ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ริดสีดวงเฉียบพลัน

คือ วันนี้ เข้าห้องน้ำ ไม่ได้เบ่ง อะไร แต่ หลังจากนั้น มีก้อนเนื้อ ออกมา ขนาดประมาณ 1/4 หรือเกือบครึ่ง ของรูทวาร ตอนแรก คิดว่า เดี๋ยวคงจะหุบเข้าไปเอง ตามปกติ ไม่เจ็บอะไรแค่รู้สึกหน่วง ๆ ผ่านไป 1 ชม. 2.ชม. ยังไม่หุบกลับ เลย เข้าไปนั่ง ห้องน้ำ แล้ว ลองดันกลับ เข้าไป ดันผ่านรู ทวารเข้าไป ตอนแรกเหมือนจะเข้า เลยยืนแล้ว ขมิบไว้ สักพัก และปล่อย แต่ไม่ได้ผล ดันไม่เข้า คราวนี้ ออกมา เต็ม รอบรูทวาร จากที่ตอนแรก ก่อนดัน ไม่ใหญ่ขนาดนี้ และไม่ปวด ตอนนี้ ปวดมาก ครับ ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องนอนอย่างเดียวเลย อยากจะสอบถามว่า ถ้าเราจะ ทนเจ็บ ลองดัน กลับเข้าไปอีกที จะเป็นอะไรไหมครับ หรือ ถ้าเรากินยา daflon จะใช้เวลานานแค่ไหน ถึงจะ ดีขึ้น เพราะตอนนี้ นอน อย่างเดียวเลยครับ ทำอะไรไม่ได้เลย เจ็บปวดมาก แค่ ลุกไปเปิดประตู ยังลำบาก

[รหัสคำถาม : 503] วันที่รับคำถาม : 25 เม.ย. 66 - 01:50:33 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณส่วนปลายของลำไส้ตรงโป่งพอง อาการทางทวารหนักที่อาจพบ ได้แก่ มีเลือดสดออกมาขณะและหลังถ่ายอุจจาระ มีก้อนเนื้อปลิ้นจากภายในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ โดยสามารถแบ่งริิดสีดวงทวารได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ริดสีดวงภายใน คือ การที่เนื้อเยื่อของทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนักเกิดการโป่งพองหรือแตกมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ แบ่งตามความรุนแรงเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ริดสีดวงทวารไม่โผล่พ้นบริเวณขอบทวารหนัก
ระยะที่ 2 ริดสีดวงโผล่พ้นขอบทวารหนักเวลาเบ่ง แต่สามารถกลับเข้าไปได้เอง
ระยะที่ 3 ริดสีดวงโผล่พ้นขอบทวารหนักเวลาเบ่ง ต้องใช้นิ้วมือดันจึงสามารถกลับเข้าไปในทวารหนักได้
ระยะที่ 4 ริดสีดวงโผล่พ้นขอบทวารหนักตลอดเวลา ไม่สามารถดันกลับได้
2. ริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่างมีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก มีอาการคันและเจ็บมากกว่าริดสีดวงภายใน เนื่องจากเส้นประสาทรับความรู้สึกปวด
สาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารคือ การนั่งเบ่งอุจจาระนาน ปัญหาท้องผูกเรื้อรังเนื่องมาจากพฤติกรรมหลายประการ ได้แก่ รับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ความเครียด เป็นต้น [1]
แนวทางการรักษาริดสีดวงทวารโดย ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 และ The American Society of Colon and Rectal Surgeons Clinical Practice Guidelines for the Management of Hemorrhoids ค.ศ. 2018 [2] ทำได้หลายวิธีโดยพิจารณาจากชนิดและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก มีดังนี้
- การปรับพฤติกรรม โดยแนะนำเป็นแนวทางเสริมร่วมกับวิธีการรักษาอื่นในผู้ป่วยทุกราย เพิ่มอาหารที่มีเส้นใย ดื่มน้ำให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งอุจจาระนาน ลดการกินอาหารมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับการใช้ยาแนะนำให้ในผู้ที่อาการไม่รุนแรง
- การรักษาด้วยการจี้ริดสีดวงทวาร แนะนำในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบการปรับพฤติกรรมและการใช้ยา เช่น การใช้ยางรัด การฉีดยา และการจี้ด้วยอินฟราเรด ซึ่งต้องทำโดยแพทย์
- การรักษาด้วยการผ่าตัด แนะนำสำหรับโรคระยะที่ 3 และระยะที่ 4 [1,2]

Daflon® ประกอบด้วยตัวยา Micronized purified flavonoid fraction (MPFF) กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ เพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือดดำและลดความสามารถในการผ่านของสารบริเวณหลอดเลือดฝอยจึงทำให้การอักเสบลดลง จากการศึกษารูปแบบการสังเกต (observational study) ในการรักษาผู้ป่วยริดสีดวงทวารระยะที่ 1-4 ด้วย MPFF ผลการศึกษาพบว่า การได้รับ MPFF 1000 มก./วัน สามารถลดอาการปวด ลดอาการบวม ลดความรุนแรงของริดสีดวงทวารและเลือดออกบริเวณทวารหนักเมื่อรักษามากกว่า 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ในการศึกษานี้มีผู้ป่วยริดสีดวงทวารระยะที่ 4 ร้อยละ 64.2 ที่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารเนื่องจากอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับยา [3]

การรักษาริดสีดวงด้วยยา แนะนำในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยยาจะช่วยลดอาการปวด ลดอาการบวม [3,4] ลดความรุนแรงของริดสีดวงทวารและเลือดออกบริเวณทวารหนักได้ ซึ่งผู้ป่วยริดสีดวงทวารระยะที่ 4 อาจต้องใช้การรักษาวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย จากการให้ข้อมูลเบื้องต้น ผู้ถามมีก้อนเนื้อออกมาจากทวารหนักขนาดประมาณ 1/4 หรือเกือบครึ่งของรูทวาร ลองดันกลับเข้าไปแต่ดันไม่เข้า ลักษณะดังกล่าวมีโอกาสเป็นริดสีดวงทวารระยะที่ 4 จึงควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรับการรักษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง :
[1] แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรมลำไส้และทวารหนัก โรคริดสีดวงทวาร(Hemorrhoid). ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.rcst.or.th/web-upload/filecenter/CPG/Hemorrhoid.html. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566.
[2] Davis BR, Lee-Kong SA, Migaly J, Feingold DL, Steele SR. The American Society of Colon and Rectal Surgeons Clinical Practice Guidelines for the Management of Hemorrhoids: Dis Colon Rectum 2018;61(3):284–92.
[3] Zagriadski EA, Bogomazov AM, Golovko EB. Conservative treatment of hemorrhoids: results of an observational multicenter study. Adv Ther 2018;35(11):1979-1992.
[4] Alonso-Coello P, Zhou Q, Martinez-Zapata MJ, Mills E, Heels-Ansdell D, Johanson JF, Guyatt G. Meta-analysis of flavonoids for the treatment of haemorrhoids. Br J Surg 2006;93(8):909-20.
วันที่ตอบ : 07 ธ.ค. 66 - 15:44:40




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110