ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาไมเกรน

ประสิทธิภาพยาในการรักษาไมเกรน ตัวไหน ใช้ได้ดีกว่ากันหรอคะ ระหว่าง eletriptan,sumatriptan,ergotamine

[รหัสคำถาม : 522] วันที่รับคำถาม : 28 มิ.ย. 66 - 17:47:09 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ไมเกรน คือ อาการปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยไมเกรนมักมีอาการ ปวดศีรษะข้างเดียว ปวดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไวต่อแสงหรือเสียงได้ โดยพยาธิสรีรวิทยาของไมเกรนในปัจจุบันยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวและการอักเสบของหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมอง ทำให้รบกวนเครือข่ายประสาทควบคุมความเจ็บปวดในศีรษะ สารสื่อประสาท เช่น ซีโรโทนิน มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ การยับยั้งตัวรับซีโรโทนินบริเวณหลอดเลือดภายในสมอง ทำให้เกิดการส่งสัญญาณความเจ็บปวด การรักษาจึงมุ่งเป้าหมายไปที่การกระตุ้นตัวรับซีโรโทนิน เพื่อลดอาการปวด โดยทำให้หลอดเลือดภายในสมองหดตัว และยับยั้งเปปไทด์บางชนิด ได้แก่ substance P และ calcitonin gene-related peptide (CGRP)[1]
.
สำหรับยารักษาอาการปวดไมเกรนแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ยาแก้ปวดทั่วไป ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง ประกอบด้วย acetaminophen (paracetamol) และกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น aspirin, ibuprofen, naproxen, diclofenac เป็นต้น (2) ยาแก้ปวดที่จำเพาะต่อไมเกรน ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับซีโรโทนินของหลอดเลือดภายในสมอง ได้แก่ ergotamine ใช้สำหรับบรรเทาอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และ ยากลุ่ม triptans เช่น sumatriptan, eletriptan เป็นต้น ยากลุ่มนี้ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะปานกลางถึงรุนแรง โดยสามารถกระตุ้นตัวรับซีโรโทนินชนิด 1B และ 1D ได้อย่างจำเพาะมากกว่า ergotamine[2,3]
.
จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานเครือข่าย โดย Yang และคณะ ในปี 2021 เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาต้านไมเกรนได้แก่ Lasmiditan, Rimegepant, Ubrogepant และยาในกลุ่ม triptans พบว่า sumatriptan 100 มก. ให้ผลลัพธ์ในการทำให้หายปวดไมเกรน (pain freedom) ที่ 2 ชั่วโมงหลังกินยามากกว่า sumatriptan 50 มก. (OR 1.28, 95%CI 1.01-1.64) เช่นเดียวกับ eletriptan 40 มก. ทำให้หายปวดไมเกรนที่ 2 ชั่วโมงหลังกินยา มากกว่า eletriptan 20 มก. (OR 1.85, 95%CI 1.37-2.50) เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง eletriptan 40 มก. กับ sumatriptan 100 มก. และ eletriptan 20 มก. กับ sumatriptan 50 มก. พบว่ายาทั้งสองชนิดทำให้หายปวดไมเกรนที่ 2 ชั่วโมงไม่แตกต่างกัน (OR 1.26, 95%CI 0.98-1.62 และ OR 0.87, 95%CI 0.60-1.26 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการลดปวด (pain relief) ที่ 2 ชั่วโมงหลังกินยา พบว่า eletriptan 40 มก. ลดปวดได้ดีกว่า eletriptan 20 มก., sumatriptan 100 มก. และ sumatriptan 50 มก. ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR 1.67, 95%CI 1.30-2.13; OR 1.38, 95%CI 1.16-1.63 และ OR 1.45, 95%CI 1.19-1.77 ตามลำดับ) ในขณะที่ eletriptan 20 มก., sumatriptan 100 มก. และ sumatriptan 50 มก. บรรเทาอาการปวดที่ 2 ชั่วโมงได้ไม่แตกต่างกัน[4]
.
ในด้านความปลอดภัย ยา ergotamine เกิดผลข้างเคียงมากกว่าในกลุ่ม triptans เนื่องจากยาสามารถกระตุ้นตัวรับอัลฟา-1 และโดปามีน-2 ได้นอกเหนือจากตัวรับซีโรโทนินชนิด 1B และ 1D ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มึนงงหรือเวียนศีรษะ หลอดเลือดส่วนปลายตีบได้มากกว่ายาในกลุ่ม triptans สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจาก sumatriptan และ eletriptan ได้แก่ เหนื่อย อ่อนเพลีย แต่ไม่รุนแรงและเป็นชั่วคราว[5] ยา ergotamine ไม่ควรให้ร่วมกับยากลุ่ม triptans เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการหดตัวของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดส่วนปลาย และสามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะ serotonin syndrome โดยอาจมีไข้สูง กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก กระสับกระส่าย เป็นต้น และอาจเป็นอันตรายรุนแรงถึงแก่ชีวิต หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองชนิด ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ยาแก้ปวดไมเกรนไม่ควรใช้ต่อเนื่องมากกว่าเดือนละ 10 วัน เพราะมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกิน (drug over-used headache) กรณีมีความถี่อาการปวดศีรษะมากกว่าหรือเท่ากับ 4 วันต่อเดือน อาจพิจารณาให้การรักษาแบบป้องกันโดยอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์[2]
.
โดยสรุป ergotamine ใช้รักษาไมเกรนระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ในขณะที่ยากลุ่ม triptans ใช้รักษาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งในขนาดยาที่เทียบเคียงกัน eletriptan และ sumatriptan ทำให้หายปวดไมเกรนที่ 2 ชั่วโมงได้ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การใช้ยา eletriptan ขนาด 40 มก. สามารถลดปวดที่ 2 ชั่วโมง ได้ดีกว่า eletriptan 20 มก., sumatriptan 100 มก. และ sumatriptan 50 มก.
.
ยา sumatriptan และ eletriptan มีประสิทธิภาพดีกว่าในการรักษาไมเกรนระดับปานกลางถึงรุนแรง ขณะที่ ergotamine ใช้รักษาไมเกรนระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง[2] โดย eletriptan 20 mg มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับ sumatriptan 50 mg[4]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Johra Khan, Lubna Ibrahim Al Asoom, Ahmad Al Sunni, et al. Biomedicine & Pharmacotherapy, 2021-07-01, Volume 139, Article 111557.
[2]. ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและการรักษาปวดศีรษะไมเกรน 2565. กรุงเทพฯ; ชมรม; 2565.
[3]. Migraine in adult. In Specific Database [Clinicalkey]. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/clinical_overview/67-s2.0-8c21b3b2-6041-4c3f-83e5-f08920f9760f. Accessed 13 November 2023.
[4]. Yang C, Liang C, Chang C, et al. Comparison of New Pharmacologic Agents With Triptans for Treatment of Migraine: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Netw Open. 2021;4(10):e2128544. doi:10.1001/jamanetworkopen.2021.28544
[5]. A randomized, double-blind comparison of sumatriptan and Cafergot in the acute treatment of migraine. The Multinational Oral Sumatriptan and Cafergot Comparative Study Group. Eur Neurol. 1991;31(5):314-22. doi: 10.1159/000116759. PMID: 1653139.

วันที่ตอบ : 08 ธ.ค. 66 - 15:23:36




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110