ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การคำนวนยา Aminoglycosides ในผู้ป่วยที่เป็นนักเพาะกาย

จะคำนวณขนาดยา aminoglycoside ยังไงให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นนักเพาะกาย ที่มีแต่ lean body mass ร่างกายไม่ค่อยมีไขมันและเป็นผู้ที่น้ำหนักตัวมากด้วย

[รหัสคำถาม : 539] วันที่รับคำถาม : 03 ก.ย. 66 - 17:38:05 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา Aminoglycosides เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อกรัมลบที่หายใจโดยใช้ออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ และไม่ครอบคลุมเชื้อกรัมบวกและเชื้อที่หายใจโดยไม่ใช้ออกซิเจน ยกเว้น Staphylococci [1] โดยผ่านกระบวน ใช้ amino sugar ที่อยู่บริเวณ glycoside linkage เข้าไปจับกับ 30S ribosomal subunit ของแบคทีเรีย เพื่อรบกวนกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนภายในเซลล์แบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ [2] ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร การติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงบริเวณเยื่อหุ้มสมอง [1] [3]
Aminoglycosides เป็นยาที่มีคุณสมบัติทางเคมีกายภาพที่สามารถละลายในน้ำได้ดี (hydrophilic) เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะสามารถกระจายอยู่ในเลือด และของเหลวนอกเซลล์ (extracellular fluid) ของอวัยวะต่าง ๆ และถูกกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางไต ออกทางปัสสาวะเป็นหลัก [4] [5] ซึ่งโดยปกติ ร่างกายของคนทั่วไปจะมีอัตราส่วนไขมันที่น้อยกว่าในคนอ้วน แต่จะมีอัตราส่วนของน้ำที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของร่างกาย เนื่องจากคนอ้วนจะมีไขมันที่มาก [5] ดังนั้น การกำหนดขนาดยา aminoglycoside ในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน โดยจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักและการทำงานของไต โดยในผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จะแนะนำให้ใช้น้ำหนักจริง (total body weight; TBW) ในการคำนวณขนาดยา ในขณะที่ผู้ที่มีน้ำหนักจริงมากกว่าน้ำหนักในอุดมคติ (ideal body weight; IBW) แต่ไม่เกิน 1.25 เท่า ให้ใช้น้ำหนักในอุดมคติเพื่อคำนวณขนาดยา แต่หากน้ำหนักจริงเกินกว่า 1.25 เท่าของน้ำหนักในอุดมคติ ให้ใช้น้ำหนักที่ได้จากการปรับ (adjusted body weight; AdjBW) ในการคำนวณขนาดยา โดยที่ AdjBW = IBW + 0.4 x (TBW – IBW) [6]

สำหรับการประเมินการทำงานของไต ปัจจุบันมีหลายวิธีในทางปฏิบัติ วิธีที่นิยมใช้ คือ การวัดระดับ creatinine (Cr) และยูเรียไนโตรเจน (blood urea nitrogen; BUN) ในเลือด และประมาณค่าอัตราการกรองผ่านโกลเมอรูลัส (estimation of glomerular filtration rate; eGFR) โดยใช้สมการต่าง ๆ เช่น Cockroff-Gault formula, MDRD formula หรือ CKD-EPI formula เป็นต้น โดยใช้ค่า Cr เพศ อายุ หรือน้ำหนัก แล้วแต่สมการ โดยระดับของ Cr จะขึ้นอยู่กับมวลกล้ามเนื้อในร่างกายและภาวะโภชนาการ ในคนที่มีมวลกล้ามเนื้อสูงมาก ๆ กินโปรตีนสูงกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ หรือมีการสลายมวลกล้ามเนื้ออย่างมาก เช่น นักกล้าม นักกีฬา ผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิซึมสูง มักจะมีระดับ Cr สูงขึ้น ทำให้ประมาณค่า eGFR ได้น้อยกว่าความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ กินอาหารได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อเรื้อรัง ผู้ที่ถูกตัดแขน ขา หรือมีอัมพาตที่ขา อาจมีค่า Cr ที่ต่ำลง ทำให้ประมาณค่า eGFR ได้มากกว่าความเป็นจริง การประเมินการทำงานของไตในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรแปลผลด้วยความระมัดระวัง การใช้ยาในกลุ่ม aminoglycoside จึงควรมีการติดตามระดับยาในเลือดอย่างใกล้ชิด [7]

ดังนั้น ในกรณีของนักเพาะกาย ที่มีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าคนทั่วไป และบริภาคอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมถึงอัตราการสลายตัวของกล้ามเนื้อที่มากกว่าคนทั่วไป อาจส่งผลให้มีการทำงานของไตมากกว่าคนทั่วไปด้วยเช่นกัน
ในการกำหนดขนาดยา aminoglycoside ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจต้องใช้น้ำหนักจริง หรือน้ำหนักในอุดมคติ ตามความเหมาะสมของปริมาณน้ำ ไขมัน และกล้ามเนื้อของผู้ป่วยในขณะนั้นรายบุคคล ประเมินการทำงานของไต และควรติดตามระดับยาในเลือดอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

[1]. D. P. Kotler, E. M. Sordillo. Nutrition status and aminoglycosides dosing. page 249-250. [ cited 20 November 2023 ]. Available from; https://click.endnote.com/viewer?doi=10.1086%2F517047&token=WzQyMzg1MDYsIjEwLjEwODYvNTE3MDQ3Il0.FpsZLSzuzy2rzYbD4GbSOSMW0zo
[2]. Hermsen E. Iselin E. McMullen S. Pharmacokinetics training packet for pharmacists. [ cited 20 November 2023 ]. Available from https://www.unmc.edu/intmed/_documents/id/asp/pharm-pk_trainingpacket_2012.pdf
[3]. Aminoglycosides dosing in adults. Queensland Health [Internet]. [ cited 25 November 2023 ]. Available from https://www.health.qld.gov.au/__data/assets/pdf_file/0019/713323/aminoglycoside-guidelines.pdf
[4]. การปรับขนาดยาในผู้ป่วยอ้วนเกิน. [Internet ]. [ cited 25 November 2023 ]. Available from http://www.prachanath.su.ac.th/tbps/tbps2006_1/tbps2006_1_67-80.pdf
[5]. Almolaiki M. Medication Dosing and Body weight. [ cite 23 November 2023 ]. Available from https://researchopenworld.com/medication-dosing-and-body-weight/#:~:text=Patient%27s%20weight%20is%20a%20crucial,standard%20for%20certain%20medications%20dosing
[6]. Richard H, David C, Allyson B. Dosing and administration of parenteral aminoglycoside. [ cited 25 November 2023 ]. Available from https://www.uptodate.com/contents/dosing-and-administration-of-parenteral-aminoglycosides?search=aminoglycosides&source=search_result&selectedTitle=3~142&usage_type=default#H374424569
[7]. วรพงศ์ สันสะนะ,โชติรัตน์ นาครารักษ์. ระดับซิสเตตินซีและการประยุกต์ใช้ในการปรับขนาดยาต้านจุลชีพ 2023. [Interner]. [ cited 26 November 2023 ]. Available from https://www.ce.pharm.chula.ac.th/wp-content/uploads/2023/07/ บทความ cystatin-C-1.pdf

วันที่ตอบ : 12 ม.ค. 67 - 15:32:43




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110