ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Mupirocin มีข้อดีกว่า Gentamicin cream อย่างไรในแง่ของการรักษาการติดเชื้อแบคทีเร

Mupirocin มีข้อดีกว่า Gentamicin cream อย่างไรในแง่ของการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง

[รหัสคำถาม : 500] วันที่รับคำถาม : 18 เม.ย. 66 - 01:51:19 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การติดเชื้อบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อ (skin and soft tissue infections; SSTIs) ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อก่อโรคทางผิวหนังที่พบโดยทั่วไป คือแบคทีเรียแกรมบวกโดยเฉพาะ Streptococcus pyogenes (group A β-hemolytic streptococci, S. pyogenes) และ Staphylococcus aureus (S. aureus) รวมทั้งเชื้อที่มีการดื้อยา เช่น methicillin-resistant S. aureus (MRSA) เป็นต้น ภาวะการติดเชื้อจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบโดยเฉพาะเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ร่วม โดยบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ ได้แก่ ทวารหนัก และการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นที่ลึก[1]
...
ยาปฏิชีวนะรูปแบบใช้เฉพาะที่มักใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณส่วนนอกของชั้นผิวหนัง ได้แก่ โรคแผลพุพอง (impetigo) รอยถลอก แผลไฟไหม้ และแผลจากการผ่าตัด[2] mupirocin เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกเกือบทั้งหมดรวมถึงเชื้อ MRSA แต่ยาแทบไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ[2] ในทางตรงกันข้าม gentamicin เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม aminoglycosides ที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ เช่น Escherichia coli, Enterobacter, Pseudomonas Proteus เป็นต้น[3] จากรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ยา gentamicin เทียบกับ mupirocin ในรูปแบบยาครีมใช้เฉพาะที่วันละครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเยื่อบุช่องท้องจากการล้างไตผ่านสายสวนทางช่องท้องในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ในปี 2005 พบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาครีม gentamicin ทาบริเวณภายนอกสายสวน มีอัตราการเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติประมาณ 35% โดยมีอัตราการเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ P. aeruginosa และแบคทีเรียแกรมลบอื่น ๆ ลดลง และพบว่ายาครีม gentamicin มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาครีม mupirocin ในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก S. aureus[4] การศึกษาโดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและใช้การวิเคราะห์เชิง อภิมาณ (systematic review and meta-analysis) ในการเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่เกิดจากการล้างไตผ่านสายสวนทางช่องท้องระหว่างยาทาเฉพาะที่ mupirocin และ gentamicin ในปี 2018 พบผลการศึกษาในทำนองเดียวกัน ยาทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกใกล้เคียงกันแต่การใช้ยา mupirocin จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[5] อย่างไรก็ตามมีรายงานการดื้อยาของเชื้อ MRSA ต่อยากลุ่ม aminoglycosides เพิ่มสูงขึ้น และจากผลการศึกษาเพื่อประเมินความไวของเชื้อ MRSA ต่อ gentamicin ในปี 2020 พบว่า เชื้อ MRSA มีการดื้อต่อยา gentamicin สูงถึง 89 %[6]
...
ดังนั้นในกรณีที่หวังผลการป้องกันและรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่พบบ่อยของโรคติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง จึงนิยมใช้ยาครีม mupirocin มากกว่า แต่ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบโดยเฉพาะกลุ่ม Pseudomonas ควรพิจารณาเลือกให้ยาครีม gentamicin
...
เอกสารอ้างอิง
[1]. Gangwar A, Kumar P, Singh R, Kush P. Recent Advances in Mupirocin Delivery Strategies for the Treatment of Bacterial Skin and Soft Tissue Infection. Future Pharmacology.2021;1(1):80-103.
https://doi.org/10.3390/futurepharmacol1010007
[2]. Bandyopadhyay D. Topical Antibacterials in Dermatology. Indian Journal Dermatology.2021;66(2):117-125. https://doi: 10.4103/ijd.IJD_99_18.
[3]. Robertson DB, Maibach HI. Dermatologic Pharmacology. In: Katzung BG. eds. Basic & Clinical Pharmacology [book on the internet], 14th ed. McGraw Hill; 2017, https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2249§ionid=175225596
[4]. Bernardini J, Bender F, Florio T, Sloand J, Palmmontalbano L, Fried L, Piraino B. Antibiotic Exit Site Cream for Prevention of Exit Site Infection in Peritoneal Dialysis Patients. A randomized, double-blind trial. Journal of the American Society of Nephrology.2005 ;16(2):539-545. https://doi: 10.1681/ASN.2004090773.
[5]. Sai CC, Yang PS, Liu CL, Wu CJ, Hsu YC, Cheng SP. Comparison of Topical Mupirocin and Gentamicin in the Prevention of Peritoneal Dialysis-Related Infections: A systematic review and meta-analysis. The American Journal of Surgery. 2018;215(1):179-185. https://doi.org/10.1016/j.amjsurg.2017.03.005
[6]. Elfeky DS, Awad AR, Elshobaky A, Elawady BA. Effect of Ceftaroline, Vancomycin, Gentamicin, Macrolides and Ciprofloxacin Against Methicillin-Resistant Staphylococcus aureus isolates: an in vitro study. Surgical Infectious. 2020;21(2):150-157. https://doi.org/10.1089/sur.2019.229

วันที่ตอบ : 16 ม.ค. 67 - 11:12:34




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110