ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
adverse effect

ปัจจุบัน acetylcysteine รูปแบบเม็ดฟู่มักจะพบเฉพาะ ขนาด 600 mg อยากทราบว่า เด็กทานได้มั๊ยคะ เด็กเล็กมากๆ ทานไปต่อเนื่องแล้วจะเป็นอะไรมั๊ย เนื่องจากน้องมีเสมหะเหนี่ยวข้นมากๆ ค่ะ

[รหัสคำถาม : 523] วันที่รับคำถาม : 29 มิ.ย. 66 - 12:54:40 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Acetylcysteine เป็นยาละลายเสมหะ (mucolytic) ที่ใช้ในโรคทางเดินหายใจทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยรูปแบบยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ acetylcysteine ขนาด 600 mg ชนิดเม็ดฟู่ และขนาด 100, 200, 300, และ 600 mg ชนิดแกรนูลสำหรับละลายน้ำ ขนาดยาที่แนะนำในเด็กอายุ 2-6 ปี คือรูปแบบแกรนูล กินครั้งละ 100 mg วันละ 2-4 ครั้ง สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่มีขนาดยาที่แนะนำ และห้ามใช้ยาเม็ดฟู่ขนาด 600 mg ในเด็กอายุน้อยกว่า 14 ปีเนื่องจากอาจได้รับยาเกินขนาด [1,2]

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน (systematic review and meta-analysis)  เกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา acetylcysteine เพื่อเสริมการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี พบว่าไม่แตกต่างจากยาหลอก [3] และมีรายงานพบว่าในเด็กที่ได้รับยาละลายเสมหะ อาจมีเสมหะในหลอดลมมากขึ้น หายใจลำบาก หรือมีอาการไอรุนแรงขึ้น [4] สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งอเมริกา (American Academy of Allergy Asthma and Immunology) มีคำแนะนำว่า ไม่มีความจำเป็นในการจ่ายยาละลายเสมหะเพื่อรักษาอาการไอและเสมหะในเด็ก หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรอยู่ในดุลยพินิจของกุมารแพทย์ [5]

สำหรับยาละลายเสมหะชนิดอื่น ได้แก่ bromhexine, ambroxol และ carbocysteine เป็นยาที่มีข้อมูลความปลอดภัยสามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่ และเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป แต่หลักฐานด้านประสิทธิภาพในการลดเสมหะยังไม่ชัดเจน [6-8] หากมีการใช้ยาละลายเสมหะในเด็กเล็ก ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หากต้องการลดเสมหะในเด็ก ควรดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ และกำจัดเสมหะออกด้วยลูกยาง [9]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Acetylcysteine PIL. Thai National Drug Information. 2016 [cited 14 November 2023]. Available from: https://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_doc/acetylcysteine--PIL-final.pdf
[2]. Acetylcysteine. MIMS Thailand [Internet]. [cited 14 November 2023]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/acetylcysteine?mtype=generic
[3]. Chalumeau M, Duijvestijn YC. Acetylcysteine and carbocysteine for acute upper and lower respiratory tract infections in paediatric patients without chronic broncho-pulmonary disease. Cochrane. Database. Syst. Rev. 2013;(5):CD003124.
[4]. Mallet P, Mourdi N, Dubus JC, Bavoux F, Boyer-Gervoise MJ, Jean-Pastor MJ, et al. Respiratory paradoxical adverse drug reactions associated with acetylcysteine and carbocysteine systemic use in paediatric patients: a national survey. PLoS. One. 2011;6(7):e22792.
[5]. American Academy of Allergy Asthma and Immunology. Cough in children [internet]. 2020 [cited 18 November 2023]. Available from: https://www.aaaai.org/tools-for-the-public/conditions-library/allergies/cough-in-children
[6]. Bromhexine. MIMS Thailand [Internet]. [cited 1 December 2023]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/bromhexine?mtype=generic
[7]. Ambroxol. MIMS Thailand [Internet]. [cited 1 December 2023]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/ambroxol?mtype=generic
[8]. Carbocysteine. MIMS Thailand [Internet]. [cited 1 December 2023]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/carbocisteine?mtype=generic
[9]. U.S. Food & Drug Administration. Use caution when giving cough and cold products to kids [Internet]. 2018 [cited 15 November 2023]. Available from: https://www.fda.gov/drugs/special-features/use-caution-when-giving-cough-and-cold-products-kids

วันที่ตอบ : 15 ธ.ค. 66 - 13:50:01




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110