ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Machanism of Action and Therapeutics use

อยากทราบกลไกการออกฤทธิ์และประสิทธิภาพของยา Proctase-P ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

[รหัสคำถาม : 558] วันที่รับคำถาม : 09 พ.ย. 66 - 17:11:19 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา Proctase-P เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท Meiji Seika Kaisha Ltd, Tokyo [1] ประกอบไปด้วย proteolytic enzymes คือ Proctase ซึ่งผลิตมาจากเชื้อรา Aspergilus nigra
10 mg และ pancreatin 50 mg [2] ข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า proteolytic enzymes มีศักยภาพในการเป็นสารต้านการอักเสบ (anti-inflammatory agent) [3] และจากข้อมูลการศึกษาในหนูทดลองพบว่า มีฤทธิ์ต้านการบวมอักเสบของหนูที่ถูกชักนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร carrageenan โดยกลไกยับยั้งการอักเสบเกิดจากผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสเตียรอยด์ glucocorticoids ซึ่งทำหน้าที่ลดการอักเสบของร่างกาย [4]

Pancreatin เป็นกลุ่มเอนไซม์ที่สกัดได้จากตับอ่อน ประกอบด้วยเอนไซม์ กลุ่ม lipases amylases และกลุ่ม proteases (เช่น trypsin chymotrypsin carboxypolypeptidase เป็นต้น) มีการศึกษาแบบไปข้างหน้า (prospective study) ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลัน มีการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับกระดูก หรือมีอาการปวดร้าวลงขา พบว่า เอนไซม์ trypsin และ chymotrypsin สามารถบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการบวม ลดการคั่งของเลือดและน้ำเหลือง ลดอาการปวดแผลหลังจากการผ่าตัด ลดโอกาสของการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด และช่วยให้อาการบาดเจ็บเฉียบพลันของเนื้อเยื่อฟื้นตัวได้รวดเร็ว [5,6] จากข้อมูลการศึกษาวิจัยของบริษัทยา [3] พบว่า การใช้สาร proctase และ pancreatin ร่วมกันสามารถลดอาการบวมในหนูที่ถูกชักนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร carrageenan dextran และ anti-sebum ได้ดีกว่าการใช้ proctase หรือ pancreatin แบบเดี่ยว โดยประสิทธิภาพในการยับยั้งการอักเสบขึ้นกับขนาดยาที่ให้ นอกจากนี้พบว่า มีคุณสมบัติเพิ่มความสามารถในการผ่านของ ยาเข้าสู่เนื้อเยื่อ (tissue penetration) ของยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ampicillin และ ribostamycin ในคน และยา erythromycin ในกระต่าย มีการศึกษาผลของ proteolytic enzymes กลุ่ม serratiopeptidase ต่อระดับความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะที่ให้ร่วมกัน พบว่าเอนไซม์ serratiopeptidase มีผลช่วยเพิ่มระดับความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะบริเวณที่ติดเชื้อ จากผลยับยั้งการสร้างสาร biofilm ของเชื้อแบคทีเรีย [7]
….
ดังนั้นจากคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาในการเสริมฤทธิ์ต้านอักเสบ กระตุ้นการหายของแผลอักเสบ และเสริมการทำงานของยาปฏิชีวนะของยา proctase-P ที่ได้จากการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองดังได้กล่าวไว้ข้างต้น และเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียมีความสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบของระบบต่างๆในร่างกาย รวมไปถึงในระบบทางเดินหายใจ จึงเป็นที่คาดหวังในประสิทธิภาพของยาต่อการรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีการอักเสบร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่สืบค้นได้จากฐานข้อมูลทางเภสัชสนเทศ ยังไม่พบข้อมูลประสิทธิภาพทางคลินิกในการนำมารักษาในผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

เอกสารอ้างอิง
[1]. Kenji T. (1995). Proteinase A from Aspergillus niger. Methods in Enzymology, 248, 146-155
[2]. Proctase-P®. In: MIMS Online [database on the Internet]. MIMS Thailand; 2023 [cited Nov 15, 2023]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/
info/proctase-p?type=full
[3]. Central Research Laboratories, Melji Seika Pharma Co. Ltd
[4]. Tasaka K, Meshi T, Akagi M, Kakimoto M, Saito R, Okada I, et al. (1980). Anti-inflammatory activity of a proteolytic enzyme, Prozime10. Pharmacology, 21(1), 43-52
[5]. Kondreddy S, Shirin P. (2018). Proteases and tissue repair: perioperative role of chymotrypsin: trypsin in surgical patients. International surgery Journal. 2018. 6(1), 283-286
[6]. Shah D, Mital K. (2018). The Role of Trypsin: Chymotrypsin in Tissue Repair. Advances in therapy, 35(1), 31–42
[7]. Payal R, Jagruti K, Abhijit T. (2022). Serratiopeptidase: The Healing Enzyme. International Journal of Advanced Research in Science, Communication and Technology, 2, 2581-2942

วันที่ตอบ : 02 ม.ค. 67 - 15:26:56




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110