ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้องเสีย

ขออนุญาติสอบถามค่ะ พอดีกินยาคุมฉุกเฉินไปประมาณ4 ชม. จากนั้นมีอาการท้องเสียตลอดทั้งวัน สามารถทานยาแก้ท้องเสียได้ไหมคะ แล้วท้องเสียจะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินไหมคะ ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 530] วันที่รับคำถาม : 08 ส.ค. 66 - 23:11:30 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินมีตัวยาสำคัญ คือ levonorgestrel ซึ่งออกฤทธิ์โดยการยับยั้งหรือชะลอการตกไข่เนื่องจากไปยับยั้ง luteinizing hormone (LH) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงกลางรอบเดือน [1] ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันมี 2 ความแรง คือ 0.75 มก./เม็ด (บรรจุแผงละ 2 เม็ด) และ 1.5 มก./เม็ด (บรรจุแผงละ 1 เม็ด) โดยมีขนาดยาที่แนะนำคือ 1.5 มก. ครั้งเดียว หรือ 0.75 มก. 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง [1-2] ควรเริ่มยาโดยเร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงหากเริ่มใช้ยาล่าช้า ซึ่งโอกาสตั้งครรภ์จะเพิ่มจากร้อยละ 0.4 เมื่อเริ่มยาภายใน 24 ชั่วโมง ไปเป็นร้อยละ 2.7 เมื่อเริ่มยาในช่วง 48 – 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน [3]
...
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากการใช้ยา ได้แก่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาการเจ็บคัดเต้านม ปวดศีรษะ อาเจียน [1-2]
...
ยา levonorgestrel ถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วและเกือบสมบูรณ์ ระดับยาสูงสุดในเลือดเกิดภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังกินยา [1,2,4,7] โดยเมื่อกินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัมครั้งเดียว ระดับยาสูงสุดในเลือดอยู่ที่ 19.1 ng/mL (5.97 nmol/L) ที่เวลาเฉลี่ย 1.7 ชั่วโมง ยาสามารถจับกับโปรตีนได้สูงประมาณร้อยละ 97.5-99 โดยส่วนใหญ่จะจับกับ sex hormone binding globulin และมีค่าครึ่งชีวิตเฉลี่ย 27.5+/-5.6 ชั่วโมง [4] ระดับยาต่ำสุดที่ป้องกันการเกิดกระบวนการตกไข่คือ 0.48 nmol/L [5]
...
การศึกษาที่ประเมินเภสัชจลนศาสตร์ของยา levonorgestrel เมื่อให้ยาขนาด 0.75 มิลลิกรัมในหญิงสุขภาพดี โดยแบ่งกลุ่มให้กิน 1 เม็ดครั้งเดียว หรือ กินครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง และกิน 2 ครั้ง ห่างกัน 24 ชั่วโมง พบว่าระดับยาในเลือดอยู่ที่ 9.6+/-0.38 และ 6.2+/-0.53 nmol/L ที่เวลา 12 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับหลังจากกินยาเม็ดแรก โดยยังมีระดับยามากกว่า 0.48 nmol/L อยู่เป็นเวลา 48–60 ชั่วโมงหลังจากกินยาครั้งที่สองที่ 12 และ 24 ชั่วโมง [5]
...
จากการสืบค้นเพิ่มเติม ไม่พบอันตรกิริยาที่มีนัยสำคัญระหว่างยา levonorgestrel และยากลุ่มรักษาอาการท้องเสีย ได้แก่ loperamide, diphenoxylate, bismuth subsalicylate, activated charcoal, kaolin และ dioctahedral smectite [6]
...
กล่าวโดยสรุป ยา levonorgestrel ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็วและเกือบสมบูรณ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง หากอาการท้องเสียเกิดหลังจากกินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว 4 ชั่วโมง การกินยา levonorgestrel 1.5 มก. ครั้งเดียว หรือ 0.75 มก. ในครั้งแรก อาจไม่มีผลต่อระดับยาในเลือด และอาจพิจารณาใช้ยาแก้ท้องเสียได้เมื่อจำเป็น หากกินยาขนาด 0.75 มก. เม็ดแรกไปแล้วอาการท้องเสียดีขึ้น ควรรีบกินยาอีก 1 เม็ดที่เหลือโดยเร็วที่สุด แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมงหลังจากกินยาเม็ดแรกเพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงเพียงพอที่จะยับยั้งการตกไข่ แต่หากยังคงมีอาการท้องเสียต่อเนื่อง หรือท้องเสียภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากกินยาเม็ดที่ 2 อาจแนะนำให้กินยาขนาด 0.75 มก. ซ้ำอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากประจำเดือนคลาดเคลื่อนจากรอบเดือนปกติ ควรปรึกษาแพทย์ หรือตรวจสอบการตั้งครรภ์หลังจากพ้นรอบเดือนปกติไปแล้วประมาณ 1-3 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง
[1]. Levonorgestrel. In: ClinicalKey [database on the internet]. Elsevier B.V.: ClinicalKey Inc.: 2023 [updated 31 Oct. 2023; cite 12 Nov. 2023]. Available from: https://www.clinicalkey.com.
[2]. Levonorgestrel. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 14 Nov. 2023; cited 12 Nov. 2023]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. Lo SST. Current perspectives on emergency contraception. Hong Kong Med J; 2002;8:436.
[4]. Dzingirai B, Matyanga C. Clinical pharmacology of hormonal emergency contraceptive pills. Int J Reprod Med. 2018 Oct 4;2018:2785839. doi: 10.1155/2018/2785839.
[5]. Al-Amin MM, Rahman MM, Reza HM, Shohel M, Uddin MM, Zaman A. A systematic review of effectiveness and safety of different regimens of levonorgestrel oral tablets for emergency contraception. BMC Womens Health. 2014 Apr 4;14:54. doi: 10.1186/1472-6874-14-54.
[6]. Interactions. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 2023; cited 20 Nov. 2023]. Available from: http://online.lexi.com.
[7]. Alvarez F, Brache V, Cochon L, Faundes A, Johansson E, Ranta S, et al. Pharmacokinetic study of different dosing regimens of levonorgestrel for emergency contraception in healthy women. Hum Reprod. 2002 Jun;17(6):1472-6. doi: 10.1093/humrep/17.6.1472.

วันที่ตอบ : 12 ธ.ค. 66 - 10:08:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110