ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผลการรักษาของการใช้ยา Finasteride ว่าเป็นการหยุดการหลุดร่วงของเส้นผมและเป็นการช่

ผลการรักษาของการใช้ยา Finasteride ว่าเป็นการหยุดการหลุดร่วงของเส้นผมและเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณของจำนวนเส้นผมด้วยหรือเปล่า

[รหัสคำถาม : 56] วันที่รับคำถาม : 04 ก.พ. 63 - 14:16:17 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia) เป็นสาเหตุหลักของการเกิดผมร่วงในผู้หญิงและผู้ชายมีอายุมากว่า 40 ปี ความรุนแรงและความถี่ของการเกิดผมร่วงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ[1] ซึ่งร้อยละ50 ของผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะนี้ เมื่ออายุ 50 ปี ส่วนร้อยละ40 ของผู้หญิงจะพบภาวะนี้ เมื่ออายุ 70 ปี แต่อย่างไรก็ตามสามารถพบภาวะนี้ได้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์[2] โดยในเพศชายมีสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับภาวะฮอร์โมนเพศชาย (androgen) ที่มากกว่าปกติ ในเพศหญิงสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด [3] ทั้งนี้การรักษาโรคผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia) ในเพศชาย มีการรักษาหลัก คือ ยา Finasteride ชนิดรับประทาน และ ยาทา Minoxidil


ยา Finasteride ชนิดรับประทาน ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งโดยปกติแล้วเอนไซม์5α-reductase นี้มีหน้าที่เปลี่ยน ฮอร์โมนเพศ testosterone ไปเป็นฮอร์โมนเพศ dihydrotestosterone (DHT) [1] การมีปริมาณฮอร์โมน DHT มากเกินไปจะไปมีผลต่อกระบวนการสร้างเส้นผม โดยลดระยะช่วง anagen (ระยะที่เส้นผมมีการเจริญเติบโต) และเพิ่มระยะช่วง telogen (ระยะพักของเส้นผม) [4] นำไปสู่การเกิดผมร่วงในที่สุด ฮอร์โมน DHT จับกับตัวรับฮอร์โมนเพศ(androgen receptor) เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อน(complex) ไปกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการตายของเซลล์(apoptosis) ที่บริเวณส่วนปลายของรากขน (dermal papilla) และลดขนาดของส่วนปลายของรากขน( dermal papilla) ดังนั้นเส้นผมที่ผลิตขึ้นจะมีลักษณะบางและสั้น(vellus hairs) จึงทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผม [5] ซึ่งยา Finasteride มีผลทำให้ระดับฮอร์โมน DHT ที่หนังศีรษะลดลง จึงลดการหลุดร่วงของเส้นผมและมีส่วนช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม การใช้ยารับประทาน finasteride มีผลช่วยเพิ่มปริมาณเส้นผม [6]


โดยขนาดยาที่แนะนำ คือ 1 mg วันละ 1 ครั้ง รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผลการรักษา อย่างไรก็ตามหากหยุดใช้ยานี้อาการผมร่วงจะเกิดขึ้นอีกภายใน 6-9 เดือน [7] ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(5-19%) และความต้องการทางเพศลดลง (2-10%) เป็นต้น ทั้งนี้ความผิดปกติทางเพศสามารถกลับเป็นปกติได้หลังจากหยุดยา


ยาทา minoxidil ความแรง 5% แม้ว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยาจะยังไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากตัวยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ทำให้เพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงบริเวณต่อมรากขน ช่วยให้บริเวณต่อมรากขนมีปริมาณเลือด oxygen และสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงได้อย่างเพียงพอ จึงช่วยเพิ่มระยะ anagen ได้ และลดระยะช่วง telogen [4] โดยแนะนำให้ใช้ยาปริมาตร 1 mL ทาวันละ 2 ครั้งบนหนังศีรษะที่แห้ง และใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 4-8 เดือนถึงจะเริ่มเห็นผลการรักษาและเห็นผลเต็มที่ใน 12 -18 เดือน อย่างไรก็ตามหากหยุดใช้ยานี้อาการผมร่วงจะเกิดขึ้นอีก ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ คัน (6%) และผื่นแดงเฉพาะที่ (6%) [7]


ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การรักษาโรคผมบางจากพันธุกรรมในเพศชายด้วยการใช้ยา Finasteride มีผลทั้งช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมและเพิ่มปริมาณของจำนวนเส้นผม


เอกสารอ้างอิง
1.Sewell MJ, Burkhart CN, Morrel DS. Dermatological pharmacology.In: Brunton LL, Dandan RH, Knollmann BC. Goodman&Gilman’s The Pharmacological basis of therapeutics. 13th ed. New York: McGraw-Hill. 2018:1289-90.

2 Qi J, Garza LA. An overview of alopecias. Cold Spring Harb Perspect Med. 2014 Mar 1;4(3).

3.Michael A.Female pattern hair loss (androgenetic alopecia in women): Pathogenesis, clinical features, and diagnosis. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. (Accessed on January 18, 2020.)

4.Dhariwala MY, Ravikumar P. An overview of herbal alternatives in androgenetic alopecia. J Cosmet Dermatol. 2019 Aug;18(4):966-975.

5.Donovan J, Goldstein BG, Goldstein AO. Androgenetic alopecia in men: Pathogenesis, clinical features, and diagnosis.In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. (Accessed on January 11, 2020.)

6.Mella JM, Perret MC, Manzotti M, Catalano HN, Guyatt G. Efficacy and safety of finasteride therapy for androgenetic alopecia: a systematic review. Arch Dermatol. 2010 Oct;146(10):1141-50.

7.Donovan J, Goldstein BG, Goldstein AO. Treatment of androgenetic alopecia in men.In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019.(Accessed on January 6, 2020.)

วันที่ตอบ : 04 ก.พ. 63 - 14:23:30




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110