ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
แพ้ Tramadol ปวดมาก สามารถใช้ยา opioids อะไรได้บ้าง

แพ้ Tramadol-อาการรุนแรงและคนไข้ ปวดมาก สามารถใช้ยา opioids อะไรได้บ้าง ใช้ Pethidine ได้หรือไม่
ขอความรู้การแพ้ยาข้ามของกลุ่ม opioids เช่น แพ้ morphine สามารถใช้อะไรแทนได้บ้างเป็นต้น

[รหัสคำถาม : 553] วันที่รับคำถาม : 24 ต.ค. 66 - 17:33:36 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาในกลุ่ม opioids สามารถแบ่งออกตามโครงสร้างได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้[1]
1) Phenanthrene ได้แก่ morphine codeine hydromorphone และ oxycodone
2) Benzomorphans ได้แก่ diphenoxylate loperamide และ pentazocine
3) Phenylpiperidine ได้แก่ fentanyl meperidine (pethidine) และ sufentanil
4) Diphenylheptane ได้แก่ methadone และ propoxyphene
5) Phenylpropylamines ได้แก่ tapentadol และ tramadol
...
ปฏิกิริยาการแพ้ยากลุ่มสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แพ้ยาจริง (true allergy) และ แพ้ยาเทียม (pseudoallergy)[2] โดยการแยกปฏิกิริยาการแพ้ยาทั้ง 2 ประเภทต้องอาศัยการเครื่องมือตรวจที่จำเพาะซึ่งยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย จึงต้องใช้เพียงการทบทวนประวัติทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการบริหารยาและอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น[1]
...
การเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบ true allergy ผู้ป่วยต้องเคยมีประวัติการได้รับยานั้นมาก่อน และอาการแพ้ที่เกิดขึ้นมักมีอาการรุนแรง เช่น หลอมลมหดเกร็งรุนแรง, อาการบวมบริเวณเยื่อบุตา และ/หรือ ริมฝีปาก ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น ส่วนปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบ pseudoallergy จะเกิดตั้งแต่การใช้ยาครั้งแรกและมักมีอาการไม่รุนแรง เช่น หน้าแดง คัน มีผื่นลมพิษ เป็นต้น[3]
...
การแพ้ยาในกลุ่ม opioids ส่วนใหญ่เป็นปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบ pseudoallergy ซึ่งเกิดจากกลไกที่ยาไปกระตุ้นให้เกิดการแตกตัวของแกรนูลที่อยู่ใน mast cell (mast cell degranulation) และมีการปล่อยสาร histamine ออกมา[4] ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคลึงกับการแพ้แบบ true allergy ยาในกลุ่ม opioids แต่ละตัวมีความสามารถในการกระตุ้นการปล่อยสาร histamine ได้ไม่เท่ากันโดยโดยยาในกลุ่ม phenanthrene ได้แก่ morphine และ codeine สามารถกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสาร histamine ได้มากกว่ายากลุ่มอื่น[3] ส่วนยาในกลุ่ม phenylpiperidine (เช่น fentanyl sufentanil meperidine เป็นต้น) หรือยาในกลุ่ม phenylpropylamines (เช่น tapentadol tramadol เป็นต้น) อาจกระตุ้นให้เกิดการปล่อย histamine ได้เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย[4] กลุ่มยาที่มีความเสี่ยงเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาข้าม (cross-reactivity) กันได้มากที่สุดคือยาในกลุ่ม phenanthrene (เช่น morphine codeine hydromorphone, oxycodone เป็นต้น) รองลงมาคือกลุ่ม benzomorphans (เช่น diphenoxylate loperamide เป็นต้น) และกลุ่มยาที่มีความเสี่ยงในการแพ้ยาข้ามต่ำได้แก่ยากลุ่ม phenylpipieridines (fentanyl) และกลุ่ม diphenylheptanes (เช่น methadone propoxyphene เป็นต้น) [5]
...
ปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบ true allergy เกิดจากกลไกที่ยาไปจับกับ IgE antibodies บน mast cell แล้วเกิดการกระตุ้นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันโดยเมื่อได้รับยาครั้งแรกร่างกายจะสร้าง Immunoglobulin E (IgE) ที่จำเพาะกับตัวยา หากร่างกายได้รับยาเดิมซ้ำหรือยาที่มีโครงสร้างเคมีที่คล้ายกัน ก็สามารถกระตุ้น IgE ให้เหนี่ยวนำการหลั่ง histamine[2] อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่ามีเพียง 15% ของปฏิกิริยาแพ้ยากลุ่ม opioids ที่ถูกวินิจฉัยว่าเกิด opioid allergy[6] และมีผู้ป่วยเพียง 1.6% ที่มีอาการแพ้ผ่านกลไก IgE-mediated reaction (IMRs) [1]
...
นอกจากเรื่องการแพ้ยาแล้ว แนวทางการเลือกยาที่ใช้ในการระงับปวดจะต้องเลือกชนิดของยาและการบริหารยาตามความรุนแรงของความปวด ดังนี้[7]
• ปวดน้อย (VAS 1-3): Paracetamol ± NSAIDs
• ปวดกลาง (VAS 4-6): Weak opioids (เช่น codeine, tramadol) ± Paracetamol ± NSAIDs
• ปวดมาก (VAS 7-10): Strong opioids (เช่น morphine, pethidine, fentanyl, methadone) ± Paracetamol ± NSAIDs
...
ในผู้ป่วยรายนี้ที่มีอาการปวดมากและมีประวัติการแพ้ยา tramadol รุนแรง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถสรุปได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยมีการแพ้แบบ true allergy หรือ pseudoallergy ดังนั้นยาที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุดต้องเป็นยาในกลุ่ม strong opioid ที่มีความสามารถในการปล่อยสาร histamine ได้น้อย มีความเสี่ยงในการแพ้ข้ามยาน้อย และมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างจากยา tramadol ได้แก่ fentanyl และ methadone ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา pethidine แทนแม้จะเป็นยากลุ่ม strong opioid ที่สามารถกระตุ้นการเกิด mast cell degranulation และปล่อยสาร histamine ได้น้อย มีความเสี่ยงในการแพ้ข้ามน้อย และมีโครงสร้างแตกต่างจาก tramadol แต่การใช้ยา pethidine ต้องระมัดระวังในเรื่องขนาดยาที่ให้ เนื่องจากการได้รับยาในขนาดสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการชักและกดการหายใจได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จึงมักใช้เฉพาะกรณบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน ไม่เป็นที่แนะนำในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง[3,6,7,8,9]
...
ส่วนในผู้ที่มีประวัติการแพ้ morphine ถ้ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถสรุปได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยมีการแพ้แบบใดก็ต้องเลือกยาในกลุ่ม strong opioid ตัวอื่นที่มีความสามารถในการปล่อยสาร histamine ได้น้อย, มีความเสี่ยงในการแพ้ข้ามน้อย และมีโครงสร้างจากแตกต่างจากยา morphine เช่น fentanyl methadone เป็นต้น [3,6,7,8,9]
...
เอกสารอ้างอิง
[1]. Powell MZ, Mueller SW, Reynolds PM. Assessment of Opioid Cross-reactivity and Provider Perceptions in Hospitalized Patients With Reported Opioid Allergies. Ann Pharmacother 2019;53(11):1117-1123. doi:10.1177/1060028019860521
[2]. The AAFA Medical Scientific Council (MSC). Drug Allergies [Internet]. 2015 [Cited 14 Nov 2023]. Available from: https://aafa.org/allergies/types-of-allergies/medicine-drug-allergy/
[3] Zhang B, Li Q, Shi C, Zhang X. Drug-Induced Pseudoallergy: A Review of the Causes and Mechanisms. Pharmacology 2017;101 (1-2):104–110
[4]. Baldo BA. Drug Allergy: Clinical Aspects, Diagnosis, Mechanisms, Structure-Activity Relationships. New York, NY: Springer; 2013 [Cited 14 Nov 2023]. Available from: https://rudiapt.files.wordpress.com/2017/11/drug-allergy-clinical-aspects-diagnosis-mechanisms-structure-activity-relationships.pdf
[5]. Fudin J, Passick S. Chronic Pain Management With Opioids in Patients With Past or Current Substance Abuse Problems. J Pharm Pract 2003;16(4):291–308. doi: 10.1177/0897190003258507
[6]. Li PH, Ue KL, Wagner A, Rutkowski R, Rutkowski K. Opioid Hypersensitivity: Predictors of Allergy and Role of Drug Provocation Testing. J Allergy Clin Immunol Pract 2017;5(6):1601-1606. doi:10.1016/j.jaip.2017.03.035
[7]. สมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย. แนวทางพัฒนาการระงับปวดเฉียบพลัน (Clinical Guidance for Acute Pain Management) [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://w1.med.cmu.ac.th/family/knowledge/for-doctor/guideline/3533
[8]. Meperidine. In Specific Lexicomp Online Database [database on internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [update 18 Nov 2023; cited 18 Nov 2023]. Available from: http://online.lexi.com. Kalangara J, Potru S, Kuruvilla M. Clinical Manifestations and Diagnostic Evaluation of Opioid Allergy Labels - A Review. J Pain Palliat Care Pharmacother 2019;33(3-4):131-140. doi:10.1080/15360288.2019.1666955

วันที่ตอบ : 03 ม.ค. 67 - 10:39:42




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110