ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
หยุดน้ำนมไหล

แม่คลอดบุตรมาแล้ว 1 เดือน แล้วไม่ได้เลี้ยงลูกต่อ มีอาการเจ็บคัดเต้านม น้ำนมไหลไม่หยุด มีความจำเป็นต้องทำงาน พอจะมีแนวทางหยุดน้ำนมมั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 511] วันที่รับคำถาม : 21 พ.ค. 66 - 18:56:20 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การหลั่งน้ำนมเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนหลัก 2 ชนิด ได้แก่ prolactin ที่ส่งผลต่อการสร้างน้ำนม และ oxytocin ที่ทำให้น้ำนมไหล โดยในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมน estrogen และ progesterone ที่อยู่ในระดับสูงจะยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน prolactin และ oxytocin แหลังจากคลอดลูก ฮอร์โมน estrogen และ progesterone ลดลงทำให้ prolactin และ oxytocin เริ่มทำงาน [1,2]
...
ความใกล้ชิดของมารดากับลูก ทำให้ระดับฮอร์โมน oxytocin สูงขึ้น [3] ในขณะที่การกระตุ้นเต้านมโดยทารกจะกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกบริเวณหัวนมและส่งสัญญาณให้ยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาท dopamine บริเวณสมอง กระตุ้นให้เกิดการสร้าง prolactin และ oxytocin [3,4] ดังนั้น หากมารดาได้รับยาที่ไปยับยั้งการผลิต dopamine เช่น ยาต้านจิตเภท haloperidol จะทำให้เกิดการสร้างน้ำนมมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม การใช้ยาที่กระตุ้น dopamine เช่น bromocriptine หรือ cabergoline จะทำให้ยับยั้งการไหลของน้ำนมได้ [4] ซึ่ง bromocriptine สามารถส่งผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น อาการชัก โรคหลอดเลือดสมอง จึงมักไม่นิยมใช้ และใช้ cabergoline เป็นยาทางเลือกเนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่า และสามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่า [4,5] อย่างไรก็ตาม cabergoline เป็นยาที่ไม่ได้มีจำหน่ายในประเทศไทย
...
การศึกษาโดย Oladapo และคณะ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวิธีที่ใช้ยับยั้งการหลั่งน้ำนมในหญิงหลังคลอด พบว่ายาที่มีฮอร์โมน estrogen เป็นองค์ประกอบสามารถลดการสร้างน้ำนมได้ เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณ ethinyl estradiol มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ไมโครกรัมต่อเม็ด [7-9] อย่างไรก็ตาม ยาที่มีส่วนผสมของ estrogen อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ [7,9] นอกจากนี้มีการศึกษาที่ใช้ยา pseudoephedrine และพบว่าสามารถลดปริมาณน้ำนมได้เช่นกัน แต่เป็นการศึกษาขนาดเล็กซึ่งยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพได้อย่างแน่ชัด [10] ดังนั้น การพิจารณาใช้ยาเพื่อยับยั้งการหลั่งน้ำนม จึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจและคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและข้อห้ามใช้ของยาร่วมด้วย
...
นอกจากการใช้ยายับยั้งการหลั่งน้ำนม การสวมชั้นในที่กระชับเต้านม ใส่แผ่นซับน้ำนม ร่วมกับประคบเย็นประมาณ 15-20 นาที อาจช่วยยับยั้งการไหลของน้ำนมได้ ควรบีบน้ำนมออกอย่างเพียงพอและหยุดก่อนที่น้ำนมจะหมดเต้า และค่อย ๆ ลดระยะเวลาและความถี่ในการบีบน้ำนม ไม่ควรหยุดการให้นมหรือบีบน้ำนมออกโดยทันที เนื่องจากจะทำให้คัดตึงและเจ็บเต้านม เสี่ยงท่อน้ำนมอุดตันนำไปสู่โรคเต้านมอักเสบได้ ทั้งนี้ควรขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากแพทย์ หรือพยาบาลเพิ่มเติม [2,11]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Molina PE. Female Reproductive System. Available at: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3307§ionid=275922522. Accessed November 14, 2023.
[2]. Parish A, Doherty C. Physiology of lactation. Management of lactation following the death of a baby. infant 2021 Jan ;17(1):31-4.
[3]. World Health Organization. The physiological basis of breastfeeding. Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK148970/. Accessed November 19, 2023.
[4]. Al-Chalabi M, Bass AN, Alsalman I. Physiology, Prolactin. Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507829/. Accessed November 19, 2023.
[5]. Yang Y, Boucoiran I, Tulloch KJ, Poliquin V. Is cabergoline safe and effective for postpartum lactation inhibition? A systematic review. Int J Womens Health. 2020;12:159-70.
[6]. Berens P. Overview of the postpartum period: Normal physiology and routine maternal care. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2023. Accessed on November 15, 2023.
[7]. Oladapo OT, Fawole B. Treatments for suppression of lactation. Cochrane Database Syst Rev. 2012;(9):1-98.
[8]. Tankeyoon M, Dusitsin N, Chalapati S, Koetsawang S, Saibiang S, Sas M, et al. Effects of hormonal contraceptives on milk volume and infant growth: WHO Special Programme of Research and Development and Research Training in Human Reproduction, Contraception, 1987;30(6):505-522.
[9]. Bethesda. Contraceptives, Oral, Combined (LactMed®). Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501295/?fbclid=IwAR3V3-aQVv_KSvRPmoBnPuWUCEklAyox7sySV55awvx8Ovcdkl2TGZmGHmM. Accessed November 27, 2023.
[10]. Aljazaf K, Hale TW, Ilett KF, et al. Pseudoephedrine: effects on milk production in women and estimation of infant exposure via breastmilk. Br J Clin Pharmacol. 2003;56(1):18-24.
[11]. Gruege B. Weaning from the breast. Available at: https://cps.ca/en/documents/position/weaning-from-the-breast. Accessed November 14, 2023.

วันที่ตอบ : 12 ธ.ค. 66 - 10:17:50




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110