ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยโรตไตระยะ 4 ค่า GFR ประมาณ 27-29 ทานยา isotretinoin เพื่อรักษาสิวได้ไหมคะ

ผู้ป่วยโรตไตระยะ 4 ค่า GFR ประมาณ 27-29 ทานยา isotretinoin เพื่อรักษาสิวได้ไหมคะ หากสามารถรับประมาณได้ควรทานกี่มิลลิกรัม และสามารถทานได้นานแค่ไหน ปรึกษาคุณหมอไตแล้ว คุณหมอให้ลองทานได้ค่ะ แต่อยากทราบรายละเอียดว่าควรทานที่กี่มิลลิกรัมดีค่ะ

[รหัสคำถาม : 540] วันที่รับคำถาม : 12 ก.ย. 66 - 16:34:01 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

isotretinoin เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอชนิด 13-cis-retinoic acid[1] ใช้เพื่อรักษาสิวที่มีความรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป หรือใช้ในผู้ที่รักษาสิวด้วยยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยขนาดยาที่แนะนำคือ 0.5 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นอาจเพิ่มขนาดยาเป็น 1 มก./กก./วัน โดยระยะเวลาการรับประทานยาคือ 15-20 สัปดาห์ และขนาดยาสะสมไม่ควรเกิน 120-150 มก./กก. หากสิวอักเสบลดลงอย่างน้อยร้อยละ 70 ก่อนครบกำหนดระยะเวลา อาจพิจารณาหยุดยาก่อนได้[2,3] ยานี้ไม่มีข้อห้ามใช้ และไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยโรคไตตามที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของประเทศแคนาดา ระบุข้อห้ามใช้เพิ่มเติมในผู้ที่มีภาวะวิตามินเอในเลือดสูง มีการทำงานของตับ หรือไตบกพร่อง[3] เนื่องจากเป็นผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะวิตามินเอในเลือดสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญ เช่น ผิวแห้ง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนล้า หงุดหงิด ผมร่วง ไขมันในเลือดสูง ภาวะตับโต เป็นต้น[4]

จากการศึกษาของ Parlak N และคณะ ถึงผลของการใช้ isotretinoin ต่อระดับยูเรียไนโตรเจน (blood urea nitrogen, BUN) ครีอะทินีนในเลือด (serum creatinine; SCr) รวมทั้งอัตราการกรองผ่านโกลเมอรูลัส (glomerular filtration rate; GFR) ก่อนและหลังใช้ยานาน 3 ถึง 6 เดือน พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับ SCr อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเดือนที่ 3 (p=0.041) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก และไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเดือนที่ 6 ส่วนระดับ BUN และ GFR พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทั้งเดือนที่ 3 และ 6 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มใช้ยา[1] อย่างไรก็ตาม มีรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วยจำนวน 5 คน โดย Forouzani-Haghighi B และคณะ พบว่า isotretinoin ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อไต ได้แก่ ไตอักเสบเฉียบพลัน โปรตีนรั่วในปัสสาวะ และปัสสาวะแสบขัดปนเลือด[5]

ดังนั้น การใช้ยา isotretinoin ในผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่องจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และตรวจติดตามผลลัพธ์การรักษาและผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควรพบแพทย์โรคผิวหนังเพื่อประเมินความรุนแรงของสิวและความจำเป็นของการใช้ยา isotretinoin ด้วย

เอกสารอ้างอิง
[1].Parlak N, Ünal E, Aksoy N. Isotretinoin is a Safety Therapy on Kidney. Turk J Dermatol. 2018;12:18-22.
[2].Medscape. Isotretinoin. Available at: https://reference.medscape.com/drug/absorica-ld-amnesteem-isotretinoin-343544. Accessed November 14, 2023.
[3].Lexi-Drugs Multinational/ISOtretinoin (Systemic). Lexicomp app. Uptodate Inc. Accessed November 14, 2023.
[4].Hammoud D, El Haddad B, Abdallah J. Hypercalcaemia secondary to hypervitaminosis a in a patient with chronic renal failure. West Indian Med J. 2014;63(1):105-108. doi:10.7727/wimj.2011.171
[5].Forouzani-Haghighi B, Karimzadeh I. Isotretinoin and the Kidney: Opportunities and Threats. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2020;13:485-494. Published 2020 Jul 28. doi:10.2147/CCID.S259048

วันที่ตอบ : 24 ธ.ค. 66 - 23:15:17




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110