ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สามารถใช้ยา ciprofloxacin แทน norfloxacin ได้หรือไม่

กรณีไม่มียา norfloxacin สามารถใช้ ciprofloxacin สำหรับข้อบ่งใช้ lifelong secondary prophylaxis of spontaneous bacterial peritonitis ได้หรือไม่ ในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง Child-Pugh C และควรใช้ในขนาดยาเท่าไหร่

[รหัสคำถาม : 543] วันที่รับคำถาม : 22 ก.ย. 66 - 13:04:49 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Spontaneous bacterial peritonitis (SBP) คือ การติดเชื้อแบคทีเรียของสารน้ำในช่องท้อง พบได้ในผู้ป่วยตับแข็งที่มีภาวะท้องมาน (ascites) [1] โดยมีอุบัติการณ์เกิดประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต ดังนั้น American Association for the Study of Liver Diseases (AASLD) จึงแนะนำให้ใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค SBP โดยให้พิจารณายา norfloxacin 400 mg ต่อวัน เป็นทางเลือกแรก [2] และอาจให้ยา ciprofloxacin 750 mg สัปดาห์ละครั้งเป็นทางเลือกการรักษา
...
จากการศึกษาโดย Yim และคณะเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการป้องกันการเกิด SBP ของยา norfloxacin 400 mg วันละครั้งกับ ciprofloxacin 750 mg สัปดาห์ละครั้ง ในผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีประวัติเป็น SBP พบว่า ผู้ป่วยในการศึกษานี้มีความรุนแรงของโรคตับแข็งอยู่ในระดับ Child-Pugh B และ C อย่างละประมาณร้อยละ 50 ผู้ที่ได้รับยา norfloxacin มีอุบัติการณ์เกิด SBP และมีอัตราการรอดชีวิตในผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับในระยะเวลา 1 ปี ไม่แตกต่างจากยา ciprofloxacin (7.3% vs. 5.3%, P= 0.712 และ 72.7% vs. 73.7%, P= 0.970 ตามลำดับ) และเกิดผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน[3]
...
หากผู้ป่วยแพ้ยากลุ่ม fluoroquinolone อาจพิจารณายา trimethoprim–sulfamethoxazole 160/800 mg วันละครั้ง หรือ rifaximin 1,200 mg วันละครั้ง (ยานี้ไม่มีในประเทศไทย) เป็นยาทางเลือกในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของ SBP ในผู้ป่วยตับแข็งได้ ซึ่งจากงานวิจัยชนิด meta-analysis โดย Wang และคณะ ในปี 2019 และ Song และคณะ ในปี 2023 พบว่า norfloxacin, ciprofloxacin, trimethoprim–sulfamethoxazole และ rifaximin ประสิทธิภาพในการป้องกัน SBP ไม่ต่างกัน [4,5] แต่พบว่ายา trimethoprim–sulfamethoxazole มีอุบัติการณ์การเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่าเมื่อเทียบกับยา norfloxacin (21.54% vs 0%, p=0.006) ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องอืด โดยเป็นผลข้างเคียงระดับเล็กน้อย [5]
...
โดยสรุปสามารถใช้ยา ciprofloxacin 750 mg สัปดาห์ละครั้ง แทนการใช้ยา norfloxacin 400 mg วันละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิด SBP กลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยโรคตับแข็ง Child-Pugh C ได้ โดยมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. Cirrhosis and complications; 2564. [เข้าถึงเมื่อ 12 พ.ย. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://thasl.org/spontaneous-bacterial-peritonitis/.
[2]. Biggins SW, Angeli P, Garcia TG, Ginès P, Ling SC, Nadim MK, et al. Diagnosis, Evaluation, and Management of Ascites, Spontaneous Bacterial Peritonitis and Hepatorenal Syndrome. Practice Guidance by the American Association for the Study of Liver Diseases. 2021;74(2):1014-1048. Doi: 10.1002/hep.31884.
[3]. Yim HJ, Suh SJ, Jung YK, Yim SY, Seo YS, Lee YR, et al. Daily Norfloxacin vs. Weekly Ciprofloxacin to Prevent Spontaneous Bacterial Peritonitis: A Randomized Controlled Trial. American Journal of Gastroenterology 113(8):p 1167-1176, August 2018. Doi: 10.1038/s41395-018-0168-7.
[4]. Wang W, Yang J, Liu C, Song P, Wang W, Xu H, et al. Norfloxacin, ciprofloxacin, trimethoprim-sulfamethoxazole, and rifaximin for the prevention of spontaneous bacterial peritonitis: a network meta-analysis. Eur J Gastroenterol Hepatol. 2019; 31(8):905-910. Doi: 10.1097/MEG.0000000000001446.
[5]. Song S, Yang Y, Geng C, Tang Z, Wang C, Li X. Norfloxacin versus alternative antibiotics for prophylaxis of spontaneous bacteria peritonitis in cirrhosis: a systematic review and meta-analysis. BMC Infect Dis. 2023; 23(1):557. Doi: 10.1186/s12879-023-08557-6.

วันที่ตอบ : 15 ธ.ค. 66 - 15:15:19




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110