ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
CPRV, PVRV ใช้แทนกันได้หรือไม่

รพ.มียา Speeda ปกติจะนัดฉีดเป็น IM ถือบัตรนัดไป รพ.อื่น ตามสิทธิการรักษา แจ้งว่ามี PVRV จึงไม่ฉีดให้คนไข้ แล้วให้กลับมาฉีดที่เดิม อยากทราบว่า CPRV, PVRV ใช้แทนกันได้หรือไม่ ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 แบบ ผลิตโดยใช้ vero cell เหมือนกัน ต่างกันที่สายพันธุ์ กรณีที่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ แสดงว่าจะต้องฉีดยายี่ห้อเดิมเท่านั้นหรือไม่ เพราะต่างยี่ห้อก็ต่างสายพันธุ์กันทั้งหมด

[รหัสคำถาม : 532] วันที่รับคำถาม : 13 ส.ค. 66 - 09:38:32 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Speeda® เป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิด Chromatographically Purified Vero Cell Rabies Vaccine (CPRV) ที่ผลิตจากเชื้อ fixed rabies virus สายพันธุ์ L. Pasteur PV 2061 ส่วนวัคซีนชนิด Purified Vero Cell Rabies Vaccine (PVRV) ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มี 2 ชนิด ได้แก่ Abhayrab® และ Verorab® โดย Abhayrab® ผลิตจากเชื้อสายพันธุ์ L. Pasteur 2061 15 passages ส่วน Verorab® ผลิตจากสายพันธุ์ PMWI 138-1503-3M[1] วัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน คือ การนำ rabies virus มาเพาะเลี้ยงใน vero cell แต่แตกต่างกันในขั้นตอนการทำให้วัคซีนมีความบริสุทธิ์ คือ วัคซีนชนิด PVRV จะใช้วิธี zonal centrifugation ในขณะที่วัคซีนชนิด CPRV จะใช้วิธี chromatography[2,3]

Quiambao และคณะ[4] ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าหลังการสัมผัสและด้านความปลอดภัยของวัคซีนชนิด CPRV และ PVRV พบว่า วัคซีนทั้ง 2 กลุ่มมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ใกล้เคียงกัน โดยมีระดับ rabies antibody geometric mean titer (GMT) ในกลุ่มที่ได้รับ CPRV เท่ากับ 45.1 IU/ml [95% CI 40.8 – 49.8] ส่วนกลุ่มที่ได้รับ PVRV มี rabies antibody GMT เท่ากับ 44.7 IU/ml [95% CI 40.7 – 49.1] คิดเป็นสัดส่วน PVRV/CPRV GMT เท่ากับ 0.991 [95% CI 0.0991 - 1.109] โดยการศึกษานี้กำหนดค่า Non-inferior margin ของสัดส่วน PVRV/CPRV ไว้ที่ 1.5 จากค่า upper bound 95% CI จึงสรุปได้ว่า วัคซีนชนิด CPRV มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าไม่ด้อยกว่าวัคซีนชนิด PVRV ในด้านความปลอดภัย กลุ่มที่ได้รับวัคซีนชนิด CPVR เกิด local reaction ร้อยละ 9.6 ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนชนิด PVRV เกิด local reaction ร้อยละ 2.6

จากหลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน จึงสามารถใช้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดทดแทนกันได้ แต่จากแนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น หาวัคซีนชนิดที่ใช้อยู่เดิมไม่ได้ เป็นต้น และเมื่อเปลี่ยนชนิดของวัคซีนแล้วควรใช้วัคซีนชนิดที่เปลี่ยนไปตลอดจนครบตามแผนการรักษา[5,6]

เอกสารอ้างอิง
[1]. กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. 2559. แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบได้บ่อย. (1). โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
[2]. Plotkin SA, Koprowski H, Rupprecht CE. In: Nguyen T, et al, eds. Vaccines. 5th ed. Elsevier Inc; 2008: 695-696.
[3]. Lang J, Cetre JC, Picot N, Lanta M, Briantais P, Vital S, et al. Immunogenicity and safety in adults of a new chromatographically purified Vero-cell rabies vaccine (CPRV): a randomized, double-blind trial with purified Vero-cell rabies vaccine (PVRV). Biologicals : journal of the International Association of Biological Standardization.1998; 26(4), 299–308. Doi:10.1006/biol.1998.0156
[4]. Quiambao BP, Lang J, Vital S, Montalban CG, Le Mener V, Wood SC, et al. Immunogenicity and effectiveness of post-exposure rabies prophylaxis with a new chromatographically purified Vero-cell rabies vaccine (CPRV): a two-stage randomised clinical trial in the Philippines. Acta tropica. 2000; 75(1), 39–52. Doi: 10.1016/s0001-706x(99)00092-3
[5]. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. 2561. แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พ.ศ.2561 และคำถามที่พบบ่อย. (1). ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพนตากอน แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง
[6]. WHO Expert Consultation on Rabies [Internet]. WHO. 2018. [cited November 29, 2023] Available from: https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/272364/9789241210218-eng.pdf?isAllowed=y&sequence=1

วันที่ตอบ : 12 ม.ค. 67 - 14:55:10




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110