ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ventolin และ berodual มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร

กรณีศึกษาผู้ป่วยเด็กอายุ 2 ปี น้ำหนัก 16 kg ได้รับ ventolin อย่างทราบว่าเหตุผลได้แพทย์จึงมักพิจารณาให้ ventolin มากกว่า berodual ในเด็ก และมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร ขบอคุณครับ

[รหัสคำถาม : 541] วันที่รับคำถาม : 17 ก.ย. 66 - 14:56:21 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาพ่นสูด Ventolin® ประกอบด้วย salbutamol เป็นยากระตุ้นตัวรับเบต้า-2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น (short-acting beta-2 agonist; SABA)[1] ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบบริเวณหลอดลม[2] ส่วนยาพ่นสูด Berodual® เป็นยาผสมระหว่างยา fenoterol ซึ่งออกฤทธิ์เช่นเดียวกับ salbutamol และยา ipratropium bromide ที่เป็นยากลุ่มต้านโคลิเนอร์จิกชนิดออกฤทธิ์สั้น (short-acting muscarinic antagonist; SAMA)[1] ออกฤทธิ์ขยายหลอดลมโดยยับยั้งการกระตุ้น cGMP (cyclic guanosine monophosphate) ด้วย acetylcholine[3]

จาก GINA guideline ปี 2023 และแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยเด็ก ปี 2021 มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีการกำเริบไม่บ่อยให้ใช้ยาพ่นสูดขยายหลอดลมกลุ่ม SABA เฉพาะเวลามีอาการหืดกำเริบ (as needed inhaled SABA)[4,5] เนื่องจาก SABA เป็นกลุ่มยาที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขยายหลอดลมในระหว่างที่มีอาการกำเริบและสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ทันที ในขณะที่ ipratropium bromide ซึ่งเป็นยากลุ่ม SAMA มีประสิทธิภาพในการบรรเทาและรักษาอาการหอบเหนื่อยเฉียบพลันได้น้อยกว่ายากลุ่ม SABA[3] การศึกษาโดย Petrie GR และคณะ ที่ศึกษาประสิทธิภาพของ salbutamol และ ipratropium bromide ในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังและโรคหืด พบว่า salbutamol มีประสิทธิภาพเหนือกว่า ipratropium bromide อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาตรอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 (Forced Expiratory Volume in one second; FEV1) ที่เพิ่มขึ้นจาก baseline เท่ากับ 560±160 ml และ 290±100 ml ในกลุ่มที่ได้รับ salbutamol และ ipratropium bromide ตามลำดับ[6] ดังนั้นการใช้ยาพ่นสูด Ventolin® (salbutamol) ซึ่งเป็นยากลุ่ม SABA จึงมีความเหมาะสมสำหรับการรักษาอาการหืดกำเริบในผู้ป่วยเด็กรายนี้ซึ่งมีอายุ 2 ปี เนื่องจากยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพที่สุดในการขยายหลอดลมในระหว่างที่มีอาการกำเริบ

เอกสารอ้างอิง
[1]. Abbas R, Ali M, Fitzpatrick ME, Rivera-Lebron B. Asthma. In: Papadakis MA, McPhee SJ, Rabow MW, McQuaid KR, Gandhi M, editors. 
Current medical diagnosis & treatment 2024[Internet]. McGraw Hill; 2023 [cited 2023 November 22]. 
Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3343§ionid=279902358.
[2]. Salbutamol. In: MIMS online [database on the internet]. MIMS Thailand; 2023. [cited 2023 November 11].
Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/salbutamol.
[3]. Ipratropium and fenoterol. In: MIMS online [database on the internet]. MIMS Thailand; 2023. [cited 2023 November 11].
Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/ipratropium%20+%20fenoterol.
[4]. Global initiative for asthma. Global strategy for asthma management and prevention[Internet]. 2023 [cited 2023 November 11].
Available from: https://ginasthma.org/wp-content/uploads/2023/07/GINA-2023-Full-report-23_07_06-WMS.pdf.
[5]. คณะกรรมการปรับปรุงแนวทางการรักษาและป้องกันโรคหืดในประเทศไทยสำหรับผู้ป่วยเด็ก. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทยสำหรับผู้ป่วยเด็ก (ฉบับสมบูรณ์) พ.ศ.2564 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://allergy.or.th/2016/pdf/2021/Final-Thai-Pediatric-Asthma-Guideline-2021_AAIAT-TPRC_Full_Version_24Jun2022.pdf.
[6]. Petrie GR, Palmer KN. Comparison of aerosol ipratropium bromide and salbutamol in chronic bronchitis and asthma. Br Med J 1975;1:430-2. doi:10.1136/bmj.1.5955.430.

วันที่ตอบ : 14 ม.ค. 67 - 21:57:58




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110