ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาตัวไหนทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้บ้าง

ได้รับยา levodopa, trihexyphenidyl, domperidone, clonazepam สงสัยว่ายาตัวไหนมีความสัมพันธ์ทำให้เกิดตัวเหลืองได้บ้าง

[รหัสคำถาม : 536] วันที่รับคำถาม : 28 ส.ค. 66 - 15:05:48 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการตัวเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้จาก โรคดีซ่าน (Jaundice), Carotenoderma, การใช้ยาบางชนิด และการสัมผัสกับฟีนอลมากเกินไป สำหรับ Carotenoderma ซึ่งเป็นสีผิวที่มีสีเหลืองนั้น อาจจะสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และโรค Anorexia Nervosa แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่มากเกินไป เช่น แครอท ผักใบ ลูกพีช และ ส้มที่มีแคโรทีน ถ้าในโรคดีซ่าน สีเหลืองของผิวหนังจะกระจายสม่ำเสมอทั่วร่างกาย ในขณะที่ Carotenoderma เม็ดสีจะเข้มข้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าผาก และรอยพับของจมูก (Nasolabial folds) แต่จะไม่เกิดการสะสมเม็ดสีในบริเวณผิวหนังหรือเยื่อบุที่ไม่มีชั้น stratum corneum เช่น เยื่อบุตาขาว และเยื่อบุเมือก ซึ่งช่วยวินิจฉัยแยกภาวะ Carotenoderma ออกจากโรคดีซ่านได้

ดีซ่าน (Jaundice) คือการที่เนื้อเยื่อของร่างกายเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองซึ่งเกิดจากการสะสมของบิลิรูบิน การสะสมของเนื้อเยื่อของบิลิรูบินเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงและเป็นสัญญาณของโรคตับ หรือความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงแตก หรือความผิดปกติของการเผาผลาญบิลิรูบิน เมื่อระดับบิลิรูบินในซีรั่มสูงขึ้น ผิวหนังจะกลายเป็นสีเหลืองในที่สุด ในผู้ป่วยที่มีผิวสีแทนหรือผิวเข้มอาจสังเกตการเปลี่ยนแปลงสีผิวหนังได้ยากขึ้น และสีผิวหนังอาจเป็นสีเขียวหากกระบวนการนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน สีเขียวเกิดจากการออกซิเดชันของบิลิรูบินเป็นบิลิเวอร์ดิน[1]

จากการค้นคว้าข้อมูลจาก Lexicomp ของยา Levodopa, Trihexyphenidyl, Domperidone , Clonazepam ที่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับบิลิรูบิน พบว่ามีเพียง Levodopa เท่านั้น ซึ่งมีการเพิ่มระดับบิลิรูบิน โดยมีรายงานอุบัติการณ์ 2%[2]

จากการรวบรวมข้อมูลทางคลินิกพบว่า Levodopa มีปรากฏในรายงานผู้ป่วย (case report) จำนวนไม่มากที่มีอาการบาดเจ็บของตับเฉียบพลัน แต่ไม่ได้ระบุลักษณะอาการทางคลินิกและรูปแบบของการเพิ่มระดับเอนไซม์ ไม่มีรายงานกรณีการบาดเจ็บของตับที่ชัดเจนทางคลินิกที่สัมพันธ์กับการใช้ Levodopa ในโรคพาร์กินสันในระยะยาว อาการบาดเจ็บที่ตับจากโรคดีซ่าน (Jaundice) ที่ปรากฏทางคลินิกมีอุบัติการณ์น้อยมาก[3]

จากการค้นคว้า Case report ทางคลินิกของ Levodopa เกี่ยวกับ Hemolytic anemia หรือภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มีเพียง 2 รายงาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 1973 เป็นชายผิวขาววัย 76 ปี ภาวะโลหิตจางเริ่มแรกเกิดขึ้นหลังจากผ่านไป 11 เดือนซึ่งเขาได้รับยา Levodopa สะสม 660 กรัม จากการรักษาโรคพาร์กินสัน เมื่อหยุดยาแล้วผลตรวจเม็ดเลือดแดงไปในทางที่ดีขึ้น[4] เคสที่ 2 ในปีค.ศ. 1977 ชายผิวขาววัย 71 ปี หลังจากรักษาด้วยเลโวโดปาเป็นเวลา 16 เดือนสำหรับโรคพาร์กินสัน เมื่อการลดขนาดยาเลโวโดปาลงเหลือ 1 ใน 6 ผลตรวจเม็ดเลือดแดงไปในทางที่ดีขึ้น[5]

เอกสารอ้างอิง
[1]. John S, Pratt D.S. (2022). Jaundice. Loscalzo J, & Fauci A, & Kasper D, & Hauser S, & Longo D, & Jameson J(Eds.), Harrison's Principles of Internal Medicine, 21e. McGraw Hill. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3095§ionid=262790807
[2]. Levodopa . In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2016 [updated 15 sep 2023; cited 12 nov 2023]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. Bethesda. LiverTox: Clinical and Research Information on Drug-Induced Liver Injury [Internet]. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases; 2012-. Levodopa. [Updated 2021 Oct 25]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK548734/
[4]. Territo MC, Peters RW, Tanaka KR. Autoimmune Hemolytic Anemia Due to Levodopa Therapy. JAMA. 1973;226(11):1347–1348. doi:10.1001/jama.1973.03230110039008
[5]. Linström FD, Liedén G, Enström MS. Dose-related levodopa-induced haemolytic anaemia. Ann Intern Med. 1977 Mar;86(3):298-300. doi: 10.7326/0003-4819-86-3-298. PMID: 402877.

วันที่ตอบ : 02 ม.ค. 67 - 14:28:04




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110