ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยา aspirin ในผู้สูงอายุ

การใช้ยา aspirin ในผู้สูงอายุจำเป็นหรือไม่ และจะใช้เมื่อใด

[รหัสคำถาม : 502] วันที่รับคำถาม : 24 เม.ย. 66 - 22:16:44 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาแอสไพริน (aspirin) มีคำแนะนำการใช้ในผู้สูงอายุเป็น secondary prevention หลังการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular diseases) [1,2,3] ดังนี้
1) ผู้ป่วยโรค acute coronary syndromes (ACS) ทั้งชนิด ST-elevate myocardial infarction (STEMI) และชนิด non-ST Elevate myocardial infarction (NSTEMI) แนะนำให้ใช้ aspirin รูปแบบ immediate release ขนาด 75 – 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง ร่วมกับยากลุ่ม P2Y12 inhibitors เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน หลังจากนั้นพิจารณาใช้ยา aspirin เพียงอย่างเดียวต่อไป
2) ผู้ป่วยโรค ischemic stroke หรือ transient ischemic attack (TIA) แนะนำให้ใช้ aspirin รูปแบบ immediate release ขนาด 325 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยอาจพิจารณาใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มอื่น ๆ ได้ ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค
3) ผู้ป่วยโรค stable ischemic heart disease แนะนำให้ใช้ aspirin รูปแบบ immediate release 75 – 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง

Mahady และคณะ[4] พบอุบัติการณ์การเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารในผู้ป่วยที่ได้รับยา aspirin มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Ma และคณะ[5] ที่พบว่าการรักษาด้วย dual antiplatelet therapy (DAPT) เป็นระยะเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก (major bleeding) มากกว่าการใช้ DAPT เป็นระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้ Gragnano และคณะ[6] ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยากลุ่ม P2Y12 inhibitors เทียบกับการใช้ยา aspirin เดี่ยว พบว่า ยาทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการรักษาแบบ secondary prevention แต่ยากลุ่ม P2Y12 inhibitors มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารน้อยกว่าการใช้ยา aspirin

กล่าวโดยสรุป การใช้ยา aspirin ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 75 ปี เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกรุนแรง (major bleeding) เช่น อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด รวมถึงเกิดภาวะโลหิตจางได้[1,2] จึงควรหลีกเลี่ยงหรือควรได้รับยากลุ่ม proton pump Inhibitor (PPI) ร่วมด้วย และควรใช้ยา aspirin อย่างระมัดระวังและควรมีการตรวจติดตามอาการจากแพทย์อย่างใกล้ชิด[1] ส่วนการใช้ aspirin เพื่อเป็น secondary prevention ร่วมกับยากลุ่ม P2Y12 inhibitors ควรใช้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกสูง อาจพิจารณาการรักษาแบบ DAPT เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 1 ปีได้[3,5] หลังจากนั้นควรใช้ยา aspirin เดี่ยวต่อเนื่องไปตลอดชีวิต และไม่มีคำแนะนำให้หยุดยา aspirin ในกรณีที่เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร แต่แนะนำให้ส่องกล้องเพื่อหยุดเลือดร่วมกับการใช้ยากลุ่ม PPI และติดตามอาการเลือดออกอย่างใกล้ชิด[1]

เอกสารอ้างอิง :
[1]. Aspirin. In: Lexi-drugs [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 13 Nov 2023; cited 13 Nov 2023]. Available from: http://online.lexi.com.
[2]. American Geriatrics Society. American Geriatrics Society 2023 Updated AGS Beers Criteria® for Potentially Inappropriate Medication Use in Older Adults. Journal of the American Geriatrics Society [Internet]. 2023 May 4 [cited 2023 Nov 13];71(7). Available from: https://agsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/jgs.18372
[3]. Thai Acute Coronary Syndromes Guidelines 2020 แนวเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พ.ศ.2563 [Internet]. สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2563 [cited 28 พฤศจิกายน 2566]. Available from: http://www.thaiheart.org/images/introc_1599350902/Thai%20ACS%20Guidelines%202020.pdf
[4]. Mahady SE, Margolis KL, Chan A, et al. Major GI bleeding in older persons using aspirin: incidence and risk factors in the ASPREE randomised controlled trial. Gut. 2021;70(4):717-724. doi:10.1136/gutjnl-2020-321585
[5]. Ma Y, Zhong PY, Shang YS, Bai N, Niu Y, Wang ZL. Efficacy and Safety of Short-Term Dual Antiplatelet Therapy in East Asians: A Systematic Review and a Meta-Analysis of Randomized Clinical Trials. J Cardiovasc Pharmacol. 2021;79(3):264-272. Published 2021 Nov 24. doi:10.1097/FJC.0000000000001181
[6]. Gragnano F, Cao D, Pirondini L, et al. P2Y12 Inhibitor or Aspirin Monotherapy for Secondary Prevention of Coronary Events. J Am Coll Cardiol. 2023;82(2):89-105. doi:10.1016/j.jacc.2023.04.051

วันที่ตอบ : 17 ม.ค. 67 - 13:42:50




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110