ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาถ่ายพยาธิ niclosamide กับยาระบาย

ยาถ่ายพยาธิniclosamide บางยี่ห้อผสมphenolphthalein เคลมว่าเป็นยาระบาย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระบายตาม อยากทราบevidenceส่วนนี้ว่าไม่ต้องใช้ยาระบายตามก็จะไม่มึโอกาสเกิดcysticercosisจริงหรือไม่ และควรใช้ยาระบายกลุ่มไหนมากกว่าหรือไม่เช่นosmotic laxatives ,stimulant laxatives เป็นต้น เพื่อป้องกันcysticercosis

[รหัสคำถาม : 551] วันที่รับคำถาม : 19 ต.ค. 66 - 16:48:00 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคที่เกิดจากเชื้อพยาธิตัวตืด (Taeniasis) เกิดได้จากพยาธิตัวตืดหลายชนิด ได้แก่ พยาธิตัวตืดวัว (Taenia saginata) พยาธิตัวตืดเอเชีย (Taenia asiatica) เป็นพยาธิตัวตืดของมนุษย์และหมู และ พยาธิตัวตืดหมู (Taenia solium) เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยมักพบเป็น 2 ชนิดหลัง[1] โดยยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิตัวตืดในปัจจุบัน[2],[3],[4],[5] ได้แก่
1. Praziquantel มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการเพิ่มความสามารถของ Ca2+ ในการเข้าเซลล์ของพยาธิ ทำให้ตัวพยาธิเกร็ง และ sucker ซึ่งเป็นส่วนที่พยาธิใช้ยึดผนังลำไส้หลุดออก ขนาดยาที่แนะนำคือ 10 mg/kg รับประทานครั้งเดียว
2. Albendazole มี active metabolite คือ albendazole sulfoxide ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดการสลายของ microtubule ในเซลล์ลำไส้ของพยาธิและตัวอ่อน (larvae) สลายไกลโคเจน ทำให้การดูดกลับกลูโคสและการหลั่ง cholinesterase เสียสภาพ รวมถึงลดการสร้างพลังงาน ATP ทำให้พยาธิไม่สามารถเคลื่อนที่ได้และตายในที่สุด ขนาดยาที่แนะนำคือ 400 mg รับประทานวันละครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
3. Niclosamide มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้ง oxidative phosphorylation ใน mitocondria ของพยาธิ ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์พลังงาน ATP ได้ ส่งผลให้พยาธิตัวตืดลดการสร้างพลังงานและเกิดการตายของเนื้อเยื่อของตัวพยาธิ ขนาดยาที่แนะนำคือ 2 g รับประทานครั้งเดียว
.
จากรายงานการศึกษาโดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ พบว่า ประสิทธิภาพในการใช้ยา praziquantel albendazole หรือ niclosamide มีอัตราการรักษาโรคพยาธิตืดหมู (T. solium) อยู่ที่ 99.5%, 96.4% และ 84.3% ตามลำดับ[6] อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในการใช้ยา praziquantel และ niclosamide คือ ยาไม่สามารถทำลายไข่พยาธิได้[3],[4] ดังนั้น หลังจากรับประทานยาไปแล้ว ควรรับประทานยาระบายตามเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่พยาธิโตหรือตัวพยาธิไชกลับเข้าลำไส้ แล้วไชแพร่ไปสู่ส่วนอื่นๆในร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตา และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคถุงพยาธิตัวตืด (cysticercosis) ในท้ายที่สุด[2] โดยในกรณีของยา niclosamide ควรรับประทานยาระบายหลังจากรับประทานยา niclosamide ไปแล้ว 2 ชั่วโมง[4]
.
ยาระบายที่นิยมแนะนำให้ใช้ คือ ยาระบายกลุ่ม stimulant laxatives ซึ่งออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก ยากลุ่มนี้ได้แก่ bisacodyl senna และ phenolphthalein
ยา phenolphthalein มีจำหน่ายในรูปตำรับยาผสมร่วมกับ niclosamide (ไม่พบตำรับยาที่เป็นส่วนผสมของ praziquantel กับ phenolphthalein) เนื่องจากการใช้ phenolphthalein ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดการติดยาถ่าย และก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาเจียน[7] นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อมูลทางวิชาการว่า ยา phenolphthalein ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองเมื่อได้รับขนาดสูงเป็นระยะเวลานาน แต่ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่ายานี้ทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ตำรับยาสูตรผสมมีขนาดยาของ niclosamide 500-2000 mg และขนาดยา phenolphthalein 15-270 mg/day และไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ส่วนเด็กอายุ 2-5 ปี แนะนำให้ใช้ในขนาด 15-30 mg/day และเด็กอายุ 6-11 ปี แนะนำให้ใช้ในขนาด 30-60 mg/day[8]
กรณีที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ phenolphthalein แนะนำให้ใช้ยาระบาย bisacodyl หรือ senna หรือใช้ยาถ่ายพยาธิ albendazole 400 mg รับประทานวันละครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
.
เอกสารอ้างอิง
[1]. CDC. Taeniasis [Internet]. 2020 [cited 2023 Nov 14]. Available from: https://www.cdc.gov/dpdx/taeniasis/index.html
[2]. WHO. Taeniasis/cysticercosis [Internet]. 2022 [cited 2023 Dec 7]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/taeniasis-cysticercosis
[3]. Lexicomp. Praziquantel [Database]. 2023 [cited 2023 Nov 14]. Available from: https://online.lexi.com/
[4]. Lexicomp. Niclosamide [Database]. 2023 [cited 2023 Nov 14]. Available from: https://online.lexi.com/
[5]. Lexicomp. Albendazole [Database]. 2023 [cited 2023 Dec 7]. Available from: https://online.lexi.com/
[6]. Haby MM, Leon LAS, Lucianez A, Nichollas RS, Reveiz L, Donadeu M. Systematic review of the effectiveness of selected drugs for preventive chemotherapy for Taenia solium taeniasis. PLoS Negl Trop Dis 2020;14: e0007873. https://doi.org/10.1371/journal.pntd.0007873
[7]. IARC. IARC monographs on the evaluation of carcinogenic risks to humans. 76. Lyon: IARC; 2000.
[8]. กระทรวงสาธารณสุข. คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 450/2557 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตำรับยาสูตรผสมนิโคลซาไมด์(Niclosamide) และฟีนอร์ฟธาลีน (Phenolphthalein) [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข; 2557 [เข้าถึงเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://drug.fda.moph.go.th/media.php?id=526634076069830656&name=35%20orderFDA450-2557.PDF

วันที่ตอบ : 02 ม.ค. 67 - 14:58:08




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110