ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
1. คนป่วยเบาหวานประเภทที่สอง เฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ (65 ปี) สภาวะอาการดำเนินไป

1. คนป่วยเบาหวานประเภทที่สอง เฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ (65 ปี) สภาวะอาการดำเนินไปของโรคเบาหวานอยู่ในสภาพอย่างไร จึงจะริ่มใช้อินซูลินชนิดฉีด
2. การฉีดอินซูลินมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับการรับประทานยา
3. การฉีดอินซูลินในระยะยาวมีผลข้างเคียงอย่างไรต่อผู้ป่วย
4. ในสภาวะอย่างไรหรือต้องการหวังผลเช่นใดจึงใช้อินซูลินชนิดใสผสมกับชนิดขุ่นพร้อมกันในขณะเดียวกัน
5. ถ้าผู้ป่วยใช้ทั้งฉีดอินซูลินและรับประทานยาในขณะเดียวกัน(โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์) จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างได้ผล
มีความจริงหรือไม่

[รหัสคำถาม : 50] วันที่รับคำถาม : 28 ม.ค. 63 - 13:24:54 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สอง เฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ (65 ปี) สภาวะอาการดำเนินไปของโรคเบาหวานอยู่ในสภาพอย่างไร จึงจะเริ่มใช้อินซูลินชนิดฉีด
การเริ่มใช้อินซูลินชนิดฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้สูงอายุ มีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้
-ผู้ป่วยมีภาวะน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง
-มีอาการน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia)
-ค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) มีค่าสูงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10
-ค่าระดับน้ำตาลในเลือด (blood glucose) สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 300 mg/dL[1]
-ใช้ยาเม็ดรับประทาน 2-3 ชนิด ในขนาดสูงสุดแล้วควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
-อยู่ในภาวะผิดปกติ เช่น การติดเชื้อรุนแรง อุบัติเหตุรุนแรง และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้งภาวะขาดอาหาร (malnutrition)
-ระหว่างการผ่าตัด
-เป็นโรคเบาหวานจากตับอ่อนถูกทำลาย เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ถูกตัดตับอ่อน
-แพ้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน[2]
2. การฉีดอินซูลินมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับการรับประทานยา
การฉีดอินซูลินมีข้อดี คือ สามารถลดระดับค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทาน[1],[2] โดยลดค่าน้ำตาลสะสมในเลือดได้ประมาณร้อยละ 1.5-3.5 หรือมากกว่า[2] ใช้ได้ปลอดภัยในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย ข้อเสีย คือ ทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ได้ง่ายกว่ายารับประทาน[1] และขั้นตอนการใช้ยาฉีดอินซูลินมีความซับซ้อนมากกว่ายารับประทาน จึงอาจทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้
3. การฉีดอินซูลินในระยะยาวมีผลข้างเคียงอย่างไรต่อผู้ป่วย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฉีดอินซูลิน ได้แก่
-ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้อินซูลินแบบฉีด[3],[6] โดยพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานระดับไม่รุนแรงหรือปานกลาง มีความชุกของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำประมาณร้อยละ 50 และอุบัติการณ์การเกิด 23 เหตุการณ์ต่อคนต่อปี ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานระดับรุนแรง มีความชุกของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำพบร้อยละ 21 และอุบัติการณ์การเกิด 1 เหตุการณ์ต่อคนต่อปี[6]

-น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น[3] โดยพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาฉีดอินซูลินเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทาน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 48.3 และ 24.8 ตามลำดับ, ค่า P-value น้อยกว่า 0.0001)[6]
-ระดับโพแทสเชียมในเลือดต่ำ (hypokalemia)
-อาการแพ้บริเวณที่ฉีดยา (localized allergic reaction) เช่น มีอาการคัน ผื่นแดง บวม ร้อน บริเวณผิวหนังที่ฉีดอินซูลิน
-ภาวะก้อนแข็งจากไขมันใต้ผิวหนัง (lipohypertrophy) เป็นผลมาจากการฉีดที่ตำแหน่งเดิมซ้ำๆ[3]
4. ในสภาวะอย่างไรหรือต้องการหวังผลเช่นใดจึงใช้อินซูลินชนิดใสผสมกับชนิดขุ่นพร้อมกันในขณะเดียวกัน
ยาฉีดอินซูลินชนิดขุ่นคือ Neutral Protamine Hagedorn หรือ Isophane insulin จัดอยู่ในกลุ่มออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting insulin) ส่วนยาฉีดอินซูลินชนิดใสที่นำผสม เป็นอินซูลินชนิด regular insulin ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มออกฤทธิ์สั้น (Short-acting Insulin) เมื่อนำทั้ง 2 กลุ่มมาผสมกันเรียกว่า premixed insulin[4],[9],[10] โดยบริหารยาวันละครั้ง ก่อนอาหารเช้าหรืออาหารเย็น หรืออาจให้วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น[9],[10] ยาจะออกฤทธิ์ภายใน 15-60 นาที และออกฤทธิ์เป็นระยะเวลา 10-16 ชั่วโมง[4] ออกฤทธิ์ครอบคลุมมื้ออาหารและระหว่างมื้ออาหารตลอดทั้งวัน[9] ลดจำนวนครั้งในการฉีด[4] และเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกต่อการผสมยาฉีดอินซูลิน เนื่องจากมีปัญหาทางด้านสายตาหรือไม่ชำนาญในการผสม[10]
5. ถ้าผู้ป่วยใช้ทั้งฉีดอินซูลินและรับประทานยาในขณะเดียวกัน (โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์) จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างได้ผล มีความจริงหรือไม่
การใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทาน มีความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีการศึกษาการให้ยาฉีดอินซูลินชนิด glargine และ human NPH ก่อนนอน โดยให้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 26-40 kg/m2 ค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) มีค่าอยู่ในช่วงร้อยละ 7.5-10 ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Blood Sugar) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 140 mg/dl และผู้ป่วยรับประทานยาลดระดับน้ำตาล 1 หรือ 2 ชนิดร่วมด้วย (ขณะทำการศึกษา ผู้ป่วยยังคงได้รับยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทานต่อไป) จากการศึกษาพบว่า การใช้อินซูลิน glargine และ NPH ช่วยลดค่า HbA1C และ Fasting Blood Sugar โดยได้ค่าเฉลี่ย HbA1C มีค่าร้อยละ 6.96 และ 6.97 ตามลำดับ ส่วนค่าเฉลี่ย Fasting Blood Sugar มีค่าเป็น 117 และ 120 mg/dl ตามลำดับ นอกจากนี้ ร้อยละ 58 ของจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับอินซูลิน glargine มีค่า HbA1C น้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 ร้อยละ 57.3 ของจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับอินซูลิน NPH มีค่า HbA1C น้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 [8]
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนอกจากการใช้ยารับประทานควบคุมระดับน้ำตาลหรือยาฉีดอินซูลินแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยร่วมกันด้วย ได้แก่ การควบคุมอาหาร โดยเน้นอาหารที่เป็นพืชผัก อาหารไขมันต่ำ อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ปลา น้ำมันมะกอก ควบคุมการรับประทานไขมัน และคาร์โบไฮเดรต โดยปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 3-6 ช้อนชาต่อวัน โดยกระจายใน 2-3 มื้อ ไม่นับรวมน้ำตาลที่แฝงอยู่ในผลไม้และผัก ลดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ และควรออกกำลังกายวันละ 30-50 นาที ประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์

เอกสารอ้างอิง
1. American Diabetes Association. Standards of medical care in diabetes. Diabetes Care 2020; 43 (Suppl 1): S152-S161
2. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข,และสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ. (2560). แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. ปทุมธานี: บริษัท ร่มเย็น มีเดีย จำกัด.
3. McEvoy GK, editor. AHFS drug information. Bethesda: American Society of Health-System Pharmacists, Inc; 2019.
4. Brunton L.L., Chabner B. and Knollman B. Goodman & Gilman’s The Pharmacological Basis of Therapeutics. 13th ed. McGraw-Hill education, 2018.
5. Chaudhury A, Duvoor C, Reddy Dendi VS, Kraleti S, Chada A, Ravilla R, et al. Clinical review of antidiabetic Drugs: implications for type 2 diabetes mellitus management. Front Endocrinol (Lausanne). 2017;8:6.
6. Edridge CL, Dunkley AJ, Bodicoat DH, Rose TC, Gray LJ, Davies MJ, Khunti K. Prevalence and incidence of hypoglycaemia in 532,542 people with type 2 diabetes on oral therapies and insulin: a systematic review and meta-analysis of population based studies. PLoS One. 2015;10(6):e0126427.
7. Naeem N, Basit A, Shiraz A, Bin Zafar A, Mustafa N, Ali Siddique S, Fawwad A. Insulin-associated weight gain in type 2 diabetes and its relation with caloric intake. Cureus. 2019;11(7):e5275.
8. Riddle MC, Rosenstock J, Gerich J; Insulin Glargine 4002 Study investigators. the treat-to-target trial: randomized addition of glargine or human NPH insulin to oral therapy of type 2 diabetic patients. Diabetes Care. 2003;26(11):3080-6.
9. Donner T, Sarkar S. Insulin – pharmacology, therapeutic regimens, and principles of intensive insulin therapy. 2019 Feb 23. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, et al., editors. Endotext [Internet]. South Dartmouth (MA): MDText.com, Inc.; 2000-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK278938/
10. Masharani U. Diabetes Mellitus. In: Papadakis MA, McPhee SJ, Rabow MW. eds. Current medical diagnosis and treatment 2020 New York, NY: McGraw-Hill; . http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2683§ionid=225135318. (Accessed January 15, 2020).

วันที่ตอบ : 28 ม.ค. 63 - 13:36:22




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110