ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
มีการจำหน่ายมะระแคปซูลซึ่งผลิตจากคลีนิคแพทย์แผนไทยของบางโรงพยาบาลขนาด 400 mg สรร

มีการจำหน่ายมะระแคปซูลซึ่งผลิตจากคลีนิคแพทย์แผนไทยของบางโรงพยาบาลขนาด 400 mg สรรพคุณแก้โรคเบาหวาน รับประทานครั้งละ 2-3 แคปซูล วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ถ้ารับประทานไปนานๆ จะมีอันตรายหรือไม่ อย่างไร และถ้าน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 mg จะรับประทานขนาดเท่าไร

[รหัสคำถาม : 53] วันที่รับคำถาม : 03 ก.พ. 63 - 16:09:10 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยามะระขี้นก เป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 มีในรูปแบบ ยาแคปซูล ยาชง ยาเม็ด ตัวยาสำคัญคือ ผงจากเนื้อผลแก่ที่ยังไม่สุกของมะระขี้นก (Momordica charantia L.) ข้อบ่งใช้คือ แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร ขนาดและวิธีใช้ยาชนิดแคปซูลและชนิดเม็ดคือ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ข้อห้ามใช้คือ ห้ามใช้ในเด็ก หรือหญิงให้นมบุตร เนื่องจากมีรายงานว่าทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมากจนเกิดอาการชักได้ ข้อควรระวังคือ หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานอื่น ๆ หรือร่วมกับการฉีดอินซูลิน เพราะอาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน จนเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ คลื่นไส้ วิงเวียน ชาปลายมือปลายเท้า โคม่าจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการชักในเด็ก[1]

จากการศึกษาในเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่า ยามะระขี้นก มีฤทธิ์ต้านเบาหวานที่ดี[2] แต่การศึกษาความพิษในสัตว์ทดลองพบว่า เกิดพิษต่อหัวใจและเกิดภาวะวิกลรูปในตัวอ่อนของสัตว์ทดลอง[3] การศึกษาในมนุษย์มีน้อยมาก จากการศึกษาเก็บข้อมูลจากการใช้ในผู้ป่วยพบว่า ยามะระขี้นกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน (Glibenclamide หรือ Metformin)[4] มีการศึกษาเชิงทดลองพบว่า สามารถลดน้ำหนัก, ดัชนีมวลกาย, ปริมาณไขมัน, เส้นรอบเอว, ระดับน้ำตาลในเลือด (โดยวัดค่า A1C, 2-h glucose in OGTT และ AUC of glucose) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเริ่มต้น แต่ไม่มีผลเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ใช้ยามะระขี้นกกับกลุ่มควบคุม (ที่ไม่ใช้ยามะระขี้นก) การศึกษาใช้จำนวนตัวอย่างน้อย (n = 24)[5] ดังนั้นข้อมูลในการสนับสนุนการใช้มะระขี้นกในผู้ป่วยเบาหวานยังไม่มีความชัดเจน

ยามะระขี้นกมีสรรพคุณตามยาแผนโบราณคือ แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร แม้ว่ายาสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด จากข้อมูลยังไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการใช้ยามะระขี้นกในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานทั้งชนิดรับประทานหรือยาฉีดอินซูลินอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยามะระขี้นก เพราะคาดการณ์ไม่ได้ว่าหากใช้ยามะระขี้นกจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงมากเพียงใด ซึ่งอาจจะมากจนเกิดโทษต่อผู้ป่วย ดังนั้นการจะนำยามะระขี้นกมาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานหรือใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นแนวทางในการใช้ยารักษาโรคดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง
1. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศ ณ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 95 ง วันที่ 17 เมษายน 2562
2. Jia S, Shen M, Zhang F, and Xie J. Recent Advances in Momordica Charantia: Functional Components and Biological Activities. International Journal of Molecular Sciences. 2017;18:1-25.
3. Khan MF, Abutaha N, Nasr FA, Alqahtani AS, Noman OM, and Wadaan MAM. Bitter Gourd (Momordica Charantia) Possess Developmental Toxicity as Revealed by Screening the Seeds and Fruit Extracts in Zebrafish Embryos. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2019;19:184
4. พึงใจ ภูนิคม, ศุภชัย ติยวรนันท์, สมชาย สุริยะไกร. ฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของผงแห้งจากผลมะระขี้นก (Momordica charantia L.) ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2559;14: 46-58.
5. Navarrete MC, Abundis EM, Rubio KGP, Ortiz MG, and Villar MM. Momordica charantia Administration Improves Insulin Secretion in Type 2 Diabetes Mellitus. JOURNAL OF MEDICINAL FOOD. 2018: 1–6.


วันที่ตอบ : 04 ก.พ. 63 - 16:09:59




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110