ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Omidenepag Isopropyl กับ latanoprost มีแตกต่างกันอย่างไร

Omidenepag Isopropyl กับ latanoprost มีแตกต่างกันอย่างไร

[รหัสคำถาม : 535] วันที่รับคำถาม : 27 ส.ค. 66 - 18:21:19 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผลิตภัณฑ์ยาหยอดตาสำหรับรักษาโรคต้อหินมีหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างทางด้านกลไกการออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยในการใช้งาน ได้แก่ยากลุ่ม prostaglandin analogs, beta-adrenergic receptor antagonists, adrenergic receptors agonists (sympathomimetics), carbonic anhydrase inhibitors และ direct acting cholinergic agonists เป็นต้น[1] ซึ่งยา omidenepag isopropyl เป็นยาในกลุ่ม non-prostaglandin selective EP2 receptor agonists ส่วนยา latanoprost เป็นยากลุ่มprostaglandin analogs

สำหรับความแตกต่างระหว่างยา omidenepag isopropyl และยา latanoprostสามารถจำแนก
เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. กลไกการออกฤทธิ์
ยา omidenepag isopropyl ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้น prostaglandin EP2 receptorอย่างจำเพาะทำให้ความดันในลูกตาลดลง[2] ส่วนยา latanoprost ออกฤทธิ์โดยเป็น prostaglandin F2-alpha analogs ลดแรงดันในลูกตาผ่านการเพิ่มการไหลเวียนออกของน้ำในลูกตา[3]
2. ข้อบ่งใช้
ยา omidenepag isopropyl และยา latanoprost มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะความดันในลูกตาสูงและโรคต้อหินมุมเปิด[2-4]
3. ผลข้างเคียงและข้อควรระวัง
ยา omidenepag isopropyl อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ตาเบลอ ปวดตา กลัวแสง และกระจกตาดำเป็นจุดแผล (punctate keratitis) และควรระวังการใช้ในผู้ที่ตามีการอักเสบ[2] ส่วนยา latanoprost อาจทำให้เกิดความรู้สึกผิดปกติที่ดวงตา ภาวะเลือดคั่งในเยื่อบุตา น้ำตาไหลมาก ระคายเคืองตา ปวดตา คันตา ขนตายาว แสบตา และควรระวังการใช้ในผู้ที่ตามีการอักเสบ ผู้ที่ใช้เลนส์ตาทดแทนเลนส์ธรรมชาติ (pseudophakia) ผู้ป่วยกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม (herpetic keratitis)[3]
4. ข้อห้ามใช้
ยา omidenepag isopropyl มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ [2] ส่วนยา latanoprost มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ latanoprost และ benzalkonium chloride[3]

สำหรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาเมื่อเปรียบเทียบระหว่างยาomidenepag isopropyl และยา latanoprost นั้น จากการศึกษาของ Aihara และคณะ (2020) ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา omidenepag isopropyl และยา latanoprost ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในลูกตาสูง/ ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมเปิด พบว่าการใช้ยา 0.002% omidenepag isopropyl มีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยา 0.005% latanoprost เมื่อบริหารยาโดยการหยอดตาทั้ง 2 ข้างวันละครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์แสดงเป็นค่า different in change in mean ± SE diurnal intraocular pressure ที่สัปดาห์ที่ 4 เปรียบเทียบกับค่า baseline เท่ากับ 0.63 ± 0.32 mmHg (95% CI: 0.01-1.26) ความแตกต่างของผลการรักษาของ 2 กลุ่มถือว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.048) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก สำหรับข้อมูลความปลอดภัยพบว่า ทั้งสองกลุ่มไม่มีรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาที่พบมากที่สุดคือ ภาวะเลือดคั่งในเยื่อบุตาระดับต่ำ (mild conjunctival hyperemia) กระจกตาหนาตัว และภาวะกลัวแสง[5] และยังมีการศึกษาของ Panarelli และคณะ (2023) ซึ่งศึกษาถึงประสิทธิภาพของยา 0.002% omidenepag isopropyl ในกลุ่มผู้ป่วยความดันในลูกตาสูง/ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมเปิดที่ไม่ตอบสนองหรือตอบสนองต่อยา latanoprost ต่ำ (หลังจากใช้ยา latanoprost 4 สัปดาห์) พบว่า การใช้ยา 0.002% omidenepag isopropyl สามารถลดแรงดันในลูกตาได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มศึกษา แสดงเป็นค่า mean (stand error) diurnal intra ocular pressure ที่เปลี่ยนแปลงจาก baseline (20.13 (3.83)mmHg) เท่ากับ -10.09% (1.51%) ในสัปดาห์ที่ 1 -12.91% (1.91%) ในสัปดาห์ที่ 2 -13.23% (1.79%) ในสัปดาห์ที่ 4 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกนัดติดตามผล (p<0.0001) สำหรับข้อมูลความปลอดภัยพบว่า การใช้ยา omidenepag isopropyl เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อาทิ ภาวะเลือดคั่งในเยื่อบุตา (conjunctival hyperemia) เปลือกตาบวม​ (erythema of eyelid) ได้ และไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง[6]

สรุปได้ว่ายา omidenepag isopropyl กับยา latanoprost มีความแตกต่างกันในประเด็นของกลุ่มยาโดยยา omidenepag isopropyl เป็นยากลุ่ม non-prostaglandin selective EP2 receptor agonists ส่วนยา latanoprost เป็นยากลุ่ม prostaglandin analogs มีกลไกการลดความดันในลูกตาต่างกัน มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการความดันในลูกตาสูงและโรคต้อหินมุมเปิด ผลข้างเคียงและข้อควรระวังคล้ายคลึงกันคือ ทำให้ปวดตา ควรระวังการใช้ในผู้ที่ตามีการอักเสบ

เอกสารอ้างอิง
[1]. Riordan-Eva P, Fraunfelder FW, McDaniel LM. Ophthalmic Therapeutics. In: Riordan-Eva P, Augsburger JJ. eds. Vaughan & Asbury's General Ophthalmology, 19 thed. McGraw Hill; 2017.
[2]. Omidenepag Isopropyl. In: Lexi-drugs online [Internet]. Hudson (OH): LexiComp; 2023 [cited 2023 Nov 11]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. Latanoprost. In: Lexi-drugs online [Internet]. Hudson (OH): LexiComp; 2023 [cited 2023 Nov 11]. Available from: http://online.lexi.com.
[4]. Latanoprost. In: Micromedex [Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2023 [cited 2023 Nov 27]. Available from: www.micromedexsolutions.com.
[5]. Aihara M, Lu F, Kawata H, Iwata A, Odani-Kawabata N,Shams K. Omidenepag isopropyl versus latanoprost in primary open-angle glaucoma and ocular hypertension: the phase 3 AYAME study. Am J Ophthalmol. 2020;220:53–63.
[6]. Panarelli JF, Bowden EC, Tepedino ME, Odani-Kawabata N, Pei Z, McLaurin EB, et al. Omidenepag isopropyl in latanoprost low/non-responders with primary open-angle glaucoma or ocular hypertension: A phase 3, non-randomized, two-phase, open-label study. J Glaucoma. 2023; 32: 999–1005.

วันที่ตอบ : 08 ธ.ค. 66 - 15:28:24




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110