ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ฉีดวัคซีน HPV Gardasil9 เข็มแรก และเข็ม 2 ห่างกัน 15 ดือน

เข็มที่ 3 ต้องฉีดห่างจากเข็มที่ 2 กี่เดือนคะ
ไม่แน่ใจว่าเข็มแรกจะถือเป็นโมฆะหรือเปล่าเพราะว่าห่างจากเข็มที่ 2 มากกว่า 1 ปี
กรณีนี้ต้องนับเข็มที่ 2 เป็นเข็มแรกแทนไหมคะ
ถ้าฉีดครบ 3 เข็มแล้วจะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน HPV ไหมคะหรือควรที่จะเริ่มต้นขีด 3 เข็มใหม่เลย

[รหัสคำถาม : 512] วันที่รับคำถาม : 25 พ.ค. 66 - 21:18:23 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Human Papilloma virus (HPV) vaccine ที่ใช้ในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ชนิด และมีแนวทางในการฉีดวัคซีนแต่ละชนิด[1,2,4] ดังนี้
1. วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ มีชื่อการค้าว่า CervarixTM สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิด 16 และ 18 ได้ โดยสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมหมวกไต และเนื้องอกที่ปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV โดยมีรูปแบบการฉีดวัคซีนในช่วงอายุต่างๆ ดังนี้
- ผู้ที่อายุมากกว่า 9 ปีแต่น้อยกว่า 15 ปี ให้ฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ (IM) จำนวน 2 เข็ม ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็ม โดยเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 6 ถึง 12 เดือน
- ผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปี แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 45 ปี ให้ฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ (IM) จำนวน 3 เข็ม ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็ม โดยให้ฉีดเข็มสองห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และฉีดเข็มสามหลังจากเข็มแรก 6 เดือน หากไม่ได้ฉีดตามที่กำหนดให้ฉีดเข็มสองห่างจากเข็มแรก 1-2.5 เดือน และเข็มที่สามห่างจากเข็มแรก 5-12 เดือน
2. วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ มีชื่อการค้าว่า Gardasil® สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิด 6 , 11 , 16 และ 18 ซึ่งชนิด 16 และ 18 สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 66% และมีการเพิ่มชนิด 6 และ 11 ที่สามารถป้องกันหูดที่อวัยวะเพศได้ถึง 90% โดยมีรูปแบบการฉีดวัคซีนในช่วงอายุต่างๆ ดังนี้
- ผู้ที่อายุ <15 ปี ให้ฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ (IM) จำนวน 2 เข็ม ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็ม โดยเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 6 ถึง 12 เดือน หากไม่สามารถฉีดได้ตามที่กำหนด สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่สองห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 5 เดือน
- ผู้ที่อายุ >15 ปี ให้ฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ (IM) จำนวน 3 เข็ม ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็ม โดยให้ฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือนและเข็มที่สาม 6 เดือนหลังจากฉีดเข็มแรก
3. วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ มีชื่อการค้าว่า Gardasil® 9 สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิด 16 , 18 , 31 , 33 , 45 , 52 และ 58 ที่ทำให้เกิดเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งคอหอย[3] นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิด 6 เเละ 11 ที่ทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศได้ โดยมีรูปแบบการฉีดวัคซีนในช่วงอายุต่างๆ ดังนี้
- ผู้ที่อายุ 9-14 ปี ให้ฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ (IM) โดยสามารถฉีดได้ทั้งแบบจำนวน 2 เข็ม หรือ 3 เข็ม ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็ม หากฉีดแบบ 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มที่สองหลังจากเข็มแรก 6 ถึง 12 เดือน (ขั้นต่ำ 5 เดือน) หากฉีดแบบ 3 เข็ม ให้ฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน ฉีดเข็มที่สาม 6 เดือน (ขั้นต่ำ 5 เดือน) หลังจากเข็มแรก และหากฉีดระยะเวลาเร็วกว่า 5 เดือน ให้ฉีดซ้ำ
- ผู้ที่อายุ 15-45 ปี ให้ฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ (IM) จำนวน 3 เข็ม ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตรต่อเข็ม ให้ฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน ฉีดเข็มที่สาม 6 เดือน (ขั้นต่ำ 5 เดือน) หลังจากเข็มแรก และหากฉีดระยะเวลาเร็วกว่า 5 เดือน ให้ฉีดซ้ำ
...
จากการศึกษาแบบ randomized controlled trials เพื่อประเมินการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV และความปลอดภัยของวัคซีน HPV จำนวน 1 เข็มเปรียบเทียบกับสูตรยาจำนวน 2 หรือ 3 เข็ม ในเด็กผู้หญิงอายุ 9-14 ปี ชาวแทนซาเนีย โดยทำการสุ่มเพื่อแบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ ให้ได้รับ CervarixTM จำนวน 1 , 2 หรือ 3 เข็ม และ Gardasil® 9 จำนวน 1 , 2 หรือ 3 เข็ม ผู้เข้าร่วม 922 คนได้รับการฉีดวัคซีนแต่ละเข็มภายในกรอบเวลาที่กำหนด โดยมีรูปแบบการฉีดวัคซีน คือ เข็มสองห่างจากเข็มแรก 1 เดือน เมื่อฉีดของ CervarixTM หรือวัคซีนเข็มสองห่างไป 2 เดือนจากวัคซีนเข็มแรก เมื่อฉีดของ Gardasil® 9 และห่างไป 6 เดือนสำหรับวัคซีนเข็ม 3 และเมื่อติดตามจนครบ 24 เดือน พบว่า ผลการตรวจภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV เมื่อได้รับวัคซีน Gardasil® 9 จำนวน 1 เข็มไม่ด้อยกว่ากันเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Gardasil® 9 จำนวน 2 เเละ 3 เข็ม[5] และมีการศึกษาต่อจากการศึกษานี้โดยทำการศึกษาแบบ randomized controlled trials ในเด็กผู้หญิงอายุ 9-14 ปี ชาวแทนซาเนีย เพื่อเปรียบเทียบผลการตรวจภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV จากการได้รับวัคซีนที่ 24 เดือน โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับวัคซีนชนิด 2 และ 9 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม ตามรูปแบบการฉีดวัคซีนเปรียบเทียบกับการได้รับวัคซีนกลุ่มเก่า โดยในงานวิจัยครั้งนี้ผู้เข้าร่วมจำนวน 154 คน จะได้รับวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม ผู้เข้าร่วม 152 จะได้รับวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์จำนวน 1 เข็ม หลังจากทุกคนได้รับวัคซีนครบจะนัดติดตามผลในอีก 24 เดือน เมื่อครบ 24 เดือนหลังจากได้รับวัคซีน พบว่า จากการได้รับวัคซีนแต่ละชนิดจำนวน 1 เข็ม ผลการตรวจภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ชนิด 16 และ 18 ในวัคซีนแต่ละชนิดไม่แตกต่างกัน[6]
...
การศึกษาแบบ randomized controlled trials เพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV และผลข้างเคียงของวัคซีน จากการได้รับตารางการให้วัคซีนที่แตกต่างกันของวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ในวัยรุ่นหญิงอายุ 11-13 ปี ชาวเวียดนาม โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับวัคซีนจำนวน 3 เข็ม ตามตารางการให้วัคซีนทางเลือก (0 , 3 และ 9 เดือน หรือ 0 , 6 และ 12 เดือน หรือ 0 , 12 และ 24 เดือน) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจำนวน 3 เข็ม ตามตารางมาตรฐาน (0 , 2 และ 6 เดือน) ในการวิเคราะห์ผลการรักษา เด็กผู้หญิงจำนวน 809 คนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม จะได้รับการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ระยะเวลา 1 เดือนหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ผลการศึกษาพบว่า การให้วัคซีน HPV ตามตารางมาตรฐานและตารางทางเลือกสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้ดี โดยการได้รับวัคซีนตามตารางทางเลือก 2 รูปแบบ คือ ที่ 0 , 3 และ 9 เดือน และที่ 0 , 6 และ 12 เดือน มีระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ใกล้เคียงเทียบเท่ากับตารางการได้รับวัคซีนตามมาตรฐาน[7]
...
จากการสืบค้นข้อมูลสามารถสรุปได้ว่า ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่ไม่เป็นไปตามแผนการฉีดวัคซีนแบบมาตรฐาน แต่มีการศึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เกี่ยวกับการวัดระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นของวัคซีน จากการได้รับตารางการให้วัคซีนที่แตกต่างกันตามตารางทางเลือก 2 รูปแบบ คือ ที่ 0 , 3 และ 9 เดือน และที่ 0 , 6 และ 12 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับวัคซีนที่ 0 , 2 และ 6 เดือนซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐาน พบว่า ไม่ได้ส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ลดลง แต่การฉีดวัคซีนรูปแบบ 0 , 12 และ 24 เดือน อาจมีระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ต่ำกว่ารูปแบบอื่นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก
...
หากฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองห่างกัน 15 เดือน ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดวัคซีน HPV เข็มแรกใหม่ โดยสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ตามแบบแผนมาตรฐานต่อไปได้เลย โดยเข็มที่ 3 ควรฉีดห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 9 เดือน เนื่องจากมีการศึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มแรกห่างจากเข็มที่ 3 ประมาณ 24 เดือน พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนตามรูปแบบมาตรฐาน แต่หากเกินระยะเวลาดังกล่าวไปยังไม่มีการศึกษามารองรับ อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วยทุกปี
...
เอกสารอ้างอิง :
[1] Papillomavirus (Types 16, 18) Vaccine. In: Access Medicine [database on the internet]. American: McGraw-Hill Medical. [cited 2023 November 20]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/drugs.aspx?gbosID=132613#monoNumber=132613§ionID=232892132&tab=tab0
[2] Human Papilloma Vaccine. In: ClinicalKey [database on the internet]. Netherlands: Elsevier. [cited 2023 November 12]. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/book/3-s2.0-B9780323546423000586?scrollTo =%23hl0001194
[3] Papillomavirus (9-Valent) Vaccine. In: Access Medicine [database on the internet]. American: McGraw-Hill Medical. [cited 2023 November 12]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/drugs.aspx?gbosID=427214#monoNumber=427214§ionID=240710503&tab=tab0
[4] Human Papillomavirus 9-Valent Vaccine. In: ClinicalKey [database on the internet]. Netherlands: Elsevier. [cited 2023 November 12]. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-3967?scrollTo=%23Indications
[5] Watson-Jones D, Changalucha J, Whitworth H, et al. Immunogenicity and safety of one-dose human papillomavirus vaccine compared with two or three doses in Tanzanian girls (DoRIS): an open-label, randomised, non-inferiority trial. Lancet Glob Health. 2022;10(10):e1473-e1484. doi:10.1016/S2214-109X(22)00309-6
[6] Baisley K, Kemp TJ, Kreimer AR, et al. Comparing one dose of HPV vaccine in girls aged 9-14 years in Tanzania (DoRIS) with one dose of HPV vaccine in historical cohorts: an immunobridging analysis of a randomised controlled trial. Lancet Glob Health. 2022;10(10):e1485-e1493. doi:10.1016/S2214-109X(22)00306-0
[7] Neuzil KM, Canh DG, Thiem VD, et al. Immunogenicity and reactogenicity of alternative schedules of HPV vaccine in Vietnam: a cluster randomized noninferiority trial. JAMA. 2011;305(14):1424-1431. doi:10.1001/jama.2011.407

วันที่ตอบ : 08 ธ.ค. 66 - 14:15:04




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110