ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Dihydropyrildine CCB vs กรดไหลย้อน

สวัสดีครับ ผมมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม dihydropyridine CCB ในการคุมความดัน (ยากลุ่มอื่นใช้แล้วคุมได้ไม่ดี) แต่มีอาการของกรดไหลย้อนร่วมด้วย อยากสอบถามว่าควรใช้ CCB ตัวไหนในกลุ่มที่มีผลต่อกรดไหลย้อนน้อยที่สุดครับ

[รหัสคำถาม : 548] วันที่รับคำถาม : 10 ต.ค. 66 - 14:24:12 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม calcium channel blockers (CCBs) มีกลไกทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน คือ ยาจะไปลดความดันและทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว ทำให้เกิดการไหลย้อนของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหาร จึงเกิดอาการของกรดไหลย้อน[1] โดยพบว่าผู้ที่ใช้ยากลุ่ม CCBs ทำให้อาการกรดไหลย้อนรุนแรงขึ้น 45.4%[2] ในขณะที่ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม beta-blockers และangiotensin receptor blockers (ARBs) มีรายงานการเกิดอาการกรดไหลย้อนน้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้มีผลในการลดความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง[3] อย่างไรก็ตาม ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตในการควบคุมความดันโลหิตร่วมกับการใช้ยาเพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและอาจทำให้สามารถปรับลดขนาดยาลดความดันโลหิตลงได้ ทั้งนี้อาการของกรดไหลย้อนเป็นอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิต หากใช้ยาลดความดันโลหิตแล้วอาการกรดไหลย้อนรุนแรงขึ้น สามารถใช้ยารักษาร่วมกับการปรับพฤติกรรมในการควบคุมอาการกรดไหลย้อน ควบคู่ไปกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
...
สำหรับยากลุ่ม dihydropyridine CCBs ไม่พบการศึกษาที่น่าเชื่อถือในการยืนยันว่ายาตัวใดส่งผลต่ออาการกรดไหลย้อนน้อยที่สุด ดังนั้นการเลือกใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตเพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิตร่วมกับการรักษาด้วยยา โดยสามารถทำได้ดังนี้
1) ควบคุมให้มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 18.5 - 22.9 กก./ตร.ม. และมีเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 ซม.
2) รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ แนะนำให้ใช้สูตรเมนูอาหาร 2:1:1 (ผัก:แป้ง:โปรตีน)
3) จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร ไม่เกินวันละ 1.5 กรัม
4) เพิ่มกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
5) จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน (standard drink) ต่อวัน[4]
...
อย่างไรก็ตาม ควรมีการควบคุมอาการกรดไหลย้อนที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ การหยุดสูบบุหรี่, การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน, และการนอนยกหัวเตียงสูงหากมีอาการหลังนอนหลับไปแล้ว[5] หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการกรดไหลย้อนยังไม่ดีขึ้น อาจเริ่มใช้ยาเพื่อรักษาอาการกรดไหลย้อนร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยแบ่งการรักษาตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
1) อาการไม่รุนแรง, มีอาการน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่มีแผลบริเวณหลอดอาหาร ยาที่สามารถใช้บรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดกรด (antacids) ซึ่งมีส่วนผสมของ magnesium salt, aluminum hydroxide, หรือ calcium carbonate โดยอาจใช้ร่วมกับยา sucralfate หรือไม่ก็ได้ หรืออาจใช้ยากลุ่ม histamine 2 receptor antagonists (H2RAs) หากอาการยังไม่ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ ควรเปลี่ยนไปรักษาด้วยยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการเลือกใช้ยาและปรับขนาดยา
2) อาการรุนแรงรบกวนชีวิตประจำวัน หรือมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีแผลบริเวณหลอดอาหาร ยาที่สามารถใช้บรรเทาอาการ ได้แก่ ยากลุ่ม PPIs หากอาการยังไม่ดีขึ้นใน 8 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์[6]
...
ทั้งนี้ หากมีอาการเตือน (alarm features) ได้แก่ กลืนลำบาก, กลืนเจ็บ, เลือดออกทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำ, ซีด, น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ, และอาเจียนมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ควรไปพบแพทย์ เพื่อส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน[5]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Chan WW, Saltzman JR. Gastroesophageal Reflux Disease. In: Greenberger NJ, Blumberg RS, Burakoff R. eds. CURRENT Diagnosis & Treatment: Gastroenterology, Hepatology, & Endoscopy, 3e. McGraw Hill; 2016. Accessed November 15, 2023. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=1621§ionid=105182789.
[2]. Hughes, J., Lockhart, J., & Joyce, A. Do calcium antagonists contribute to gastro-oesophageal reflux disease and concomitant noncardiac chest pain?. British journal of clinical pharmacology. 2007;64(1):83–89. doi: 10.1111/j.1365-2125.2007.02851.x.
[3]. Yoshida, K., Furuta, K., Adachi, K., Ohara, S., Morita, T., Tanimura, T., Nakata, S., Miki, M., Koshino, K., & Kinoshita, Y. Effects of anti-hypertensive drugs on esophageal body contraction. World journal of gastroenterology, 2010;16(8): 987–991. doi: 10.3748/wjg.v16. i8.987.
[4]. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562. [สืบค้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihypertension.org/hypertensiondetail.php?n_id=442.
[5]. สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย). แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย พ.ศ. 2563. [สืบค้นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.gastrothai.net/th/guideline-detail.php?content_id=263.
[6]. Kahrilas P. Medical management of gastroesophageal reflux disease in adults. In: UpToDate, Post TW, ed. UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on November 26, 2023).

วันที่ตอบ : 24 ธ.ค. 66 - 20:13:19




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110