

จากรายงานข้อมูลการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา พบว่า ยา manidipine และ verapamil มีความเสี่ยงของการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาอยู่ในระดับ C (monitor therapy) นั่นคือ สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่เนื่องจากยา verapamil เป็น moderate CYP3A4 inhibitor ซึ่งส่งผลให้ลดการขับออกของยา manidipine จึงอาจทำให้มีระดับยา manidipine ในเลือดเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องติดตามผลการรักษาและการเกิดผลข้างเคียงของยา manidipine เช่น ข้อเท้าบวม ใจสั่น ปวดศีรษะ เวียนศรีษะ และหน้าแดง (flushing) ขณะใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกัน[1]

ยา manidipine เป็นยากลุ่ม CCBs รุ่นใหม่ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องการก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเมื่อเทียบกับยารุ่นเก่า เช่น nifedipine โดยมีการศึกษาที่รวบรวมผลลัพธ์ของการวิจัยแต่ละการศึกษาเข้าด้วยกันด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เปรียบเทียบการเกิดอาการขาบวม (peripheral edema) ระหว่างยากลุ่ม CCBs รุ่นใหม่ (lacidipine, ercanidipine และ manidipine) กับยากลุ่ม CCBs รุ่นเก่า (amlodipine, barnidipine, felodipine, isradipine, nicardipine, nifedipine, nimodipine, nitrendipine, และ pranidipine) พบว่ายากลุ่ม CCBs ในรุ่นใหม่ทั้ง 3 ชนิด มีอุบัติการณ์การเกิดอาการขาบวมน้อยกว่ายากลุ่ม CCBs ในรุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[6]

การรักษาโดยการใช้ยากลุ่ม CCBs สองชนิดร่วมกัน (dual CCBs therapy) ในโรคความดันโลหิตสูงยังขาดข้อมูลผลลัพธ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว การใช้ dual CCBs therapy ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด อาจให้ประโยชน์เสริมประสิทธิภาพในการรักษาในผู้ที่ดื้อต่อการรักษาแบบเดิม[7] แต่มีข้อควรระวังที่ต้องตระหนักถึงในเรื่องการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและการเกิดผลข้างเคียงจากยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. Manidipine. In: Lexi-drug online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.: [updated 15 Nov 2023; cited 10 Nov 2023]. Available from: https://online.lexi.com.
[2]. Verapamil. In: Lexi-drug online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.: [updated 15 Nov 2023; cited 14 Nov 2023]. Available from: https://online.lexi.com.
[3]. Saseen JJ, Carter BL, Brown TE, Elliott WJ, Black HR. Comparison of nifedipine alone and with diltiazem or verapamil in hypertension. Hypertension. 1996 Jul;28(1):109-14.
doi: 10.1161/01.hyp.28.1.109.
[4]. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ทริค ธิงค์; 2562.
[5]. Hindricks G, Potpara T, Dagres N, Arbelo E, Bax JJ, Blomström-Lundqvist C, et al. ESC Guidelines for the diagnosis and management of atrial fibrillation developed in collaboration with the European Association for Cardio-Thoracic Surgery (EACTS). Eur Heart J. 2020 00,1-125 doi: 10.1093/eurheartj/ehaa612.
[6]. Makani H, Bangalore S, Romero J, Htyte N, Berrios RS, Makwana H, et al. Peripheral edema associated with calcium channel blockers: incidence and withdrawal rate--a meta-analysis of randomized trials. J Hypertens. 2011 Jul;29(7):1270-80. doi: 10.1097/HJH.0b013e3283472643.
[7]. Saseen JJ, Carter BL. Dual calcium-channel blocker therapy in the treatment of hypertension. Ann Pharmacother. 1996 Jul-Aug;30(7-8):802-10. doi: 10.1177/106002809603000719.

วันที่ตอบ : 08 ม.ค. 67 - 09:57:21




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110