ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
คนไข้หญิง อายุประมาณ 69 ปี มีโรคประจำตัว คือ ไขมันในเลือดสูงและมีความดันโลหิตสูง

คนไข้หญิง อายุประมาณ 69 ปี มีโรคประจำตัว คือ ไขมันในเลือดสูงและมีความดันโลหิตสูงเล็กน้อย พบแพทย์ด้วยอาการมึนศีรษะและปวดศีรษะเวลาไอ แพทย์จ่ายยา Betahistine 6 mg 2 เม็ด เวลามีอาการ และ Amlodipine 5 mg 1 เม็ด ก่อนนอน วันแรกที่ได้รับยา คนไข้รับประทานยาทั้งสองตัวร่วมกัน ก่อนนอน จากนั้นมีอาการปวดบีบที่แขนค่อนข้างมาก ก่อนจะทุเลาลงและดีขึ้นในตอนเช้า อาการปวดศีรษะดีขึ้น คนไข้จึงรับประทาน Betahistine ลดลงเหลือ 1 เม็ดในช่วงเช้า หลังรับประทานยา ไม่มีอาการใดๆและรับประทานยา Amlodipine 1 เม็ด ก่อนนอน ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดอาการปวดที่บริเวณก้นกบ ก่อนจะร้าวลงไปที่ขา จนไม่สามารถนอนหลับได้ อยากทราบว่าเป็นผลที่เกิดจากอาการข้างเคียงของ Amlodipine หรือไม่คะ ขอบคุณมากค่ะ

รายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับยาลดไขมันในเส้นเลือด คือ Simvastatin 40 mg ขนาดครึ่งเม็ด ก่อนนอน ในวันแรกที่มีอาการปวด คนไข้รับประทานยาลดไขมันหลังอาหารเย็น ก่อนจะรับประทานยา Amlodipine และ Betahistine ก่อนนอน ส่วนเมื่อคืน คนไข้รับประทานยา Simvastatin ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนจะได้รับประทานยา Amlodipine ตามไป และมีอาการปวดกล้ามเนื้อตามที่แจ้งไว้



[รหัสคำถาม : 55] วันที่รับคำถาม : 04 ก.พ. 63 - 12:49:30 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

จากยาที่ถามมา 3 ชนิด คือ ยา Betahistine เป็นยาในกลุ่ม H1 Agonistและ H3 Antagonist ใช้สำหรับรักษาอาการเวียนศีรษะ ไม่พบรายงานผลข้างเคียงจากยาในด้านอาการปวดกล้ามเนื้อ Amlodipine เป็นยาในกลุ่ม Calcium Channel Blocker ใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง ผลข้างเคียงจากยามีรายงานการเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ (≤2%) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (≤2%) Simvastatin เป็นยาในกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitor ใช้สำหรับรักษาโรคไขมันในเลือดสูง รายงานผลข้างเคียงพบอาการปวดกล้ามเนื้อ (4%) [1] ซึ่งจากข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากยาพบว่าแนวโน้มอาการปวดกล้ามเนื้อในผู้ป่วยรายนี้อาจเกิดจาก Simvastatin ได้มากที่สุด

กลไกของยาในกลุ่ม Statins ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ (Statin-associated muscle symptoms; SAMS) ยังไม่เป็นที่แน่ชัด มีการศึกษาสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการดังกล่าว เช่น gene ที่มีบทบาทในการเกิด SAMS ผ่านกระบวนการ metabolism ซึ่งgeneจะมีผลต่อความแปรปรวนในการทำงานของใน cytochrome P450 gene ซึ่งประกอบด้วย CYP3A4, CYP3A5, CYP2D6 และ vitamin D receptor ความสัมพันธ์กับgenome ได้แก่ SLCO1B1 rs4149056 ซึ่งมีผลต่อการทำลายยา ทำให้ระดับยาในเลือดสูงกว่าปกติ [2] ช่วงเวลาของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากกล้ามเนื้อมักจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ถึงเดือน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในระหว่างการรักษา จากการการศึกษาของการเกิดความผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับยาในกลุ่ม Statins พบระยะเวลาเฉลี่ยของการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้นเป็น 6.3 เดือน (ช่วงเวลา 0.25-48.0 เดือน) ผู้ป่วยประมาณสองในสามมีอาการปวดกล้ามเนื้อภายในหกเดือนหลังเริ่มการรักษา การปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแอมักกลับมาหายดี และความเข้มข้นของระดับ creatine kinase ในเลือดกลับสู่ปกติ ในช่วงวันถึงสัปดาห์หลังจากหยุดยา

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับยากลุ่ม Statins ได้แก่ ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อมาก่อน มีภาวะHypothyroidism Hypovitaminosis D มีการออกกำลังกายอย่างหนัก คุณสมบัติของยา Statins บางตัว(พบว่ายาที่เมตาบอไลต์ผ่าน CYP3A4 เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา มักพบปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ Lovastatin, Simvastatin และ Atorvastatin) ลักษณะของผู้ป่วย(เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ป่วยสูงอายุ เพศหญิง มีโรคตับเฉียบพลันและโรคไตรุนแรง) การใช้ยาอื่นร่วมกันในการรักษา(พบว่าการรักษาพร้อมกับยาโดยเฉพาะยาที่เป็น CYP3A4 inhibitor เช่น Cyclosporine, Macrolide antibiotics, Systemic-azole antifungal และ HIV/ HCV protease inhibitors) อย่างไรก็ตามยา Amlodipine เป็นยาที่ไม่ยับยั้ง CYP3A4 แต่เป็น competitive CYP3A4 substrates อาจมีปฏิกิริยาของความผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อกับยากลุ่ม Statins [2]

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ของยา Amlodipine และยา Simvastatin มีกลไกในการเกิดไม่ชัดเจน [3] พบระดับความเข้มข้นของยา Simvastatin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ Amlodipine แต่ไม่เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ [3, 4, 5] ซึ่งควรติดตามอาการของผู้ป่วยเมื่อได้รับยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน หากมีความจำเป็นในการใช้ร่วมกันควรหลีกเลี่ยงการใช้ Simvastatin ในปริมาณที่มากกว่า 20 มิลลิกรัม/วัน[1, 2, 3, 6, 7, 8] ในผู้ป่วยรายนี้มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากลุ่ม Statins คือ เพศหญิง, ผู้ป่วยสูงอายุ[8] (ซึ่งจะมีระดับพลาสมาเฉลี่ยของ HMG-CoA reductase inhibitor เพิ่มขึ้นประมาณ 45%)[1] หากหยุดการใช้ยา 2 ชนิดร่วมกัน(เช่นหยุดใช้ยา Amlodipine)แล้วไม่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ อาจสันนิษฐานว่าเป็นจากปัญหาปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกันได้ หากเป็นเช่นนั้นแนะนำให้ผู้ป่วยพบแพทย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ยาลดไขมันในเลือดตัวอื่น เช่น Fluvastatin, Rosuvastatin, Pravastatinหรือ Pitavastatin แทนซึ่งจะมีปฏิกิริยากับยาอื่นน้อยกว่า [2, 7]


เอกสารอ้างอิง
1. Savarese DMF, Zand JM. Drug Information In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2020. Accessed on January 7, 2020.
2. Rosenso RS, Baker SK. Statin muscle-related adverse events. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. Accessed on January 7, 2020.
3. Tatro DS, Walker SE, Johnson PB, Dufner KS, Williams AL, Cohn CM, et al. Drug interaction Facts 2013. St. Loius: Wolters Kluwer Health; 2013: 1709.
4. Nishio S, Watanabe H, Kosuge K, Uchida S, Hayashi H, Ohashi K. Interaction between amlodipine and simvastatin in patients with hypercholesterolemia and hypertension. Hypertens Res. 2005 Mar;28(3):223-7.
5. Son H, Lee D, Lim LA, Jang SB, Roh H, Park K. Development of a pharmacokinetic interaction model for co-administration of simvastatin and amlodipine. Drug Metab Pharmacokinet. 2014;29(2):120-8.
6. สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติเพื่อป้องกันโรคหัวใจแลหลอดเลือด พ.ศ. 2559. พิมพ์ครั้งที่1. ปทุมธานี: เอ-พลัน พริ้น; 2560: 18.
7. Schröder J, Goltz L, Knoth H. [Medication management: Simvastatin and Amlodipin - a clinically relevant drug-interaction?]. Dtsch Med Wochenschr. 2016 Oct;141(21):1575-1577.
8. Food and Drug Administration. FDA Drug Safety Communication: New restrictions, contraindications, and dose limitations for Zocor (simvastatin) to reduce the risk of muscle injury. 2017;[1 screens]. Available at: https://www.fda.gov/drugs/drug-safety-and-availability/fda-drug-safety-communication-new-restrictions-contraindications-and-dose-limitations-zocor#Simvastatin_Dose_Limitations. Accessed on January 7, 2020.


วันที่ตอบ : 04 ก.พ. 63 - 12:54:23




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110