≡
Home
ตั้งคำถามใหม่
ติดต่อสอบถาม
เข้าระบบ
ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ
คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"
Search :
vinegar รักษาโรค NCDs และมะเร็งได้จริงไหม?
อยากทราบว่า vinegar สามารถใช้รักษาโรค NCDs และมะเร็งได้จริงไหม เพราะไปอ่านเจอจากศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านของต่างประเทศมาว่าสามารถรักษาได้
[รหัสคำถาม : 513] วันที่รับคำถาม : 26 พ.ค. 66 - 10:03:37 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ
เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม
No : 1
Non-communicable diseases หรือกลุ่มโรค NCDs เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง) โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง และโรคปวดข้อรูมาตอยด์
...
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกลุ่มโรค NCDs ได้แก่ ปัจจัยด้านนิสัยหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ปัจจัยด้านพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข และปัจจัยทางสังคมและประชากร และมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารรสจัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย นอนดึก ความเครียด เป็นต้น[1]
...
น้ำส้มสายชู (vinegar) แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ น้ำส้มสายชูหมัก (fermented vinegar), น้ำส้มสายชูกลั่น (distilled vinegar) และน้ำส้มสายชูเทียม (artificial vinegar) ซึ่งน้ำส้มสายชูกลั่นและน้ำส้มสายชูเทียมได้มาจากการนำกรดอะซิติกมาเจือจางด้วยน้ำ ส่งผลให้มีกลิ่นและรสชาติที่ค่อนข้างแรงเกินไปสำหรับใช้ในการปรุงอาหารเมื่อเทียบกับน้ำส้มสายชูหมัก จึงนิยมนำไปใช้ในการดองอาหารและดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์มากกว่า[2]
...
ในสมัยอาณาจักรกรุงบาบิโลเนีย (Babylonia) น้ำส้มสายชูหมักได้ถูกนำมาใช้ในการถนอมอาหาร ปรุงอาหาร และถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เช่น ใช้ในการสมานบาดแผล ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราและแบคทีเรีย ใช้รักษาอาการปวดท้อง/ปวดท้องมาน รวมไปถึงการใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด[3] ซึ่งน้ำส้มสายชูหมักนิยมหมักจากข้าว เมล็ดธัญพืช และผลไม้ เช่น แอปเปิล สับปะรด อ้อย องุ่น เป็นต้น ผ่านกระบวนการหมัก 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ และขั้นตอนการออกซิเดชันแอลกอฮอล์เป็นกรดอะซิติก[1] น้ำส้มสายชูหมักประกอบด้วยกรดโพลีฟีนอล กรดอินทรีย์ (โดยเฉพาะกรดอะซิติก) เตตราเมทิลเพอราซีน และเมลาโนดิน[4] ซึ่งสารเหล่านี้มีผลให้น้ำส้มสายชูมีคุณประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย ดังตัวอย่างการศึกษาต่อไปนี้
...
1. ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (antihyperglycemic effect)
1.1 การศึกษาในสัตว์ทดลอง (หนูตัวผู้) ที่ได้รับ 25% casein-sucrose เป็นเวลานาน 2 สัปดาห์จำนวน 6 ตัวของ Ebihara, et al (1988) พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นแล้วลดลงอย่างรวดเร็วหลังได้รับกรดอะซิติกที่มีความเข้มข้น 2% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับกรดอะซิติก
1.2 การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 7 คนของ Ebihara, et al (1988) พบว่ากลุ่มทดลองที่ได้รับสารละลายซูโครสและน้ำส้มสายชูหมักจากสตรอว์เบอร์รี (มีกรดอะซิติก 5% เป็นส่วนประกอบ) นาน 1 สัปดาห์ มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับเพียงสารละลายซูโครส[5]
1.3 การศึกษา randomized crossover study ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ยังไม่ได้รับยารักษาโรคเบาหวาน จำนวน 11 คนของ Mitrou, et al (2015) พบว่าการบริโภคน้ำส้มสายชู 30 มล.(มีกรดอะซิติก 6% เป็นส่วนประกอบ) มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร, ลดระดับอินซูลินในรายที่มีภาวะอินซูลินสูง และลดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับเพียงน้ำ 50 มล. ซึ่งเป็นผลจากกรดอะซิติกช่วยเพิ่มการดูดซึมกลูโคส และเพิ่มการทำงานของอินซูลินที่กล้ามเนื้อลาย แต่ในขณะเดียวกัน พบว่าการบริโภคน้ำส้มสายชูไม่มีผลต่อการสลายตัวของไขมัน[6]
2. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant effect)
2.1 รายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำองุ่น และน้ำส้มสายชูหมักจากองุ่น โดย Davalos, et al (2005) พบว่าสารประกอบฟีโนลิกและวิตามินบางชนิดที่พบในน้ำส้มสายชูมีความสามารถในการป้องกันความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidative stress) นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่ทำหน้าที่ในการช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ[4]
3. ฤทธิ์ลดระดับไขมันในโลหิต (antihyperlipidemia effect)
3.1 การศึกษา quasi-experiment study (time series design) ปี 2012 ในผู้ป่วยไขมันในโลหิตสูงจำนวน 19 คน พบว่าระดับ total cholesterol, triglyceride และ LDL มีค่าลดลงหลังบริโภคน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล 30 มล. เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์[7]
4. ฤทธิ์ต้านจุลชีพ (antimicrobial effect)
4.1 การศึกษาสารประกอบฟีโนลิกและสารสกัดที่ได้จากพืช 29 ชนิดในประเทศฟินแลนด์ของ Radha, et al (2000) พบว่าสารประกอบฟีโนลิกและกรดอะซิติกที่ได้จากการสกัดนั้นมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารและช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในผักและผลไม้สดได้[8]
5. ฤทธิ์ต้านความอ้วน (anti-obesity effect)
5.1 การศึกษา a single blind, parallel, randomized controlled trial ในผู้ป่วยที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม จำนวน 40 คน ของ Techavichian, et al (2020) พบว่าการบริโภคน้ำส้มสายชูครั้งละ 15 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของร่างกาย โดยน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล (มีกรดอะซิติก 5% เป็นส่วนประกอบ) มีส่วนช่วยลดเส้นรอบวงเอว, น้ำส้มสายชูหมักจากข้าว (มีกรดอะซิติก 4.5% เป็นส่วนประกอบ) ช่วยลดเส้นรอบวงของสะโพก, น้ำส้มสายชูจากดอกมะพร้าว (มีกรดอะซิติก 5% เป็นส่วนประกอบ) มีส่วนช่วยในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย[9]
6. ฤทธิ์ต้านเนื้องอก (antitumor effect)
6.1 การศึกษาสารสกัดจากน้ำส้มสายชูหมักจากข้าวญี่ปุ่น (Kurosu) ของ Nanda K, et al (2004) พบว่าเอทิลอะซิเตตซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จาก Kurosu นั้นมีความสามารถในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งที่พบได้บ่อยในมนุษย์ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งต่อมลูกหมากได้[10]
...
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงจากการบริโภคน้ำส้มสายชู พบว่ามีรายงานการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการบริโภคน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิลมากขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือการพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนจากการบริโภคน้ำส้มสายชูติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ นอกจากนี้การบริโภคน้ำส้มสายชูเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อการทำงานของตับและกระบวนการเมทาบอลิซึมของร่างกายได้เช่นกัน[10]
...
โดยสรุปน้ำส้มสายชูหมักเป็นน้ำส้มสายชูที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหาร และเป็นสารกันเสียเพื่อช่วยถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน มีการศึกษา/งานวิจัยจำนวนไม่น้อยให้ข้อมูลสนับสนุนประโยชน์เพื่อสุขภาพของน้ำส้มสายชู ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์ต้านเบาหวาน, ต้านอนุมูลอิสระ, ต้านไขมันในโลหิตสูง, ต้านจุลชีพ, ต้านอักเสบ เป็นต้น แต่ข้อมูลการศึกษาส่วนใหญ่นั้นเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างประชากรที่ค่อนข้างน้อย ข้อมูลที่ได้อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นตัวแทนกลุ่มประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังขาดหลักฐานการศึกษาเชิงลึกในอีกหลายประเด็น เช่น ชนิดของน้ำส้มสายชูที่ควรบริโภค ปริมาณมาตรฐานที่ควรบริโภคต่อวัน ระยะเวลาที่ควรบริโภคเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ปัจจัยด้านโรคร่วม และยาและ/หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้ป่วยจะมีผลต่อผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการบริโภคน้ำส้มสายชูหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบในอนาคตจากการบริโภคน้ำส้มสายชูติดต่อกันเป็นระยะเวลานานด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากมีความประสงค์ที่จะบริโภคน้ำส้มสายชูเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ หรือเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการประเมินเกี่ยวกับโรคร่วมหรือปัจจัยสุขภาพด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดต่อตัวผู้บริโภคเอง
...
เอกสารอ้างอิง :
[1] Budreviciute A, Damiati S, Sabir DK, Onder K, Schuller-Goetzburg P, Plakys G, et al. Management and Prevention Strategies for Non-communicable Diseases (NCDs) and Their Risk Factors. Front Public Health. 2020;8:57411. Doi: 10.3389/fpubh.2020.574111.
[2] Saithong P, Permpool J. Health benefits of fermented vinegar. Food Journal. 2019;49:17-24.
[3] Johnston CS, Gaas AC. Vinegar: Medical Uses and Antiglycemic Effect. MedGenMed. 2006 May 30;8(2):61.
[4] Ousaaid D, Mechchate H, Laaroussi H, Hano C, Bakour M, Ghouizi AE, Conte R, et al. Fruits Vinegar: Quality Characteristics, Phytochemistry, and Functionality. Molecules. 2022 Jan;27(1):222. Doi: 10.3390/molecules27010222.
[5] Ebihara K, Nakajima A. Effect of Acetic Acid and Vinegar on Blood Glucose and Insulin Responses to Orally Administered Sucrose and Starch. Agric Biol Chem. 1988;52(5);1311-2.
[6] Mitrou P, Petsiou E, Papakonstantinou E, Maratou E, Lambadiari V, Dimitriadis P, et al. Vinegar Consumption Increases Insulin-Stimulated Glucose Uptake by the Forearm Muscle in Humans with Type 2 Diabetes. J Diabetes Res. 2015. May;2015(175204). doi: 10.1155/2015/175204.
[7] Beheshti Z, Chan YH, Nia HS, Hajihosseini F, Nazari R, Shaabani M, et al. Influence of apple cider vinegar on blood lipids. Life Science Journal. 2012;9(4):2431-40.
[8] Rauha JK, Remes S, Heinonen M, Hopia A, Kahkonen M, Kujala T, et al. Antimicrobial effects of Finnish plant extracts containging flavonoids and other phenolic compounds. International Journal of Food Microbiology. 2000;50(1):3-12.
[9] Techavichian M, Thapcharoen Y, Sapwarobol S, Sanporkha P, Hudthagosol C. Effect of Cider Vinergar Consumption on Anthropometry and Body Composition Changes among Individuals with Metabolic Syndrome. Thai Journal of Public Health. 2020 Dec;50 (3): 278-91.
[10] Nanda K, Miyoshi N, Nakamura Y, Shimoji Y, Tamura Y, Nishikawa Y, Uenakai K, et al. Extract of Vinegra “Kurosu” from Unpolished Rice Inhibits the Proliferation of Human Cancer Cells. Journal of Experimental & Clinical Cancer Research. 2023;23(1):69-75.
[11] Launholt TL, Kristiansen CB, Hjorth P. Safety and side effects of apple vinegar intake and its effect on metabolic parameters and body weight: a systematic review. Eur J Nutr. 2020 Sep;59(6):2273-89. doi: 10.1007/s00394-020-02214-3.
วันที่ตอบ : 07 ธ.ค. 66 - 14:42:28
<กลุ่มคำถาม>
Product Information
[ 19 ]
Compatibility/Stability
[ 4 ]
Compounding/Formulation
[ 2 ]
Therapy Evaluation/Drug of Choice
[ 67 ]
Adverse Effects/Toxicities
[ 36 ]
Drug Interactions
[ 12 ]
Pregnancy&Lactation /Teratogenicity/Infant risk
[ 11 ]
Herbal&Traditional Medicine
[ 9 ]
Laws/Policy&Procedure
[ 2 ]
[Medication Administration Safety]
[ 5 ]
[Neurosurgery]
[ - ]
[Infectious disease]
[ 2 ]
พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110