ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ไตอักเสบ โปรตีนรั่ว

ไตอักเสบ โปรตีนรั่ว มียาที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า prednisolone หรือว่าไม่ใช่สเตียรอยด์ไหมคะ

[รหัสคำถาม : 517] วันที่รับคำถาม : 30 พ.ค. 66 - 13:55:35 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สาเหตุการเกิดโรคไตอักเสบมีหลายประการ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ติดเชื้อ ได้รับสารพิษ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลิ่มเลือดอุดตัน[1] ทำให้เกิดการอักเสบของไต เกิดเลือดออกในปัสสาวะ โปรตีนรั่วในปัสสาวะในปริมาณมากกว่า 3.5 กรัมต่อวัน ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น บวม และ azotemia หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้การทำงานของไตลดลง จนถึงขั้นไตวายเรื้อรังหรือไตวายระยะสุดท้ายได้[2] การรักษาโรคไตอักเสบแนะนำให้ใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ คือ prednisolone ขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน (1 mg/kg/day) แต่ไม่ควรเกิน 80 มิลลิกรัมต่อวัน หรือขนาด 2 mg/kg/day แต่ไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 4 – 16 สัปดาห์ หากไม่สามารถใช้ยา prednisolone ได้ แนะนำให้ใช้ยา cyclophosphamide ขนาด 2 – 2.5 mg/kg/day เป็นระยะเวลา 8 – 12 สัปดาห์ หรือ cyclosporine ขนาด 3 – 5 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง หรือ tacrolimus ขนาด 0.1 – 0.2 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาอย่าง 4 – 6 เดือน จนครบ 1 ปี หากมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาข้างต้นได้ จะแนะนำให้ใช้ยา mycophenolate mofetil ขนาด 500 – 1,000 มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 – 2 ปี[3]

อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญจากการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้แก่ การกดการทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง และต่อมหมวกไต เนื่องจาก การรบกวนการทำงานในบริเวณ hypothalamic-pituitary-adrenal (HPA) axis นอกจากนี้ อาจพบการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ภาวะ Cushingoid features ผิวหนังบาง สิว ขนดก เลือดออกในทางเดินอาหาร กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า ความจำบกพร่อง ต้อกระจก ต้อหิน และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นต้น[4] ส่วนยากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ cyclosporine, tacrolimus, cyclophosphamide และ mycophenolate mofetil มีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ แต่ผลการศึกษาด้านความปลอดภัยของ Lee และคณะ[5] พบว่าการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์มีความปลอดภัยสูงที่สุด เมื่อเทียบกับการใช้ยา tacrolimus, mycophenolate mofetil และ cyclophosphamide โดยพบความเสี่ยงของการติดเชื้อสูงกว่ายากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ 100 เท่า, 10 เท่า และ 6.25 เท่า ตามลำดับ ในขณะที่ Matsumoto และคณะ[6] พบว่า cyclosporine มีอาการไม่พึงประสงค์น้อยกว่าการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ส่วนผลการศึกษาของ Medjeral-Thomas และคณะ[7] ไม่พบความแตกต่างของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา tacrolimus เมื่อเทียบกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (p=0.99) ดังนั้น การเลือกยาในการรักษาโรคไตอักเสบ จึงควรพิจารณาในด้านการตอบสนองต่อการรักษา ประสิทธิภาพ และอาการไม่พึงประสงค์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ภายใต้คำแนะนำและการตรวจติดตามอาการต่าง ๆ จากแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนการลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ แนะนำให้ใช้กลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) หรือยากลุ่ม angiotensin II receptor blockers (ARBs) หรือยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ เช่น calcium channel blockers (CCBs) กลุ่ม non-dihydropyridine หรือยากลุ่ม beta-blockers เป็นต้น[3]

เอกสารอ้างอิง :
[1]. Lewis JB, Neilson EG. Glomerular Diseases. In: Loscalzo J, Fauci A, Kasper D, Hauser S, Longo D, Jameson J. eds. Harrison's Principles of Internal Medicine, 21e. McGraw Hill; 2022. Accessed November 28, 2023. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3095§ionid=263549889
[2]. Kazi AM, Hashmi MF. Glomerulonephritis. [Updated 2023 Jun 26]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560644/
[3]. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. 2561. ข้อแนะนำเวชปฏิบัติทั่วไป โรคไตโกลเมอรูลัสในผู้ใหญ่. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. https://www.nephrothai.org/wp-content/uploads/2021/10/ข้อแนะนำเวชปฏิบัติทั่วไปโรคไตโกลเมอรูลัสในผู้ใหญ่-2561.pdf
[4]. Kenneth G. Major adverse effects of systemic glucocorticoids. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA (Accessed on November 13, 2023.)
[5]. Lee YH, Song GG. Comparative Efficacy and Safety of Tacrolimus, Cyclosporin A, Mycophenolate Mofetil, Cyclophosphamide, and Corticosteroids as Induction Therapy for Membranous Lupus Nephritis: A Network Meta-Analysis. Pharmacology. 2022;107(9-10):439-445. doi:10.1159/000525066
[6]. Matsumoto H, Nakao T, Okada T, et al. Favorable outcome of low-dose cyclosporine after pulse methylprednisolone in Japanese adult minimal-change nephrotic syndrome. Intern Med. 2004;43(8):668-673. doi:10.2169/internalmedicine.43.668
[7]. Medjeral-Thomas NR, Lawrence C, Condon M, et al. Randomized, Controlled Trial of Tacrolimus and Prednisolone Monotherapy for Adults with De Novo Minimal Change Disease: A Multicenter, Randomized, Controlled Trial [published correction appears in Clin J Am Soc Nephrol. 2020 Jul 1;15(7):1027]. Clin J Am Soc Nephrol. 2020;15(2):209-218. doi:10.2215/CJN.06180519

วันที่ตอบ : 16 ม.ค. 67 - 15:21:27




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110